Articles‘วิกฤตอาหาร’ และ ‘วิกฤตพลังงาน’ สุดปลายสายปฏิกิริยาลูกโซ่ อันเนื่องมาจาก ‘สงครามรัสเซีย–ยูเครน’

‘วิกฤตอาหาร’ และ ‘วิกฤตพลังงาน’ สุดปลายสายปฏิกิริยาลูกโซ่ อันเนื่องมาจาก ‘สงครามรัสเซีย–ยูเครน’

เหตุการณ์ ราคาน้ำมันแพง กลายเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เพียงสร้างความวิตกกังวลแก่คนไทยเท่านั้นแต่ยังสร้างความวิตกกังวลให้แก่คนทั่วโลกที่อยู่ในฐานะประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน และยิ่งราคาสูงขึ้นก็จะวิตกมากขึ้น

เหตุคือ เมื่อระดับราคาน้ำมันสูงขึ้นถึงระดับหนึ่ง ซึ่งน้ำมันก็คือหนึ่งในแหล่งพลังงานสำคัญของโลกนั้น ต้นทุนการผลิตและบริโภคก็จะสูงขึ้นไปด้วย เพราะต้นทุนพลังงานมักจะเป็นต้นทุนหลักในการผลิตและขนส่ง

ซึ่งเมื่อต้นทุนดังกล่าวสูงขึ้นในระดับหนึ่ง ก็จะมีผลทำให้มูลค่ารายได้จริงของประชากรนั้นเสื่อมค่าลงจากต้นทุนที่สูงขึ้น กล่าวคือ อำนาจในการบริโภคมีน้อยลง เพราะต้นทุนของการบริโภคดังกล่าวสูงขึ้นจากเดิม และเป็นการลดความมั่งคั่งที่แท้จริงของผู้บริโภคลง จากภาวะราคาพลังงานที่สูงขึ้น

โดยในปัจจุบันระดับราคาน้ำมันมีระดับที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าเป็นอย่างมากด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งการฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ระดับการบริโภคน้ำมันทั่วโลกสูงขึ้นอีกครั้ง

รวมทั้งเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ได้กลายเป็นการกระตุ้นให้ระดับราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นกลายเป็นเหตุผลสำคัญที่เป็นที่มาของราคาน้ำมันแพงที่เกิดขึ้นในกลไกตลาดทั่วโลก

ทว่าเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนไม่ได้ส่งผลกระทบในแง่ลบเพียงต่อระดับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วเพียงอย่างเดียว ซึ่งเพียงราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นก็ได้สร้างความกังวลมากเพียงพอแล้ว

แต่ยังส่งผลรุนแรงยิ่งกว่าต่อสินค้าพลังงานอื่น ๆ เช่น ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ฯลฯ ที่มีการปรับราคาสูงกว่าน้ำมันเสียอีก ซึ่งมีการใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและใช้ในภาคอุตสาหกรรมในหลายประเทศ

จึงยิ่งทำให้ต้นทุนของการผลิตและบริโภคสินค้าทั่วไปสูงขึ้นไปอีก และถูกซ้ำเติมด้วยราคาสินแร่พื้นฐานและสินแร่หายากที่มีการปรับราคาสูงขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่กลายเป็นการผลักภาระต้นทุนแบบทวีคูณให้แก่การผลิตและบริโภคสินค้าทั่วไปแก่ผู้บริโภค

ยิ่งไปกว่านั้น ยังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของมนุษย์บนโลกอย่างร้ายแรงในรอบหลายสิบปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตที่มีผลต่อความเป็นความตายของมนุษย์

ที่การเข้าถึงสิ่งเหล่านั้นในช่วงหลังจากนี้จะเข้าถึงได้ยากขึ้นหรืออาจเข้าถึงไม่ได้เลยในพื้นที่ที่ขาดแคลนทรัพยากรพื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างรุนแรงเพราะมีสถานะเป็นผู้นำเข้าและต้องแบกรับภาระต้นทุนสินค้าพื้นฐานที่สูงขึ้น

ซึ่งวิกฤตที่กำลังซ้ำเติมต่อจากวิกฤตพลังงานคือ วิกฤตอาหาร ซึ่งเป็นวิกฤตที่ระดับราคาอาหารสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่นำเข้าสินค้าพื้นฐานเป็นจำนวนมาก โดยสาเหตุสำคัญคือ แหล่งเพาะปลูกข้าวสาลีแหล่งใหญ่ในโลกอยู่ที่ยูเครนและรัสเซียซึ่งได้ลดระดับการส่งออกสินค้าดังกล่าวอย่างรวดเร็วจากภาวะความขัดแย้งรุนแรงระหว่าง 2 ประเทศ

รวมทั้งประเทศเกษตรกรรมที่จำเป็นต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมีในการทำการเกษตรก็ได้รับผลกระทบจากระดับราคาปุ๋ยที่สูงขึ้น เพราะแหล่งส่งออกแร่ที่ใช้ในการทำปุ๋ยเคมีส่วนใหญ่ก็ดันมาจากประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งดังกล่าวโดยตรงและโดยอ้อม จึงทำให้ระดับราคาปุ๋ยในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่า ผลกระทบลูกโซ่จากเหตุการณ์หนึ่ง ๆ สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด จากวิกฤตพลังงาน กลายเป็นวิกฤตการณ์ขาดแคลนสินค้าพื้นฐาน และจบที่วิกฤตอาหาร

ซึ่งสุดท้ายก็เริ่มเห็นผลจากราคาอาหารทั่วไปที่สูงขึ้น การปิดกั้นการส่งออกสินค้าพื้นฐานของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งการกระตุ้นซ้ำเติมให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงยิ่งขึ้นในศรีลังกา ก็คือสัญญาณสำคัญของน้ำผึ้งหยดเดียวที่กำลังดำเนินอยู่เรื่อย ๆ

ทั้งนี้ สิ่งที่เราทุกคนสามารถทำได้ คือ การเตรียมความพร้อมและรับมือกับความไม่คาดคิดที่ได้เริ่มเข้ามาแล้วและอาจกำลังเข้ามาเพิ่มเติมอีก แต่การตื่นตระหนกและวิตกกังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่บนโลกนี้ก็ไม่ใช่ทางออกที่ดี

สุดท้ายนี้ สิ่งสำคัญในการรับมือสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งเรื่องที่ดีและเรื่องที่ไม่ดีนักในช่วงหลังจากนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด คือ

“ตื่นตัว แต่ไม่ตื่นตูม”

โดย ชย

อ้างอิง :

[1] วิกฤตอาหาร ดันราคาสินค้าทั่วโลกพุ่ง 37% สูงสุดรอบ 60 ปี

[2] ทำไมถึงเกิด “วิกฤตอาหารโลก” ภัยใหม่ 2022 หายนะของทุกประเทศ

[3] Weekend Focus : ‘ศรีลังกา’ เจอวิกฤตหนี้ท่วม-เสี่ยงล้มละลาย ประชาชนสุดทน! แห่ขับไล่ผู้นำตระกูล ‘ราชปักษา’

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า