Articlesเปิดปม “เหมืองทองอัครา” ไทยเสียค่าโง่จากการใช้ ม.44 ของพลเอกประยุทธ์จริงหรือ?

เปิดปม “เหมืองทองอัครา” ไทยเสียค่าโง่จากการใช้ ม.44 ของพลเอกประยุทธ์จริงหรือ?

เปิดข้อเท็จจริงเรื่องเหมืองทองอัครากับมาตรา 44 ที่ควรทราบก่อนจะวิจารณ์ 

 

ประเด็นเรื่องการสั่งให้ระงับการทำงานเหมืองทองของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กลับมาเป็นประเด็นที่ร้อนแรงอีกครั้งในสังคม หลังจากที่มีการกระพือข่าวอีกครั้งโดย น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติที่รัฐสภา และการจัดรายการของนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า รวมถึงช่องข่าวในเครือเดียวกัน

 

โดยมีการกล่าวหาว่า รัฐบาล คสช. โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. เป็นผู้ก่อความเสียหายต่อชาติจากการปิดเหมืองทองคำ มีการเอาทรัพย์สินของชาติไปแลกเปลี่ยนเป็นผลประโยชน์ แลกกับการไม่ต้องจ่ายค่าโง่จากความผิดพลาดที่ใช้ม.44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557  สั่งปิดเหมืองโดยมิชอบ และเลือกปฏิบัติผ่านคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 72/2559  ทำให้แพ้คดีในอนุญาโตตุลาการระหว่างบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท อัคราฯ และการเลื่อนตัดสินคดีที่ผ่านมา

 

รวมถึงล่าสุดเมื่อ 31 ม.ค. 2565 ที่รัฐบาลไทยแพ้คดี แต่ได้ยอมต่อรองผลประโยชน์กับคิงส์เกตเพื่อให้เลื่อนคำตัดสินออกไป โดยยอมให้บมจ.อัคราฯ ได้กลับมาดำเนินกิจการต่อพร้อมขยายประทานบัตรและอนุมัติออกอาชญาบัตรพิเศษให้แก่ บมจ.อัคราฯ จำนวน 44 แปลงในพื้นที่ อ.ชนแดน และ อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ ครอบคลุม เป็นระยะเวลา 5 ปี เริ่มต้น 26 ต.ค. 2563[1]    

 

โดยสรุปคือรัฐบาลถูกกล่าวหา 4 ประเด็น คือ 1.รัฐบาลคสช.และพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องรับผิดชอบปัญหาเหมืองทอง 2. การใช้มาตรา44 ไม่มีความชอบธรรม  3. ปัญหามาตรา44 กับอนุญาโตตุลาการ 4. การแลกเปลี่ยนทรัพย์สมบัติของชาติแลกกับไม่เสียค่าโง่

 

แต่ที่กล่าวหามาทั้งหมดนี้เป็นจริงหรือไม่? หรือจริงแค่ไหน? The Structure จะอธิบายผู้อ่านให้เข้าใจทีละประเด็น

 

  1. จุดเริ่มต้นของปัญหาเหมืองทองอัคราไม่ได้เกิดจากรัฐบาลคสช. แต่มาจากรัฐบาลก่อนหน้า

 

ปัญหาของเหมืองทองอัครารวมถึงเหมืองอื่นๆ เป็นปัญหาหมักหมมมาตั้งนานก่อนการเข้ามาของรัฐบาลคสช.แล้ว โดยข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า นับตั้งแต่ปี 2535-2537 ภายใต้รัฐบาลของนายชวน หลีกภัย บ.คิงส์เกต เริ่มลงทุนทำธุรกิจเหมืองแร่ทองคำในไทยผ่าน บ. อัครา ไมนิ่ง (ต่อมาเป็นบมจ. อัครา รีซอร์สเซส) โดยได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 283 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2535  จนเมื่อ มิถุนายน 2551 บ.อัคราฯ ก็ได้ประทานบัตรสำหรับโครงการชาตรีเหนือจำนวน 9 แปลง ถึงปี 2571 แม้ว่าจะมีการคัดค้านจากชาวบ้านก็ตาม

 

เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ เริ่มมีการต่อต้านจากปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จนเมื่อ มีนาคม 2554 กลุ่มผู้คัดค้านเหมืองแร่ในนาม “ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม” ออกมายื่นข้อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอการให้สัมปทานเหมืองรายใหม่และเร่งรัดการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แต่ปีต่อมาบ.อัคราฯ ก็ได้รับอนุมัติให้ขยายโรงงานประกอบโลหกรรม ในยุครัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อีก จะเห็นได้ว่าปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและชุมชนจากการทำเหมือง ที่นำไปสู่การใช้มาตรา44 นั้นเป็นปัญหาที่มาจากรัฐบาลก่อนทั้งสิ้นที่ไม่ยอมแก้ไขอะไรให้เรียบร้อย ไม่มีการพยายามปรับปรุงกฎหมายแร่เดิมให้ทันสมัยขึ้น การเริ่มตรวจสอบผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำนั้นเริ่มอย่างจริงจังก็เมื่อช่วงรัฐบาลคสช. 2557 จนนำไปสู่การพบการปนเปื้อนสารเคมีในชุมชน[2]

 

รัฐบาลคสช.จะทำเป็นรับเรื่องช่วยตรวจสอบ แล้วปล่อยผ่านเฉกเช่นรัฐบาลก่อนๆ ที่ผ่านมาก็ได้ แต่เมื่อคสช.ได้ขึ้นเป็นรัฐบาลของประเทศไทยแล้ว ย่อมมีหน้าที่ต้องปกป้องดูแลประชาชนชาวไทยให้อยู่รอดปลอดภัย จึงได้นำมาตรา44 มาปิดเหมืองเพื่อแก้ไขปัญหาที่รัฐบาลอื่นก่อทิ้งไว้ ดังนั้น ส.ส.เพื่อไทย ควรกลับไปถามว่าในยุคนายทักษิณ ชินวัตร ยุคนายสมัคร สุนทรเวชและยุครัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำไมถึงไม่มีการแก้ไขหรือดูแลอะไรเลย? ทั้งๆ ที่หากรวมเวลาแล้วได้เป็นรัฐบาลนานกว่ารัฐบาลอื่นๆ แต่กลับปล่อยทิ้งปัญหาให้หมักหมม[3]

 

  1. ประเด็นการใช้มาตรา44 ปิดเหมือง

 

หากฟังจากคำครหาแล้ว หลายท่านอาจเข้าใจผิดว่ารัฐบาลนั้นใช้ มาตรา44 ปิดเหมืองทันทีทันใดเลย แต่ความจริงคือเหมืองถูกปิดโดยกฎหมายอื่นไปก่อนแล้วชั่วคราว โดยเมื่อ 13 มกราคม 2558 เพื่อที่จะหาสาเหตุของปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่กระทบชาวบ้าน นายสุรพงษ์ เทียนทอง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด สั่งให้ บ. อัคราฯ หยุดประกอบกิจการโลหกรรมเป็นเวลา 30 วัน โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 125 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2530 ดังนั้นแล้วแต่แรกเริ่มเดิมทีการสั่งระงับกิจการเหมืองแร่นั้นเกิดจากอำนาจตามกฎหมายปกติ ไม่ใช่ มาตรา44 ที่ถูกนำมาใช้ทีหลังเท่านั้น

  

นอกจากนี้สิ่งหนึ่งที่หลายคนเข้าใจมาตลอด คือ รัฐบาลใช้มาตรา44 ปิดเหมืองและให้เลิกกิจการไปเลย แต่ความจริงแล้วที่ผ่านมาเป็นเพียงแค่การระงับกิจการชั่วคราวเท่านั้น และไม่ต่ออายุประทานบัตรให้สิ้นสุด ณ ปีนั้น ซึ่งที่ต้องทำเช่นนี้เพราะรัฐบาลกำลังออกกฎหมายแร่ฉบับใหม่ ซึ่งมีการกำหนดความรับผิดชอบของผู้ประกอบการและรักษาทรัพย์สมบัติชาติดีกว่าเดิม หากใช้กฎหมายเก่าผู้ประกอบการก็จะไม่แก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น โดยพ.ร.บ. เหมืองแร่ ปี 2560 ได้กำหนดเงื่อนไข 4 ข้อเพิ่มเติมจากกฎหมายเก่าที่บังคับให้ผู้ประกอบการต้องดำเนินการก่อนกลับมาเปิดกิจการคือ การขออนุญาตใช้พื้นที่ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านที่ดิน และด้านมวลชน ชุมชน ซึ่งหากมีการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้เรียบร้อยแล้ว เมื่อพ.ร.บ. เหมืองแร่ ปี 2560 บังคับใช้ก็สามารถขอดำเนินการต่อในพื้นที่เดิมได้

