
มหาอุทกภัย 2554: ความสูญเสียครั้งร้ายแรงในประวัติศาสตร์ชาติไทย
นช่วงกลางปี พ.ศ.2554 ซึ่งเป็นช่วงฤดูมรสุมหรือฤดูฝน ประกอบกับวงจรธรรมชาติในช่วงเวลานั้นที่มักจะทำให้เกิดฝนตกชุกและพายุฝนได้ง่ายกว่าปกติ จึงมีพายุฝนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากและพัดเข้าสู่ประเทศไทยหลายลูกด้วยกัน
ไม่ว่าจะเป็น พายุโซนร้อน “ไหหม่า” ในเดือนมิถุนายน พายุโซนร้อน “นกเตน” และ “ไห่ถาง” ในเดือนกรกฎาคม พายุใต้ฝุ่น “เนสาด” ในเดือนกันยายน และพายุโซนร้อน “นาลแก” ในเดือนตุลาคม แม้ว่าพายุเหล่านี้จะอ่อนกำลังลงมากเมื่อเข้าสู่ประเทศไทย แต่ผลกระทบเรื่องภาวะฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุดังกล่าว ยังคงมีผลต่อพื้นที่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นส่วนใหญ่
อีกทั้งวงจรธรรมชาติ “ลานีญา” ยังทำให้เกิดพายุฝนได้มากกว่าปกติในพื้นที่ทางฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งรวมถึงประเทศไทย โดยจะแตกต่างจากวงจรธรรมชาติ “เอลนีโญ” ที่ทำให้พื้นที่ทางฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกมีความแห้งแล้งกว่าปกติ ปรากฏการณ์วงจรธรรมชาติทั้ง 2 ขั้วนี้ มักจะเกิดขึ้นเป็นปกติตามกลไกของระบบธรรมชาติที่นาน ๆ ครั้งจะเกิดขึ้น แต่มีแนวโน้มที่จะมีความแปรปรวนมากขึ้น เนื่องจากสภาวะอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงภาวะน้ำทะเลหนุนสูงแถบทะเลอ่าวไทยในช่วงตุลาคมและพฤศจิกายน ที่ทำให้ระบายน้ำลงสู่อ่าวไทยได้ช้าลงไปอีกจากมวลน้ำมหาศาลที่ไหลมาจากภาคเหนือ ลงมาสู่ภาคกลางและทะเลอ่าวไทย ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ปัจจัยทางธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกที่เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความสูญเสียจากภัยธรรมชาติในครั้งนั้น
ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านภูมิประเทศที่ภาคเหนือเป็นต้นน้ำของแม่น้ำสายต่าง ๆ ที่ไหลลงสู่ภาคกลางซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม จากนั้นจึงไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทย ดังนั้นเมื่อภาคเหนือเกิดภาวะน้ำท่วมรุนแรงจึงกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้ภาคกลางมีโอกาสเกิดน้ำท่วมสูงขึ้นไปด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น พื้นที่ในภาคกลางถือได้ว่าเป็นหัวใจทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางตอนล่างซึ่งเป็นที่ตั้งของเขตเมืองสำคัญและเขตอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ดังนั้นหากเกิดน้ำท่วมรุนแรงในพื้นที่เหล่านี้ จะเกิดความเสียหายร้ายแรงมหาศาลต่อภาคเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ภาคกลาง มิหนำซ้ำพื้นที่อื่น ๆ ก็จะได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนสินค้าพื้นฐานไปด้วย เนื่องจากแหล่งการผลิตสินค้าพื้นฐานส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคกลางตอนล่างแทบทั้งสิ้น
ด้วยเหตุนี้ การบริหารจัดการสถานการณ์ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์น้ำท่วม ตลอดจนปัจจัยอื่น ๆ ที่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก หัวใจสำคัญของการบริหารจัดการสถานการณ์ คือ ต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ จึงจะสามารถประคับประคองสถานการณ์ให้ทุเลาลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดสถานการณ์น้ำท่วมที่รุนแรงกว่าปกติ
