Articlesสังคมสูงสัยยุคใหม่ มีความสามารถและแกร่งพอ จนแทบไม่ต้องพึ่ง ‘ความกตัญญู’

สังคมสูงสัยยุคใหม่ มีความสามารถและแกร่งพอ จนแทบไม่ต้องพึ่ง ‘ความกตัญญู’

กลายเป็นประเด็นดราม่าหลังวันแม่ จากการที่หลายคนในโลกโซเชียลพากันแชร์ภาพปกบทความของสื่อมวลชนออนไลน์รายหนึ่ง ซึ่งมีพาดหัวว่า 

 

“ไม่ใช่ไม่รักพ่อแม่ แต่สภาพสังคมและเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ 

กำลังทำให้คนรุ่นใหม่ แบกรับความกตัญญูไม่ไหว”


ซึ่งความจริงแล้ว บทความนี้ถูกเผยแพร่มาตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมานี้เอง

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าองค์รวมของเนื้อหานั้น จะสะท้อนมาจากภาพความเป็นจริงของสังคมไทย ที่กำลังเข้าสู่ความเป็น “สังคมผู้สูงวัยระดับสมบูรณ์”  จากโครงสร้างของประชากรไทย ที่มีผู้สูงวัยอายุมากกว่า 60 ปีมากกว่า 20% และ ผู้มีอายุ65 ปีขึ้นไปมากกว่า 14%

 

โดยอ้างอิงข้อมูลจากบทความ “อนาคตความสุขของผู้สูงวัย สังคมไทยพร้อมหรือยัง?” ซึ่งเขียนโดยรองศาสตราจารย์ ดร.นพพล วิทย์วรพงศ์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเผยแพร่ใน เว็บไซต์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา

 

แต่จะอย่างไรก็ตาม 

 

เนื้อหาทั้งหมดของบทความที่ถูกอ้างอิงนี้ “ไม่ได้” สรุปเลยว่า คนสูงวัยต้องการความกตัญญูจากบุตรหลาน 

 

หากแต่พูดถึง “เทรน” ของสังคม เนื่องจากว่าแต่เดิมทีนั้น สังคมไทย มีลักษณะ “ครอบครัวใหญ่” ที่ในบ้านหลังหนึ่ง จะมีผู้อยู่อาศัยอยู่ร่วมกันถึง  3 รุ่น และมีครอบครัวมากกว่า 1 ซึ่งเป็นญาติพี่น้องอาศัยอยู่ร่วมกัน

 

ภายใต้การอยู่ร่วมกัน และต่างพึ่งพาอาศัยกัน จึงเกิดเป็นวิถีความสัมพันธ์ในลักษณะ “พ่อแม่ ดูแลปู่ย่า ตายายเลี้ยงหลาน” นั่นเอง

 

ลักษณะสังคมแบบนี้ ไม่เพียงพบในสังคมเอเชีย หากแต่ในสังคมฝรั่ง ก่อนยุคแห่งการเดินเรือ (Age of Sail) ก็เป็นเช่นนี้มาก่อนด้วยเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม พลวัตของโลกที่เปลี่ยนแปลง สังคมในเอเชีย มีลักษณะของ “ครอบครัวเดี่ยว” ที่มีครอบครัวอาศัยอยู่เพียงครอบครัวเดียว มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้วิถี และรูปแบบของการมีปฏิสัมพันธ์ของครอบครัวนั้นเปลี่ยนแปลงไป

 

สิ่งที่อาจารย์นพดล กล่าวถึงในบทความของท่านเพียงกล่าวว่า ในต่างประเทศ เทรนของสังคม ที่รองรับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุนั้น ได้เปลี่ยนไปแล้ว แต่ในไทยนั้น “ยังไม่ชัดเจน” เท่านั้น

 

นอกจากนี้ อาจารย์ยังแสดงความเห็นด้วยว่า “ผมเชื่อว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า เทรนด์ในเรื่องของการพึ่งพาบุตรหลานอาจจะเปลี่ยนไปก็ได้”

 

นอกจากนี้ อาจารย์ยังปิดท้ายด้วยคำแนะนำถึงผู้สูงวัยในอนาคตว่า “ควรเตรียมตัวให้พร้อม ทั้งสุขภาพร่างกายตนเอง ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และเครือข่ายทางสังคม เพื่อการพึ่งตนเองให้มากที่สุด”

 

สำหรับในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ  อาจารย์แนะนำรัฐว่า รัฐควรให้ความสนใจและปรับปรุงการบริการภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงวัย เช่น การบริการด้านสุขภาพ และเครือข่ายสังคม อีกทั้งยังควรใส่ใจในการแก้ไขข้อกฎหมายบางประการ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้สูงวัยที่เปลี่ยนไป เช่น การปรับขยายช่วงอายุให้ผู้สูงอายุสามารถทำงานได้ และการจูงใจให้เอกชน เปิดโอกาสให้ผู้สูงวัยได้เข้ามาทำงาน

 

 

ถึงแม้ว่าเนื้อหาข้างบนนี้จะได้อธิบายถึง “เจตนารมณ์ที่แท้จริง” ของบทความของรองศาสตราจารย์ ดร.นพพล วิทย์วรพงศ์ ซึ่งถูกบิดเบือนโดยนักเขียนของสื่อออนไลน์ดังกล่าวไปแล้ว

 

แต่ในฐานะประชาชน เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะสนใจว่า ภาครัฐมีความใส่ใจในเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน ?

 

คำตอบของคำถามนี้ มีการสรุปเอาไว้ในวารสารข้าราชการพลเรือน ฉบับปีที่ 60 ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2561 “ภาครัฐกับการเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัย”

 

ซึ่ง “สำนักงานกิจการพลเรือน (ก.พ.)” นั้น มีภารกิจเหมือนกับ “ฝ่ายบุคคล” ของภาคเอกชน คอยกำกับดูแลทรัพยากรบุคคลของภาครัฐนั่นเอง และจากบทความนี้ จะเห็นได้ว่า ภาครัฐนั้น มีการตระหนักรู้ และมีแผนรับมือมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2561 แล้วด้วย

 

นอกจากนี้ บทความ “เตรียมความพร้อมกำลังคนภาครัฐสู่สังคมสูงอายุอย่างไร? แกะรอยยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ” หน้าที่  9-11 นั้น

 

มีการระบุถึงการเตรียมการในการปรับเปลี่ยนประเทศ ให้สามารถรองรับสังคมผู้สูงอายุใน “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” 

 

และใน “แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต” ของยุทธศาสตร์ชาติ ฯ นั้น มีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้ “ผู้สูงอายุเป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศ” โดยมีกรอบในการพัฒนา 3 ข้อคือ

1) ส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุให้พึ่งพาตนเองได้ทางเศรษฐกิจและร่วมเป็นพลังสำคัญ ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ชุมชนและประเทศ
2) ส่งเสริมและพัฒนาระบบการออมเพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิตหลังเกษียณ และหลักประกันทางสังคมที่สอดคล้องกับความจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต
3) ส่งเสริมสนับสนุนระบบการส่งเสริมสุขภาพดูแลผู้สูงอายุพร้อมทั้งจัดสภาพแวดล้อมให้ เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ

 

ซึ่งแนวทางการขยายระยะเวลาการเกษียณอายุ และการส่งเสริมการทำงานของผู้สูงวัยนั้น สอดคล้องกับแนวคิดของ “สถาบันพัฒนาเกาหลี (Korea Development Institution)” ที่สนับสนุนการสร้างโอกาสให้ผู้สูงวัย ได้เข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยเช่นกัน

 

 

และเป็นความบังเอิญที่ลงตัว เนื่องจากคำ “New Skill” ที่มีการพูดถึงในวงกว้าง ให้ผู้คนที่ต้องกักตัวอยู่บ้าน ในช่วงต้นของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 พ.ศ. 2562 นั้น

ถูกพูดถึงโดย ก.พ. มาตั้งแต่ พ.ศ. 2561 ในฐานะ “แผนปฏิรูปข้าราชการ” ให้มีชุดความคิด และขีดสมรรถนะแบบใหม่ (New Mindsets and Skill Sets) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและสามารถสร้างคุณค่า และประโยชน์ให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องได้นั่นเอง

 

นอกจากนี้ ในรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย “สังคมสูงวัยกับความท้าทายของตลาดแรงงานไทย” ซึ่งเผยแพร่ในเดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2561 นั้น มีการเสนอแนะให้ส่งเสริมการ Up Skill – Re Skill ให้แก่ผู้สูงวัยอีกด้วย

 

นี่เท่ากับว่าเรื่อง  ที่แต่เดิมเป็นแผนการที่ถูกเตรียมเอาไว้ให้ผู้สูงอายุ 

 

กลับกลายเป็นคนวัยทำงาน หยิบเอามาใช้ก่อน เพื่อพัฒนาตัวเองในช่วงการ “ล็อกดาวน์” อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แทน

และได้รับการตอบรับอย่างดีในหมู่คนทำงาน เกิดการพัฒนาทักษะใหม่ และธุรกิจใหม่ ในช่วงการแพร่ระบาด ฯ มากมายเลยทีเดียว