 

นอกจากนี้คสช. ไม่ได้ปิดเพียงแค่เหมืองแร่อัคราเพียงเหมืองเดียว แต่เหมืองแร่อื่นๆ ที่ส่งผลกระทบก็ถูกสั่งให้ระงับกิจการไปด้วยเช่นกัน การใช้มาตรา44 จึงไม่ได้เป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมเพียงแค่เหมืองแร่อัครา เพียงแต่มีแค่บมจ. อัคราเท่านั้นที่มาฟ้อง[4] ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด หลักฐาน คือในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 72/2559 ไม่ได้มีการใช้คำว่าเหมืองแร่อัคราเลย แต่คำสั่งเป็นการปิดเหมืองแร่ทั่วไปทั้งหมด

 

  1. ความเข้าใจผิดในเรื่องอนุญาโตตุลาการกับมาตรา44

 

หนึ่งในความเข้าใจผิดมากที่สุดของเรื่องเหมืองอัครา คือ การเข้าใจว่าสาเหตุที่ทำให้มีการฟ้องสู่อนุญาโตตุลาการนั้นก็คือ การใช้มาตรา44 สั่งปิดเหมืองซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักสากล และทำให้ศาลปกครองไม่รับคำฟ้องของบมจ.อัคราฯ ตรงจุดนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าการอนุญาโตตุลาการคืออะไร ทำไมถึงต้องใช้ และจุดประสงค์ของมันคืออะไร

 

รศ. พิชัยศักดิ์ หรยางกูร ได้อธิบายไว้ว่าอนุญาโตตุลาการ(Arbitration) คือ กระบวนการระงับข้อพิพาทที่คู่กรณีตกลงกันให้มีบุคคลหรือคณะบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ผู้พิพากษาในคดี มาทำหน้าที่ตัดสินข้อพิพาทนั้น ข้อดีของกลไกนี้ที่ต่างจากศาลคือ ทำให้คู่พิพาทยังเก็บความลับทางธุรกิจไว้ต่อได้ มีความยืดหยุ่นสูงเพราะไม่ใช้กฎหมายวิธีพิจารณาความ สามารถเลือกตัวอนุญาโตตุลาการที่มีความเชี่ยวชาญในประเด็นข้อพิพาทได้ และที่สำคัญคือคู่พิพาทสามารถตั้งตัวอนุญาโตตุลาการเองได้ ทำให้ผลการตัดสินเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายมากขึ้น โดยนิยมใช้ในสัญญาระหว่างประเทศมากเพราะ คู่สัญญาต่างประเทศไม่ต้องกลัวเสียเปรียบในชั้นศาลต่างประเทศและด้วยข้อดีตามที่อธิบายไป[5]       

 

ถึงอย่างไรก็ดี ใช่ว่าคู่สัญญาไหนอยากจะใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการเลยก็ใช้ได้ มันต้องมีบทบัญญัติว่าด้วยการระงับข้อพิพาทที่ยอมให้ใช้ได้เสียก่อน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ทางฝั่งบ.คิงส์เกตสามารถใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการนี้ได้ก็เพราะประเทศไทยนั้นได้ทำความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand – Australia Free Trade Agreement -TAFTA) เอาไว้  ซึ่งความตกลงเสรีดังกล่าวได้บังคับให้มีบทบัญญัติว่าด้วยการระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนและรัฐ หรือ Investor – state dispute settlement clause หรือ ISDS Clause ด้วย ซึ่งปกติแล้วก็จะมีเงื่อนไขอีกทีในการใช้เช่นกัน[6]

 