แต่ในเหตุการณ์มหาอุทกภัย 2554 กลับเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสูญเสียอย่างมหาศาล ปัจจัยต่าง ๆ ส่งผลให้สถานการณ์เลวร้ายลงถึงขีดสุด หลาย ๆ คนที่ทันเหตุการณ์ครั้งนั้นรวมถึงคนที่ได้เผชิญเหตุการณ์ด้วยตนเอง คงเข้าใจดีว่า เหตุการณ์นั้นได้ทำลายมิตรภาพ ทำลายความความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ และได้สร้างความแตกแยกในสังคมได้อย่างไร
ตัวอย่างของความแตกแยกร้าวฉานในพื้นที่ที่เด่นชัด คือ การทำลายคันกั้นน้ำระหว่างบริเวณพื้นที่น้ำท่วมและพื้นที่ปกติ เพื่อต้องการให้น้ำท่วมด้วยกันทั้งหมด จนนำไปสู่วาทกรรมว่า การไม่ยอมให้พื้นที่ของตนเองถูกน้ำท่วมเหมือนพื้นที่อื่นๆ คือความเห็นแก่ตัว หรือแม้แต่ความรู้สึกอคติที่มีต่อการจัดการสถานการณ์น้ำท่วมที่ปกป้องเขตเมืองใหญ่ แล้วปล่อยให้ชนบทถูกน้ำท่วม แทนที่จะถูกท่วมไปด้วยกัน ความรู้สึกอคตินี้ได้ครอบงำจิตใจของผู้คนจำนวนมากในเหตุการณ์ครั้งนั้น
ทั้งที่ในความเป็นจริง ต่อให้ทุกเขตในพื้นที่ภาคกลางถูกน้ำท่วมด้วยกันทั้งหมด ก็แทบจะไม่ได้ช่วยให้น้ำระบายเร็วขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากภาวะน้ำทะเลหนุนสูงมีผลทำให้การระบายน้ำลงสู่อ่าวไทยมีความล่าช้าลงไปอีก
ร้ายไปกว่านั้น การขาดแคลนสินค้าพื้นฐานทั้งในบริเวณน้ำท่วมและบริเวณปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “น้ำดื่ม” ที่ขณะนั้นกลายเป็นสิ่งที่มีค่ามาก กลายเป็นปัญหาสำคัญ เพราะโรงงานผลิตน้ำดื่มส่วนใหญ่ถูกน้ำท่วมจนไม่สามารถใช้การได้ อีกทั้งระบบประปาในพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคกลางก็ไม่สามารถใช้งานได้เช่นกัน ทำให้น้ำดื่มที่สั่งมาจากต่างประเทศมีราคาสูงมาก จนมีการเปรียบเปรยราคาน้ำดื่มในเวลานั้นว่า “แพงยิ่งกว่าราคาน้ำมันที่ว่าแพงเสียอีก”
หลังจากเหตุการณ์มหาอุทกภัย 2554 ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างต้องเผชิญกับความยากลำบากทุกข์เข็ญ เพราะทรัพย์สินต่าง ๆ เสียหายเป็นอันมาก และต้องมีการฟื้นฟูซ่อมแซมให้กลับสู่สภาวะปกติ ธนาคารโลกประเมินว่า “ประเทศไทยเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท จากอุทกภัยครั้งนั้น” และส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลกอยู่พอสมควร ส่วนเด็ก ๆ นอกจากจะได้เรียนล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็นแล้ว หลายโรงเรียนได้ปรับให้มีการเรียนการสอนในวันเสาร์ และยังจัดตารางเรียนให้แน่นกว่าปกติ เพื่อชดเชยช่วงเวลาเรียนที่หายจากอุทกภัยครั้งนั้นด้วย
เหตุการณ์มหาอุทกภัย 2554 ได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล และยังสร้างความแตกแยกในสังคมไทยแบบร้าวลึก จนกลายเป็นบทเรียนราคาแพงที่สังคมไทยต้องรับรู้และร่วมกันหาหนทางในการป้องกัน ตลอดจนจัดการภัยธรรมชาติที่ร้ายแรง ไม่ให้สร้างความเสียหายอย่างที่เคยเกิดขึ้น เพราะมูลค่า 1.44 ล้านล้านบาท ที่ธนาคารโลกเคยประเมินไว้ก่อนหน้านั้น
“ก็คือ จำนวนราว ๆ เกือบครึ่งหนึ่งของงบประมาณแผ่นดินของไทย ดี ๆ นี้เอง”
โดย ชย
#TheStructureColumnist
#มหาอุทกภัย2554 #ประเทศไทย
อ้างอิง:
[1] ย้อนเหตุ “มหาอุทกภัยปี 54” ทำจมบาดาล 65 จังหวัด ศก. เสียหาย ถึง 1.44 ล้านล้านบาท
https://www.pptvhd36.com/news/สังคม/157458
[2] น้ำท่วม 2554 บทเรียน วิกฤต และทางออก
https://ngthai.com/environment/38193/2011flood/
[3] อย่าเพิ่งลืมเรื่องน้ำ: แม้ไม่วิกฤติก็ต้องบริหารจัดการรับภัยท่วม-แล้งรุนแรงกว่าอดีต
https://tdri.or.th/2015/09/flood-and-drought-management/
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม