Articlesไข ‘สัญญาทาส’ อิงฟ้าค่ายเพลงรังแกเด็กหรือมั่วข้อกฎหมาย

ไข ‘สัญญาทาส’ อิงฟ้าค่ายเพลงรังแกเด็กหรือมั่วข้อกฎหมาย

อิงฟ้า มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2022 VS บริษัท แสงรวี เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ค่ายเพลงที่อ้างว่าอิงฟ้าสังกัดอยู่ สัญญาศิลปินที่ทำไปเมื่อก่อนของอิงฟ้า ยังมีผลอยู่ไหม? แล้วเลิกสัญญาได้รึเปล่า? ใครกันแน่ที่ไม่เป็นธรรม

เมื่อไม่นานมานี้นางสาวอิงฟ้า วราหะ ได้เป็นผู้ชนะเลิศการประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2022 แต่กลับได้มีเวลาดีใจไปกับรางวัลดังกล่าวไม่นานนัก ก็มีดราม่าออกมาว่าเธอยังติดสัญญากับ บริษัท แสงรวี เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ค่ายเพลงที่เธอสังกัดอยู่  และออกมาประกวดโดยฝ่าฝืนข้อตกลงในสัญญาที่ระบุว่า

 

“ห้ามมิให้รับงานแสดงต่างๆ เช่น การเป็นพิธีกร แสดงละคร แสดงภาพยนตร์ ขับร้องเพลง ถ่ายแบบ เดินแบบ หรือ รับจ้างโฆษณา ให้กับบุคคลอื่น เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากบริษัทฯ ก่อนทุกครั้ง”

 

ผลปรากฏว่าอิงฟ้าได้ออกมายอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่เธออ้างว่าสัญญามันโมฆะไปแล้ว แถมยังมีผู้สนับสนุนของเธออีกมายืนยันว่ามันทำได้ แถมเธอยังมีการต่อว่าค่ายเพลงอีกว่าสัญญาที่ทำไปนั้นเป็นสัญญาทาส ไม่เป็นธรรม เป็นการรังแกเด็ก [1]

 

แต่นั่นคือข้อโต้แย้งของเธอและผู้สนับสนุนเธอฝ่ายเดียว ความจริงทางข้อกฎหมายเป็นอย่างไร The Structure มีคำตอบให้

ประเด็นแรก สัญญาที่เซ็นไปเมื่ออายุ ตอนเด็กอยู่ ถือว่า ผลทางกฎหมายเป็นยังไง?

อิงฟ้าได้เปิดเผยว่าตนเองได้ทำสัญญาปั้นศิลปินกับบริษัท แสงรวี เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด เมื่อ อายุ 17-18 ปีเท่านั้น [1] ซึ่งในตามกฎหมายนั้นถือว่าอิงฟ้ายังไม่เป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 19 ที่กำหนดให้ บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์

เมื่อการทำสัญญาคือนิติกรรมประเภทหนึ่ง ดังนั้นสัญญาที่อิงฟ้าซึ่งเป็นผู้เยาว์ทำจึงต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใด ๆ ที่ผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ ตาม มาตรา 21 และ มาตรา 153  ในเรื่องการฝ่าฝืนกฎหมายที่ว่าด้วยความสามารถของบุคคล

ส่วนผู้แทนโดยชอบธรรมของเธอนั้นตามมาตรา 1569 กำหนดให้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองของเธอ ซึ่งในมาตรา 1566 นี้ก็กำหนดให้บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา ดังนั้น การทำสัญญาของเธอจะต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาเสียก่อนถึงจะไม่เป็นโมฆียะ

โดยหากสัญญาใดเป็นโมฆียะแล้วเนี่ย ผลทางกฎหมายคือสัญญานั้นยังใช้ได้อยู่นะ ไม่ได้ว่าเสียไปเลย ใช้ได้สมบูรณ์เรียบร้อยมีผลเหมือนสัญญาทั่วไปเพียงแต่ว่าความสมบูรณ์ของสัญญาที่ว่าเนี่ยมันอาจถูกบอกล้างหรือให้สัตยาบันได้ [1]