ในกรณีนี้ บทบัญญัติในTAFTA ที่ให้ใช้อนุญาโตตุลาการได้คือ มาตรา 917(2)(b)  ซึ่งระบุเรื่องการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐภาคีหนึ่งกับนักลงทุนของอีกรัฐภาคีหนึ่ง ในกรณีที่ไม่สามารถระงับได้โดยการปรึกษาหารือ (Consultation) หรือ การเจรจาต่อรอง (Negotiation) ได้ แล้วคู่พิพาทฝ่ายนักลงทุนสามารถเสนอเรื่องให้คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแบบเฉพาะกิจ (an international ad hoc arbitral tribunal) ภายใต้ข้อบังคับว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการของ UNCITRAL[7] ซึ่งข้อเท็จจริงก่อนที่บ.คิงส์เกต จะเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ คือเมื่อ 3 เมษายน 2560 บ.คิงส์เกตได้ส่งหนังสือแจ้งรัฐบาลไทยเรื่องปิดเหมืองแล้ว และมีการขอเจราจากับรัฐบาลไทย แต่เมื่อไม่สามารถหาข้อยุติได้ในเวลา 3 เดือนจึงใช้มาตรา 917 ของ TAFTA

 

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าสาเหตุที่บ.คิงส์เกตสามารถนำข้อพิพาทดังกล่าวมาสู่อนุญาโตตุลาการได้ ก็เพราะว่าเป็นข้อพิพาทที่ไม่สามารถหาข้อระงับได้ตามมาตรา 917 ของ TAFTA ไม่ใช่เพราะการใช้มาตรา44 สั่งปิดเหมือง การอ้างของบ.คิงส์เกตที่ว่ารัฐบาลใช้มาตรา44 ไม่ชอบธรรมนั้น ก็เพียงเพื่อที่จะได้ข้ออ้างในการนำเรื่องเข้าสู่อนุญาโตตุลาการเท่านั้นซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของฝ่ายโจทก์ที่อ้างกัน และไม่ว่ารัฐบาลในสมัยนั้นจะใช้วิธีอะไรปิดเหมืองก่อนครบประทานบัตรก็ตาม ย่อมเกิดข้อพิพาทและความเสียหายต่อบ.คิงส์เกต ให้อ้างได้ทั้งสิ้น เช่นในคดีบริษัท โฮปเวลล์  ที่มีการร้องต่ออนุญาโตตุลาการให้กระทรวงคมนาคมและ รฟท. รับผิดค่าเสียหายจากการยกเลิกสัญญา แม้จะเป็นการเลิกสัญญาเพราะรัฐบาลไทยเห็นว่าบริษัท โฮปเวลล์  ปฏิบัติตามสัญญาล่าช้าเองก็ตาม

 

ผลการเจรจาต่างหากที่เป็นสาเหตุ หากการเจรจาไม่สำเร็จ ทุกผลลัพธ์ย่อมมุ่งหน้าสู่อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตามTAFTA ซึ่งการปิดเหมืองครั้งนี้เป็นเพราะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพซึ่งต้องใช้เวลาตรวจสอบ เยียวยาและแก้ไขนานมากทั้งยังเป็นที่จับตาของสังคม เหมืองแร่อัคราจึงไม่น่าจะได้กลับมาเปิดได้ในเร็ววันตามที่ บ.คิงส์เกตต้องการแน่นอน การใช้มาตรา44 ปิดเหมืองเพื่อจะได้ปกป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนให้ได้เร็วที่สุดย่อมเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในขณะนั้น หาใช่การตัดสินที่ผิดพลาดไม่

 

  1. รัฐบาลไม่เคยแพ้คดีเหมืองทองอัคราและไม่เคยนำทรัพย์สินของชาติไปขายเพื่อให้ถอนฟ้อง

  

