Newsเก็บภาษีได้เกินเป้า 8.9% อาคมแจง ยอดเก็บภาษีช่วง 7 เดือนแรก ธนาคารโลกแนะขึ้น VAT/ขยายฐานภาษี

เก็บภาษีได้เกินเป้า 8.9% อาคมแจง ยอดเก็บภาษีช่วง 7 เดือนแรก ธนาคารโลกแนะขึ้น VAT/ขยายฐานภาษี

30 พ.ค. 66 ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) จัดงานเปิดตัวรายงานเรื่อง “การประเมินรายได้และรายจ่ายภาครัฐของประเทศไทย : การส่งเสริมอนาคตที่ทั่วถึงและยั่งยืน” โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลังเป็นผู้กล่าวปาฐกถาพิเศษว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ พบวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และข้อขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ 

 

ในภาวะที่ยากลำบาก รายได้ของภาครัฐก็ได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน มีผลสำคัญต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐบาลจำเป็นจะต้องมีมาตรการผ่อนปรนทางด้านภาษี เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 สำหรับรายบุคคลและภาคธุรกิจ ดังนั้นจึงเป็นปัญหากับรายได้ของรัฐบาลในช่วงปี 2563-2564

 

รัฐบาลมีความจำเป็นต้องรับมือกับการป้องกันโควิด-19 ด้วยการกระตุ้นให้ประชาชนฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาการบริโภคภายในประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจดำเนินต่อไป ในเวลานั้น ไม่มีใครทราบว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อไปจนถึงเมื่อไร การบริหารจัดการทั้งหมดจึงมีความยากลำบาก เพราะต้องรับมือกับทั้ง 2 ส่วน

 

อย่างไรก็ดี รัฐบาลประสบความสำเร็จในการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง และกระตุ้นในเศรษฐกิจได้มากขึ้น ด้วยการสนับสนุนให้เกิดการบริโภคภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ผ่านมาตรการต่าง ๆ อาทิ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และโครงการคนละครึ่ง รวมถึงมีการดึงเทคโนโลยีเข้ามาเสริมประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้

 

ผลลัพธ์ดังกล่าว ทำให้ภาคธุรกิจและรายได้ของรัฐบาลเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ การจัดเก็บรายได้มีการฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่ปี 2565 และคิดว่าในปีงบประมาณ 2566 ภาพรวมการจัดเก็บรายได้จะดีขึ้นแม้ว่าจะมีการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลก็ตาม โดยภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วง 7 เดือนของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.65-เม.ย. 66) สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.4% และสูงกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 8.9% ทำให้มั่นใจว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2566 จะทำได้ตามเป้าหมายอย่างแน่นอน

 

สิ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อส่งเสริมการเติบโตอย่างทั่วถึงในระยะถัดไป คือ การเพิ่มสวัสดิการให้กับประชากรกลุ่มเปราะบาง การส่งเสริมการลงทุนในอนาคต โดยกระทรวงการคลังจะต้องผลักดันนโยบายการคลังเชิงรุก ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องเดินหน้านโยบายการเงินที่รอบคอบต่อไป และบริการจัดการเศรษฐกิจมหภาคให้เข้มข้นมากขึ้น ประสานนโยบายให้ทั่วถึง

 

อย่างไรก็ตาม ราคาพลังงานที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ เป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องเร่งพิจารณา ที่ผ่านมารัฐบาลได้วางมาตรการช่วยเหลือที่ตรงเป้า ผ่านการอุดหนุนเงินในวงกว้าง ถึงจะใช้งบประมาณมาก แต่สามารถรักษาระดับราคาขายและรักษาอัตราเงินเฟ้อได้ ซึ่งคาดว่าในปี 2566 อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ต่ำกว่าระดับ 3% อย่างแน่นอน

 

ในอนาคตนโยบายการอุดหนุนต่าง ๆ จะต้องถอนตัวออกมา เพราะในระยะปานกลางรัฐบาลมุ่งหวังที่จะใช้นโยบายการคลังแบบรัดเข็มขัด โดยได้มีการกลับมาทบทวนและวางกรอบนโยบายการคลังระยะปานกลาง ปี 2567-2570 โดยในปี 2567 ตั้งเป้าขาดดุลงบประมาณ 3% และลดลงอย่างต่อเนื่อง 

 

ด้านสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ที่คาดว่าจะลดลงจาก 61.78% ในปี 2568 เป็น 61.25% ในปี 2570 และตามรายงานของธนาคารโลกที่นำเสนอเรื่องการปฏิรูปภาษีแบบก้าวหน้า เมื่อนำแต่ละวิธีมารวมกันจะสามารถช่วยเพิ่มรายได้ของรัฐให้ดีขึ้นราว 3.5%

 

สำหรับนายฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยสามารถปฏิรูปเศรษฐกิจให้มีความเท่าเทียมและยืดหยุ่นมากขึ้นได้ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐ การเพิ่มการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ และการใช้นโยบายช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง และนโยบายที่เกี่ยวกับการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งธนาคารโลกพร้อมให้การสนับสนุนการปฏิรูปทางการคลังของประเทศไทย

 

ในระยะยาว การรับมือกับภาระทางการคลังที่จะเกิดจากการใช้จ่ายที่จำเป็น พร้อมกับบริหารหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับที่มีความยั่งยืนนั้น จะต้องอาศัยการจัดเก็บรายได้ภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ผ่านการปฏิรูปภาษีแบบก้าวหน้า อาทิ การขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และยกเลิกการยกเว้นต่าง ๆ เพื่อการขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ลดเงื่อนไขการลดหย่อนภาษี และการหักค่าใช้จ่าย การขยายการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

 

การดำเนินการควรจะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียม และเพิ่มศักยภาพการจัดเก็บรายได้ภาครัฐเพื่อรองรับการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการปฎิรูปด้านภาษีมีผลต่อผู้มีรายได้น้อยและคนยากจน ให้สามารถรับการทดแทนโดยนโยบาย และมาตรการช่วยเหลือทางสังคมต่าง ๆ ซึ่งยังส่งผลให้สถานะทางการคลังของรัฐบาลดีขึ้นด้วย





เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า