เมื่อหันมาดูภาพใหญ่ของประเทศ 

 

จากรายงาน “สรุปผลที่สำคัญ การทำงานของผู้สูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะพบว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุที่ทำงานเพิ่มขึ้นทุกปี

ปี พ.ศ. 2560 มีผู้สูงอายุที่ยังทำงานถึง 4.06 ล้านคน ในขณะที่ พ.ศ. 2564 มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 4.88 ล้านคน ซึ่งตัวเลขนี้ รวมผู้ใช้แรงงานนอกระบบประกันสังคมเข้าด้วยแล้ว และผู้สูงอายุที่ยังทำงานนั้น อยู่นอกระบบมากถึง 87.2% เลยทีเดียว

 

นี่อาจเป็นเพราะแรงงานผู้สูงอายุ อยู่ในภาคเกษตรกรรม, การป่าไม้ และการประมงมากถึง 62.8% และอยู่ในภาคการค้าปลีก, ค้าส่ง และการซ่อมยานยนต์ 13.8%

ซึ่งทั้งสองภาคส่วนนั้น เป็นภาคที่อยู่นอกระบบประกันสังคมนั่นเอง 

 

นอกจากนี้ ด้านสถานภาพแรงงานของผู้สูงอายุนั้น 64.4% ประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้าง, 21.1 % ช่วยธุรกิจครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้าง, 11.5 % เป็นลูกจ้าง และที่เหลือ 3.0% เป็นนายจ้าง หรือเป็นการรวมกลุ่มกันของผู้สูงอายุเอง

 

นอกจากนี้ ด้านชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ จะเห็นได้ว่า 31.3% ของผู้สูงอายุ ทำงานมากถึง 40-48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือเฉลี่ย วันละ 8 ชั่วโมง ไม่ต่างอะไรจากเวลาทำงานของแรงงานทั่วไปเลย

ส่วนแรงงานสูงวัยที่ทำงานมากกว่า 49 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีเพียง 15.1% เท่านั้น

 

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเหล่านี้ จะเห็นได้เลยว่า 

 

“ผู้สูงอายุไทยในปัจจุบัน ไม่ได้อยู่ในสถานะที่นั่งงอมืองอเท้า รอคอยความกตัญญูจากลูกหลานเลย”

 

 

เมื่อหันกลับไปมอง คุณลักษณะของคนรุ่น” เบบี้บูมเมอร์” (ผู้ที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2489-2507) ที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว และปัจจุบันมีอายุมากกว่า 60 ปี

 

คนกลุ่มนี้คือกลุ่มคนที่เกิดมาเห็นสภาวะที่ต้องฟื้นฟูประเทศ ที่พินาศย่อยยับลงหลังสงคราม มีความจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูประเทศและสังคมให้กลับมาแข็งแกร่งดังเดิมได้อีกครั้ง

คนรุ่นนี้ จึงมีความจริงจัง ทุ่มเท และเคร่งครัดในขนบธรรมเนียม มีความอดทนสูง และประหยัดอดออม

“การมีงานทำ” คือคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ของคนรุ่นนี้ เจนนี้นั่นเอง

 

นอกจากนี้ 

 

ในช่วงอายุของคนรุ่นนี้ ต้องเผชิญหน้าฝ่าฟันกับวิกฤติมาหลายครั้ง ไม่ว่าจะความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ และสงครามเย็น

 

มีประสบการณ์กับภาวะสงคราม ทั้งความขัดแย้งกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และเหตุการณ์ปะทะตามแนวชายแดนระหว่างไทยกับกองทัพเวียดนาม

เคยผ่านวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินถึง 2 ครั้ง (ต้มยำกุ้ง พ.ศ. 2540 และ แฮมเบอร์เกอร์ พ.ศ. 2550)

 

เป็นเจนเนอเรชั่นที่ผ่านมรสุมชีวิตมามาก และโชกโชน

 

จึงไม่มีอะไรน่าแปลกใจเลย กับตัวเลขที่เพิ่มมากขึ้นของแรงงานสูงอายุ ทั้งในประเทศไทย และในโลก

 

เพราะคนรุ่นนี้นั้น เกิดมาแกร่ง ถึงล้มก็ยังคิดคลาน 

 

เพื่อที่จะกลับมายืนขึ้นอย่างงามสง่าให้ได้อีกครั้งนั่นเอง

 



สำหรับโอกาสของผู้สูงอายุ ภายใต้กระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบันนั้น