 ถ้าถูกบอกล้าง ก็จะทำให้สัญญาเป็นโมฆะหรือไม่มีผลทางกฎหมายมาตั้งแต่แรก ตามมาตรา 176 แต่ถ้าให้สัตยาบันสัญญานั้นก็จะถือว่าสมบูรณ์มาแต่แรก ตามมาตรา 177 และไม่อาจถูกบอกล้างได้อีก [2]

ส่วน ประเด็นว่าเธอทำสัญญาโดยพ่อแม่เธอยินยอมด้วยไหม ตรงจุดนี้มีข้อเท็จจริงจากตัวนางงามเองที่สารภาพว่า ที่เธอทำสัญญาขึ้นนั้นก็เพราะคุณพ่อเธอป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ซึ่งความฝันของเขา คืออยากเห็นเธอเป็นศิลปิน และเมื่อพบว่าตัวค่ายเพลงมีบ้านให้พ่อแม่เธออยู่ได้ด้วย เธอก็เลยตัดสินใจทำสัญญา [1]

ดังนั้นก็จะพออนุมานได้ว่าผู้แทนโดยชอบธรรมหรือพ่อแม่ของเธอน่าจะยินยอมในการทำสัญญาที่ว่านี้ สัญญานี้จึงมีผลสมบูรณ์ตั้งแต่ต้น ไม่เป็นแม้กระทั่งโมฆียะ การที่อิงฟ้ามาบอกว่าสัญญาของบริษัทเป็นโมฆะไปแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เมื่อทั้งสองฝ่ายไม่มีใครยินยอมเลิกสัญญากัน สัญญาจึงยังมีผลอยู่

สรุป  สัญญาที่ทำไว้ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่รวมถึงข้อตกลงข้อห้ามต่างๆ ในสัญญาด้วย งานนี้หากบริษัท แสงรวี เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด  ฟ้องเธอข้อหาผิดสัญญา ก็มีสิทธิชนะสูง

ประเด็นสอง สมมติว่าถ้าตอนเซ็นผู้ปกครองไม่ได้รับรู้ ไม่ได้ยินยอมด้วยละ? อิงฟ้าจะมีสิทธิชนะคดีไหม?

เรื่องนี้ก็น่าคิดเพราะในการต่อสู้คดี ทนายความฝั่งอิงฟ้าก็คงอ้างมาแบบนี้แน่ๆ ถึงอย่างไรก็ดี จากข้อเท็จจริงจากสื่อต่างๆ และจากที่นางงามท่านนี้ให้มาเอง ดูทรงแล้ว ข้ออ้างนี้ของนางก็ไม่น่าจะฟังขึ้นอีกเช่นกัน ทำไมละ?

 ประเด็นอยู่ตรงวิธีการบอกล้างและกำหนดเวลาการบอกล้างสัญญาของนางที่ทำช้าไป

การจะบอกล้างสัญญาที่เป็นโมฆียกรรมเนี่ย ไม่ใช่ว่าอยากจะบอกล้างก็บอกได้เลย เพราะหากสัญญาถูกบอกล้างได้เมื่อไหร่ก็ได้ตามใจผู้มีสิทธิ คู่สัญญาอีกฝ่ายคงเสียหายน่าดู มันเลยมีกำหนดเวลาเส้นตายอยู่ที่หากเลยแล้ว ก็จะบอกล้างไม่ได้อีกต่อไป โดยกำหนดไว้ในมาตรา 181  ว่า

‘โมฆียกรรมนั้นจะบอกล้างมิได้เมื่อพ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ หรือเมื่อพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้น’

แล้วเวลาที่อาจให้สัตยาบันได้นั้นคือเมื่อไหร่กัน?   

 คำตอบอยู่ใน มาตรา 179 ซึ่งบัญญัติว่า ‘การให้สัตยาบันแก่โมฆียกรรมนั้น จะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้กระทำภายหลังเวลาที่มูลเหตุให้เป็นโมฆียกรรมนั้นหมดสิ้นไปแล้ว’

ส่วนเวลาที่มูลเหตุให้เป็นโมฆียกรรมนั้นหมดสิ้นไปแล้วนั้น ก็คือเมื่ออิงฟ้าบรรลุนิติภาวะหรือมีอายุ20ปีบริบูรณ์แล้วนั่นเอง

เอาง่ายๆเลย เธอจะให้สัตยาบันได้ก็เมื่อเธออายุ 20 ปีแล้วนั่นเอง และหลังจากนั้น เธอก็จะมีสิทธิให้สัตยาบันได้ภายในหนึ่งปีหลังจากเธออายุ 20 ปีแล้ว พ้นไปจากนี้เธอจะให้สัตยาบันไม่ได้แล้ว และก็บอกล้างไม่ได้ด้วยเช่นกัน สัญญาจะมีผลสมบูรณ์ตลอดไป

แต่ข้อเท็จจริง ดูเหมือนว่าจะไม่เข้าข้างเธอ

การที่เธอเปิดเผยว่าได้ทำสัญญาช่วงอายุ 17-18 ปี แล้ว จนปัจจุบัน อายุ 27 ปีแล้ว แสดงว่าสัญญาที่ว่าทำไปช่วงปี 2555-2556 ดังนั้นอย่างช้าที่สุด อิงฟ้าจะมีสิทธิใช้สิทธิบอกล้างได้ช่วงปี 2559-2560 ประมาณนี้

พ้นจากนี้เป็นปี 2561 นางไม่มีสิทธิบอกล้างอีกแล้ว จะต้องผูกพันกับสัญญาฉบับนี้จนหมดสัญญา

อิงฟ้ากล่าวอีกว่า เธอขอยกเลิกสัญญาและบอกล้างไปตั้งแต่เมื่อ ปี 2564 และยังไม่มีการตอบรับกลับมาจากค่ายเพลง เมื่อเธอบอกล้างช้าไปจึงไม่มีผลในทางกฎหมาย เป็นเพียงแค่การแสดงเจตนาว่าจะขอเลิกสัญญาเท่านั้น และเมื่อทางบริษัทไม่ตอบกลับ สัญญาก็ยังคงมีผลต่อไป  [1]

ส่วนกรณีระยะเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้น ตามมาตรา 181 อันนี้หมายความว่าหากระยะเวลา 1 ปีที่อาจให้สัตยาบันได้ยังไม่เริ่มนับ ไม่ว่ายังไงก็ห้ามมาบอกเลิกเกินระยะเวลาสอบปีหลังทำสัญญาดังกล่าวเท่านั้น ไม่ใช่แปลว่า ภายในสิบปีนับแต่ทำสัญญาเธอมีสิทธิบอกล้างได้เมื่อบรรลุนิติภาวะ

ดังนั้นแล้ว จะเห็นว่าตอนนี้อิงฟ้า ไม่มีสิทธิบอกล้างสัญญาดังกล่าวได้เลย 

ประเด็นสาม แล้ว เธอขอเลิกสัญญาฝ่ายเดียวเฉยๆ เลยได้ไหม?

มีคนอ้างว่าหากสัญญาไม่เป็นธรรมสามารถขอยกเลิกสัญญาฝ่ายเดียวได้ หากคู่สัญญาไม่ตอบกลับมาภายในกำหนด เป็นความจริงไหม ?

อิงฟ้าได้พูดถึงการขอเลิกสัญญาของเธอว่า

ตอนนี้เท่าที่คุยกับทนาย เราเป็นผู้ที่ไม่มีสัญญาแล้ว เพราะเราได้ยื่นเรื่องไปแล้ว สัญญามีระยะเวลา 30 วัน ตอนนี้ขาดไป 6 เดือน ไม่ได้รับการตอบกลับ นั่นแปลว่ามันโมฆะไปแล้วค่ะ” [1]

นอกจากนี้ในคอมเมนต์ จาก เพจ Sangravee Entertainment Official โพสต์ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 มีแอคเคาท์หลุม ชื่อ Presley Sam ได้บอกว่า ทำได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 และตาม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15385/2558 การไม่ตอบกลับหนังสือบอกเลิกสัญญาภายในกำหนดระยะเวลา ถือเป็นการเลิกสัญญาโดยปริยาย [3]

ทางThe Structure อยากจะบอกว่า นี่คือข้อมูลที่ผิด อย่างมาก ความจริงคือ มาตรา 386 บัญญัติว่า

 ‘ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายการเลิกสัญญาเช่นนั้นย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง

ตามมาตรานี้ แสดงว่าสิทธิการเลิกสัญญานี้มี สอง ประการ คือ สิทธิตามสัญญา และสิทธิตามกฎหมาย โดยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4778/2558 ยืนยันหลักนี้ และ บอกด้วยว่า คู่สัญญาจะเลิกสัญญาโดยอำเภอใจไม่ได้ มิฉะนั้นไม่มีผลให้สัญญาเลิกกัน สัญญาจะยังมีผลผูกพันดังเดิม [4]

ดังนั้นหากสัญญาที่ทางทางค่ายเพลงกับอิงฟ้าทำกันไม่มีข้อกำหนดในสัญญาให้เลิกกันได้โดยวิธีนี้ อิงฟ้าก็ไม่สามารถขอเลิกสัญญาได้โดยฝ่ายเดียว ต้องให้ทางค่ายรับคำสนองของอิงฟ้าด้วย ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17918/2557 หนังสือที่อิงฟ้าส่งไปขอเลิกสัญญาจึงมีผลเป็นคำเสนอยกเลิกสัญญาเท่านั้น หากค่ายเพลงไม่ยินยอมก็ไม่มีผลใดๆ 

 

ส่วน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15385/2558 ที่มีการกล่าวอ้างนั้น พบว่าเป็นเรื่องของสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ที่มีการผิดสัญญาและขอยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนโดยผู้เช่าไม่ได้โต้แย้งถือว่าต่างสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายในวันที่มีการยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นคนละเรื่องกับกรณีนี้  [5]

โดยสรุป หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามข่าวที่ได้รับมา  สัญญาของอิงฟ้ากับค่ายเพลงถือว่า ยังมีผลผูกพันอยู่ จนกว่าจะหมดสัญญาในปี 2568 ตามที่ค่ายเพลงแจ้งไว้ และอิงฟ้ายังมีหน้าที่ตามข้อตกลงในสัญญาอยู่เพราะ เธอไม่มีสิทธิขอเลิกสัญญาได้ตามกฎหมาย และหากสัญญาไม่มีข้อกำหนดให้เธอเลิกได้ เธอก็จะขอเลิกตามอำเภอใจฝ่ายเดียวไม่ได้เช่นกัน

ถึงอย่างไรก็ดีนี่เป็นแค่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในสื่อเท่านั้น สัญญาดังกล่าวมีข้อตกลงเป็นอย่างไร ที่อิงฟ้าพูดมาจริงหมดไหม แค่ไหน หากข้อมูลพวกนี้เปลี่ยนไปก็อาจทำให้ผลทางกฎหมายเปลี่ยนไปได้เช่นกัน

โดย ณฐ

อ้างอิง :

[1] สรุปดราม่าเดือด! ค่ายเพลงทวงสัญญา “อิงฟ้า” ฝ่าฝืนประกวดจนชนะเวทีมิสแกรนด์ 

[2] ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์, คำอธิบาย นิติกรรม-สัญญา, สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2552 พิมพ์ครั้งที่ 14, บทที่ 7

[3] เฟสบุค Sangravee Entertainment Official วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 เวลา 21:19 น. 

[4] วิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์, กฎหมายแพ่งพิสดาร เล่ม1 ปี 2563, Jurisprudence Group, หน้า238-241

[5] ถือว่าคู่สัญญาต่างสมัครใจเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยปริยาย 

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า