อย่างที่อธิบายไปในข้อสามว่าจุดประสงค์ของกระบวนการอนุญาโตตุลาการ คือการระงับข้อพิพาทให้กับคู่สัญญา มิใช่การพิพากษาคดีรักษาความยุติธรรมแบบศาลยุติธรรม ดังนั้นถึงแม้มีการเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการแล้วก็ตาม แต่ทั้งTAFTA และ UNCITRAL เอง ก็ไม่ได้ห้ามที่จะมีการเจรจาคู่ขนานระหว่างดำเนินกระบวนพิจารณาไปด้วยเพราะเป้าหมายที่แท้จริงคือการระงับข้อพิพาทเท่านั้น[8] ดังนั้นการที่รัฐบาลเจรจากับบ.คิงส์เกตที่ผ่านมาจึงเป็นเรื่องปกติในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ มิใช่ว่าเพราะรู้ว่ารัฐบาลจะแพ้คดีจึงพยายามเจรจาแลกผลประโยชน์เพื่อไม่ให้จ่ายค่าโง่ และที่สำคัญการเจรจาเกิดขึ้นตามคำแนะนำของอนุญาโตตุลาการ ไทยไม่ได้เป็นฝ่ายไปขอเจรจาก่อน[9] 

 

การเจรจาย่อมเป็นเรื่องที่ฉลาดกว่าอยู่แล้ว เพราะการขึ้นพิจารณาคดีอะไรก็ตาม บางครั้งแม้จะเป็นฝ่ายชนะ แต่ไม่ได้แปลว่าไม่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าชดเชยให้ฝ่ายตรงข้าม เช่น แม้จะชนะในคดีการเลิกสัญญาแต่ผู้ชนะยังมีหน้าที่ต้องมอบทรัพย์สินที่ได้มาจากสัญญาให้คู่กรณีเพื่อกลับคืนสู่ฐานะเดิม หากไม่มอบ ผู้แพ้คดีขอฟ้องและบังคับต่อให้มอบได้  ซึ่งคำตัดสินแบบนี้เกิดขึ้นได้เป็นเรื่องปกติในชั้นอนุญาโตตุลาการ

 

แต่หากรัฐไม่ยอมเจรจา รอจนตัดสินและมีการต้องจ่ายเงินบางส่วนจริง บ.คิงส์เกต สามารถนำคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไปบังคับใช้ในประเทศต่างๆ ผ่านบริษัทผู้พิทักษ์ทรัพย์ ตามอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ หรือ อนุสัญญานิวยอร์ก (New York Convention 1958) ได้ ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในคดีวอลเตอร์ บาว ซึ่งนำไปสู่การบังคับทรัพย์ที่ผิดพลาดไปอายัดเครื่องบินพระที่นั่งส่วนพระองค์[10] เข้า ซึ่งการบังคับคดีกับทรัพย์สินไทยในต่างประเทศนั้น รัฐไทยจะควบคุมอะไรไม่ได้เลยว่าจะไม่ให้ยึดอันไหน และทรัพย์เอกชนก็อาจโดนลูกหลงถูกอายัดได้เช่นกัน

 

ในส่วนข้อครหาเรื่องการขยายและมอบประทานบัตรเพิ่มให้แก่บมจ.อัคราฯ นั้น ต้องเข้าใจก่อนว่าการได้ประทานบัตรนั้นไม่ว่าบริษัทไหนก็ขอได้หากทำตามขั้นตอนครบถ้วน ไม่ใช่ว่าต้องมีสิทธิพิเศษแต่อย่างใด ขอให้มีคุณสมบัติและดำเนินการถูกต้องตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 และระเบียบกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับคำขอประทานบัตร การออกประทานบัตร  การต่ออายุประทานบัตร และการโอนประทานบัตร  พ.ศ. 2558 ก็พอ แม้ยังมีคดีความกับรัฐก็ยังขอและเข้าร่วมประมูลได้ไม่มีกฎหมายห้าม และที่ผ่านมาก็มีเอกชนหลายร้อยรายมาทั้งขอและขยายประทานบัตรกันเป็นปกติ

เมื่อเป็นเช่นนี้ข้อกล่าวหาที่ว่ารัฐเอาสมบัติชาติไปแลกก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเมื่อบมจ.อัคราฯ ได้ประทานบัตรจะใหม่หรือเก่าก็ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 เช่น การเตรียมการเรื่องสิ่งแวดล้อม ชุมชน รวมถึงการเสียเงินค่าตอบแทนตามกฎหมายแก่รัฐบาล  เช่น ค่าภาคหลวงแร่

 

