Articlesความต้องการของคน ส่งผลต่อราคาสินค้า

ความต้องการของคน ส่งผลต่อราคาสินค้า

น้ำมันเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายทางสังคม เช่น การผลิตในภาคอุตสาหกรรม การผลิตกระแสไฟฟ้า การเดินทาง การขนส่งสินค้า เป็นต้น และยังใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อรองทางการเมืองและเศรษฐกิจอีกด้วย

 

น้ำมันจัดเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ซื้อขายกันทั่วโลก มีมาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ผลิต หลายคนคงสงสัยว่าท่ามกลางสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ผันผวนขณะนี้ จนส่งผลกระทบต่อผู้คนในสังคมเป็นวงกว้าง อะไรคือปัจจัยที่ใช้ในการกำหนดราคาน้ำมันโลก

 

อธิบายง่ายๆ ราคาน้ำมันในตลาดโลกเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้อย่างเสรีตามหลักอุปสงค์และอุปทาน

 

อุปสงค์ (Demand) ได้แก่ ความต้องการในการใช้น้ำมัน โดยเมื่อใดก็ตามที่เศรษฐกิจเติบโตดี ความต้องการใช้น้ำมันมีมากขึ้น ราคาน้ำมันจะขยับสูงขึ้นตามไปด้วย ในทางกลับกันหากเศรษฐกิจถดถอย ความต้องการใช้น้ำมันลดลง จะส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงตาม

 

อุปทาน (Supply) ได้แก่ กำลังการผลิตของผู้ผลิตน้ำมันและโรงกลั่น หากผู้ผลิตไม่สามารถผลิตน้ำมันได้เพียงพอต่อความต้องการ หรือตั้งใจลดจำนวนการผลิตน้ำมันลง จะส่งผลให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น กลับกันหากผู้ผลิตปรับเพิ่มอัตราการผลิตน้ำมันให้มากขึ้น หรือในขณะนั้นความต้องการใช้น้ำมันกลับลดลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ราคาน้ำมันก็ปรับตัวลงได้เช่นเดียวกัน

 

หากมองย้อนกลับไปในช่วงที่โควิด-19 เกิดการระบาดอย่างรุนแรง เราจะเห็นการทำงานของอุปสงค์-อุปทานได้อย่างชัดเจน พูดง่ายๆ คือ เมื่อคนต้องการสิ่งไหน สิ่งนั้นจะมีราคาแพง และราคาจะแพงขึ้นไปอีก เมื่อสิ่งนั้นมีปริมาณจำกัด เราคงจำภาพที่ทุกคนต่างวิ่งหาซื้อหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ในราคาแสนแพงกันอย่างลำบากในช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี ในขณะที่น้ำมันกลับมีราคาถูกลง เนื่องจากในช่วงเวลานั้นผู้คนส่วนใหญ่อยู่กับบ้านและงดการเดินทาง ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลงตามไปด้วย ปริมาณน้ำมันจึงมีมากกว่าความต้องการของตลาด

 

นอกจากอุปสงค์-อุปทานแล้ว ยังมีเหตุผลอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันอีกด้วย โดยหลังจากที่ประเทศต่างๆ เริ่มฟื้นตัวจากโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้น ความต้องการใช้น้ำมันจึงมีมากขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้ราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวสูงขึ้น สิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ สินค้าต่างๆ ปรับราคาสูงขึ้น ประกอบกับผลกระทบที่สืบเนื่องมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อมายาวนานกว่าที่ทุกคนคิดเอาไว้ และดูยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ ลามไปถึงการคว่ำบาตรรัสเซีย ปัจจัยเหล่านี้กลายเป็นตัวเร่งให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น จนส่งผลกระทบอย่างรุนแรงไปทั่วโลก

 

ทั้งนี้เพราะรัสเซียเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก ดังนั้นเมื่อรัสเซียถูกระงับการขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติให้แก่ชาติตะวันตก ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันและเชื้อเพลิงของโลกกลับเพิ่มสูงขึ้น ราคาน้ำมันจึงพุ่งสูงขึ้นไปอีก ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตของคนทั้งโลกเป็นอย่างมากโดยเฉพาะชาติตะวันตกที่ต้องหาวิธีการรับมือกับฤดูหนาวนี้ในขณะที่มีน้ำมันและเชื้อเพลิงไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน

 

วิกฤตน้ำมันในครั้งนี้ เรียกได้ว่ามีความซับซ้อนมากกว่าวิกฤตครั้งใดๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต เนื่องจากมี 3 ปัจจัยเกิดขึ้นพร้อมกัน คือ

(1) อุปสงค์น้ำมันเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเกินคาดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากประเทศต่างๆ ได้ยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์จากการระบาดใหญ่ของโควิด-19

(2) โอเปคและรัสเซียร่วมมือกันแบบหลวมๆ ที่จะไม่เพิ่มการผลิตในระดับที่สร้างสมดุลในตลาดน้ำมัน และ

(3) ประเทศต่างๆ ได้ดึงสต๊อกน้ำมันและเชื้อเพลิงมาใช้เพื่อลดช่องว่างอุปทาน ส่งผลให้ระดับน้ำมันสำรองลดลงเป็นอย่างมาก ดังนั้นราคาน้ำมันในระยะข้างหน้านี้ ยังมีความไม่แน่นอนสูง หากปัญหาสงครามความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนและปัจจัยร่วมข้างต้นยังคงอยู่ต่อไป

 

คนไทยเองได้รับผลกระทบจากวิกฤตน้ำมันในครั้งนี้ไปทุกหย่อมหญ้าเช่นกัน ไม่เพียงแค่คนที่ต้องใช้น้ำมันเติมรถเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่เพราะสินค้าต่างๆ รวมถึงค่าไฟ ค่าครองชีพ ต่างก็ปรับราคาแพงขึ้นตามราคาน้ำมันไปด้วย จนเกิดเป็นยุคข้าวยาก หมากแพง

 

ในระยะสั้น รัฐบาลได้แก้ปัญหาด้วยการหนุนกองทุนน้ำมันเพื่อช่วยชะลอผลกระทบที่จะนำไปสู่อัตราเงินเฟ้อ และค่าครองชีพที่สูงขึ้น พร้อมๆ กับความร่วมมือจากบริษัทพลังงานต่างๆ เช่น ปตท. ที่ได้ช่วยแบ่งเบาภาระด้วยการให้ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม (LPG) แก่ผู้มีรายได้น้อยที่เป็นร้านค้าหาบเร่ แผงลอยอาหาร ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การตรึงราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ในกลุ่มผู้ใช้รถ NGV ส่วนบุคคล พร้อมกับตรึงราคาขายปลีก NGV ในโครงการ “เอ็นจีวี เพื่อลมหายใจเดียวกัน” สำหรับผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นต้น

 

วิกฤตน้ำมันที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ถือเป็นความท้าทายในการบริหารจัดการพลังงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาวของหลายประเทศ การใช้นโยบายระยะยาวที่ส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการใช้พลังงานทางเลือกที่มุ่งสู่ “เศรษฐกิจสีเขียว” ถือเป็นทางเลือกที่เหมาะสม โดยในระหว่างที่ยังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานนี้ เราควรหันไปใช้เชื้อเพลิงหรือพลังงานที่มาจากพลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาดให้มากขึ้น พร้อมกับสนับสนุนเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่สามารถมาทดแทนการพึ่งพาการนำเข้าให้ได้ ในขณะเดียวกันพวกเราในฐานะผู้บริโภค ควรร่วมกันตระหนักรู้ และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างรู้คุณค่า เพื่อฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

 

โดย ศิวายะ

 

# TheStructureArticle

#น้ำมันโลก #ราคา #PTT

อ้างอิง :

https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_26Apr2022.aspxhttps://tu.ac.th/thammasat-010765-solving-the-high-oil-crisis-economist

https://tu.ac.th/thammasat-010765-solving-the-high-oil-crisis-economist

 

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า