การขยายตัวของ “การท่องเที่ยวชุมชน” “การท่องเที่ยวเชิงวิถี” ภายใต้การผลักดันของภาครัฐ ผ่านการส่งเสริมและสนับสนุน “วิสาหกิจชุมชน” จะเป็นอีกหนึ่งโอกาส ที่จะสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุ ที่ไม่มีวุฒิปริญญา แต่มีภูมิปัญญาท้องถิ่น

เนื่องจากตัวผู้สูงอายุนั้น เป็นผู้ผ่านประสบการณ์ สามารถบอกเล่าเรื่องราวความเป็นไปของสังคม และวิถีชีวิต ซึ่งสามารถสืบสาน ส่งต่อ และต่อยอดต่อไปได้

อีกทั้ง ประสบการณ์ของผู้สูงอายุนั้น สามารถนำมาพัฒนาเป็นการ “ขายอัตลักษณ์” ซึ่งเป็นจุดขายที่โดดเด่น มีศักยภาพในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศไทยอย่างมาก

ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน คือ กลุ่มชาติพันธุ์เผ่าลาหู่ บนดอยปู่หมื่น ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอาศัยอยู่บนยอดภูเขาสูง 1,400 เมตรจากระดับน้ำทะเล

 

ซึ่งคุณแม่ของคุณริชชี่ อรเณศ ดีคาบาเลส นักแสดงภาพยนตร์ คือเชื้อสายของกลุ่มชาติพันธุ์นี้เอง

โดยปัจจุบัน พวกเขาดำเนินธุรกิจการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ด้วย ซึ่งในหลายปีที่ผ่านมา พวกเขาได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศมาแล้วมากมายหลายคณะ หลากประเทศ

 

นอกจากนี้ ธุรกิจการท่องเที่ยวชุมชนนั้น ยังสามารถเป็นกิจกรรมที่สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นปู่ย่า ไปสู่รุ่นหลานได้อย่างแนบแน่นและกลมเกลียว

เป็นการส่งเสริม การถ่ายทอดประสบการณ์และองค์ความรู้ชั้นเลิศ

เพื่อให้ลูกหลาน นำไปประยุกต์และพัฒนา ให้สอดคล้องกับสิ่งใหม่ ๆ เพื่อ สืบสาน รักษา และต่อยอด นั่นเอง



บทความนี้ จะเห็นได้ถึงความเก๋า และความอึดของผู้สูงอายุไทยในปัจจุบัน ซึ่งเป็นคนรุ่นที่ผ่านร้อนหนาว อุปสรรคและวิกฤติมามากกว่าคนรุ่นใด ๆ ในปัจจุบัน

ผู้สูงวัยรุ่นนี้ ถึงจะมีอายุ แต่ก็ยังคงไม่หยุดที่จะทำงาน ไม่ได้หวังที่จะพึ่งพา ง้องอนความกตัญญูจากคนรุ่นใหม่แต่อย่างใด

แต่จะอย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ชีวิตอันล้ำค่าของคนรุ่นเก่าที่สุดเก๋าเหล่านี้นั้น

หากปล่อยทิ้งให้เลือนหายไปตามกาลเวลา คือความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ของสังคมไทย


สิ่งที่สังคมควรจะทำ ควรจะใช้ประโยชน์จากผู้สูงวัย คือการเข้าไปรับช่วง รักษา สืบสาน และต่อยอด ภูมิปัญญาที่ล้ำค่า ของผู้สูงวัยเหล่านี้ต่างหากล่ะ

 

โดย ศิราวุธ ภุมมะกสิกร

อ้างอิง :

[1] “อนาคตความสุขของผู้สูงวัย สังคมไทยพร้อมหรือยัง?”, นพพล วิทย์วรพงศ์ (พ.ศ.2565), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

[2] “ภาครัฐกับการเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัย”, สำนักงานกิจการพลเรือน (พ.ศ.2561) 

[3] “แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต”, ยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี 

[4] “Population Aging and Economic Growth: Impact and Policy Implications”, 

KDI 한국개발연구원 

[5] “สังคมสูงวัยกับความท้าทายของตลาดแรงงานไทย”, ธนาคารแห่งประเทศไทย (พ.ศ.2561) 

[6] “สรุปผลที่สำคัญ การทำงานของผู้สูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2564“, สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2565

[7] เข้าใจความต่างคน 4 เจเนอเรชั่น ทลายช่องว่างเพื่อการทำงานที่แฮปปี้ 

[8] รู้จัก วิถีลาหู่ ยอดดอยปู่หมื่นบ้าน ริชชี่ อรเณศ” 

[9] แฟนเพจ ดอยปู่หมื่น ลาหู่ โฮมสเตย์ 

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า