นอกจากนี้ยังพบอีกว่าชาวบ้านในพื้นที่ถึง 89% เรียกร้องให้เหมืองทองอัครากลับมาเปิดใหม่อีกครั้ง เพราะหวังจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในชุมชน การเปิดใหม่ในครั้งนี้จึงเป็นความต้องการและผลประโยชน์ต่อชาวบ้านด้วยไม่ใช่มีแต่รัฐได้ประโยชน์[11] และชาวบ้านที่เคยคัดค้านเหมืองเมื่อก่อนนั้น บางคนไม่ได้เดือดร้อนจริงแต่ทำเพื่ออยากจะขายที่ดินให้ได้ราคาสูงๆ เท่านั้น [12]ผลกระทบจากการเปิดเหมืองใหม่ในรอบใหม่นี้จึงไม่ได้มีมากแบบที่เคยเป็นข่าว

 

สรุป จะเห็นได้ว่าคดีเรื่องเหมืองอัครานั้นเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้เมื่อมีการผิดสัญญา โดยไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา44 เลย และการใช้มาตรานี้ก็ไม่ได้ใช้อย่างไร้เหตุผล บ้าอำนาจ ตามที่น.ส.จิราพรและนายปิยบุตร รวมถึงสื่ออื่นๆ กล่าวหา การเข้าสู่กระบวนอนุญาโตตุลาการก็เป็นไปตาม TAFTA แม้ไม่ใช้มาตรา44 ก็ยังเป็นคดีได้อยู่ดี นอกจากนี้รัฐบาลก็ไม่ได้แพ้คดีทั้งสิ้น การเจรจาคู่ขนานกับอนุญาโตตุลาการเพื่อระงับข้อพิพาทเป็นเรื่องปกติที่ทำกัน ส่วนการออกและขยายประทานบัตรที่ผ่านมาก็เป็นไปตามกฎหมายไทยทั้งสิ้น

 

การแลกผลประโยชน์เพื่อไม่จ่ายค่าโง่อะไรนั้นไม่มีอยู่จริง  แต่คนโง่ที่วิจารณ์เรื่องนี้โดยไม่รู้ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้ลึก น่าจะมีอยู่จริง

อ้างอิง :

พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2530

พ.ร.บ. เหมืองแร่ ปี 2560

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 เรื่อง การทาสัญญาระหว่างรัฐกับ เอกชนสืบค้นจากhttps://eeas.europa.eu/headquarters/headquartershomepage/12522 /node/12522

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2552

 สุรพี โพธิสาราช การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับนักลงทุนต่างชาติ ในประเทศไทย 

 วารสารนิติ รัฐกิจและสังคมศาสตร์  หน้า 17-28

Update on legal proceedings re Chatree gold mine, Thailand

ใช้ ม.44 แค่ระงับเหมืองไม่ได้ปิด รายอื่นไม่ว่าอะไร มีแค่อัคราไปฟ้องเพราะอึดอัดมาหลายรัฐบาล

รศ. พิชัยศักดิ์ หรยางกูร, รวมข้อคิดเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทนทางการค้า, สำนักพิมพ์สามย่านวิทยพัฒนา 2540

ชาวบ้านรอบเหมืองทองอัครา 89% ต้องการให้เปิดเหมือง

อึ้ง! อดีตแกนนำต้านเหมืองทองอัคราโพล่งต่อหน้า กมธ.ป.ป.ช.เคยค้านเปิดขุมเหมืองหวังขายที่ดิน

เหมืองทองอัครา : อนุญาโตตุลาการเตรียมตัดสินข้อพิพาท ไทยต้องจ่าย 3 หมื่นล้านบาทให้คิงส์เกตหรือไม่

ใช้ ม.44 แค่ระงับเหมืองไม่ได้ปิด รายอื่นไม่ว่าอะไร มีแค่อัคราไปฟ้องเพราะอึดอัดมาหลายรัฐบาล

เกร็ดน่ารู้จาก “คดีเหมืองทองอัครา” ความเชื่อมโยงของคดี Kingsgate กับ ISDS

‘บิ๊กตู่’ เคลียร์ชัดปม ‘เหมืองทองอัครา’ ประจาน ส.ส.เพื่อไทย บิดเบือนกลางสภาฯ

พลิกแฟ้มคดีรัฐ VS เอกชน! ‘รบ.บิ๊กตู่’เตรียมสาง-ค่าโง่ 6.8 แสนล.ใครจ่าย?

 

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า