Articles‘วิกฤตต้มยำกุ้ง 2540’ วิกฤตที่ทำให้ประเทศไทยล้ม ก่อนที่จะลุกขึ้นมาใหม่ เป็นไทยที่แข็งแรงมั่นคงกว่าเดิม

‘วิกฤตต้มยำกุ้ง 2540’ วิกฤตที่ทำให้ประเทศไทยล้ม ก่อนที่จะลุกขึ้นมาใหม่ เป็นไทยที่แข็งแรงมั่นคงกว่าเดิม

วิกฤตต้มยำกุ้ง หรือ วิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย ที่เกิดขึ้นใน พ.ศ.2540 ซึ่งผ่านมาถึง 25 ปีถึงปัจจุบัน ได้ทิ้งร่องรอยสำคัญจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้นที่ได้เป็นตราบาปของความเจ็บปวดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยกำลังเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วและดูมีความหวัง

ซึ่งร่องรอยความเจ็บปวดที่คนไทยต่างต้องแบกรับภาระดังกล่าว เช่น การปิดตัวของบริษัทห้างร้านเป็นจำนวนมาก ระดับราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ตกลงอย่างรวดเร็ว ความคึกคักทางเศรษฐกิจที่เคยคึกคักได้หายไปและไม่อาจจะเรียกกลับมาได้อีกในระดับที่เทียบเท่ากับช่วงก่อนวิกฤต

ทว่าเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้นได้กลายเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้ามาถึงปัจจุบัน และอาจเป็นก้าวที่มั่นคงยิ่งกว่า เมื่อมองถึงสถานการณ์โลกปัจจุบัน

ซึ่งร่องรอยสำคัญของเรื่องนี้ คือ การเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปครั้งใหญ่ โดยเฉพาะในด้านการเงินที่มีการปฏิรูปจากแรงกดดันภายในประเทศผ่านวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในช่วงขณะนั้นและแรงกดดันภายนอกประเทศที่บังคับให้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้เพื่อสามารถรับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจในครั้งนั้น หลาย ๆ อย่างในวันนี้ก็ที่มาจากเรื่องนี้

โดยในส่วนของแรงกดดันภายในประเทศ คือ การพยายามฟื้นฟูการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจให้กลับมาทำงานได้ตามปกติและทำให้อัตราการว่างงานลดน้อยลง หลังการล่มสลายของภาคเอกชนโดยเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในกลุ่มการเงิน ซึ่งทำให้ภาคส่งออกและภาคการท่องเที่ยวกลายเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่มีบทบาทสูงจากระดับค่าเงินที่อ่อนค่าลงและเป็นโอกาสในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกันการเข้าถึงแหล่งเงินจากภายนอกประเทศก็มาพร้อมกับเงื่อนไขที่เด็ดขาดจากผู้ให้เงินกู้และก็ต้องจำใจยอมรับเงื่อนไขการได้รับเงินกู้เร่งด่วนจากหลายแหล่งเพื่อใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาปกติดี โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งสกุลเงินต่างประเทศที่มีความจำเป็นเร่งด่วน

และนโยบายที่เกิดขึ้นจากเงื่อนไขการได้รับเงินกู้ก็มีทั้งกรอบเวลาในการเริ่มแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชนเพื่อส่งเสริมการแข่งขันทางเศรษฐกิจในตลาดทุนนิยมและลดภาระค่าใช้จ่ายการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจโดยภาครัฐ ที่เป็นเงื่อนไขสำคัญจากผู้ให้เงินกู้สกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งก็มีหลายรัฐวิสาหกิจที่ถูกแปรรูปเป็นเอกชนและก็มีหลายรัฐวิสาหกิจที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจมาถึงตอนนี้

รวมทั้งนโยบายทางการเงินที่จำเป็นต้องมีการรัดเข็มขัด หรือควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณอย่างเข้มงวด ตัดทอนรายจ่ายที่ไม่จำเป็น รวมทั้งการดำเนินนโยบายทางการเงินและคลังที่เข้มงวดกว่าช่วงก่อนวิกฤตอยู่มาก ในจุดนี้แม้ว่าจะไม่ได้มีบังคับใช้นโยบายรัดเข็มขัดจากผู้ให้กู้ในระยะหลัง ๆ แล้วแต่ก็ยังส่งผลต่อนโยบายทางการเงินอยู่เป็นอันมากในลักษณะการดำเนินนโยบายที่ระมัดระวัง

อาทิ การให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ชัดเจนมากขึ้นโดยบทบาทในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินที่ได้ถูกให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ

รวมทั้งการสะสมทุนสำรองระหว่างประเทศให้มีปริมาณที่มากเพียงพอในการรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดในอนาคต ซึ่งเคยทำให้เงินทุนสำรองหายไปแทบทั้งหมด โดยจากการดำเนินนโยบายทางการเงินดังกล่าวได้ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยมีจำนวนมหาศาลและติดอันดับโลก

และยังมีผลถึงการกู้เงินในการใช้จ่ายภาครัฐในช่วงหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เน้นการกู้เงินจากภายในประเทศมากกว่าภายนอกประเทศซึ่งได้ปรากฏขึ้นในรูปแบบสัดส่วนหนี้สาธารณะไทยที่มีสัดส่วนจากการกู้ยืมจากแหล่งเงินภายในประเทศเป็นสัดส่วนหลักของหนี้สาธารณะไทย

เพราะบทเรียนจากกู้เงินในสกุลเงินต่างประเทศของภาคเอกชนที่ปริมาณหนี้ได้สูงขึ้นรวดเร็วจากการลอยค่าเงินก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง และยังทำให้มีกรอบวินัยการเงินที่กำหนดกรอบขีดจำกัดหนี้สาธารณะภายในประเทศเพื่อไม่ให้มีหนี้สาธารณะในสัดส่วนที่มากจนเกินไป

ตรงนี้ คือ มรดกและร่องรอยที่วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ได้ส่งต่อให้ปัจจุบันนี้ การปล่อยกู้เงินจากธนาคารไม่ได้เป็นล่ำเป็นสันเหมือนช่วงก่อนวิกฤต การใช้จ่ายเงินในอนาคตไม่คล่องตัวเหมือนช่วงก่อนวิกฤต การมีมาตรการตรวจสอบการเงินที่เข้มงวดและมีมาตรการสำรองรองรับมากมาย

รวมทั้งการให้ความสำคัญกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากกว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงก็เกิดขึ้นหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่นี้ เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจโดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นการเติบโตแบบฟองสบู่ที่เป็นการเจริญเติบโตเกินความเป็นจริงซึ่งเมื่อเกิดปัจจัยอ่อนไหวใด ๆ เกิดขึ้นก็จะทำให้มูลค่าเทียมเหล่านั้นหายไปอย่างรวดเร็ว

ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือรากฐานทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากบทเรียนราคาแพงที่ต้องแบกรับและทำให้นโยบายเศรษฐกิจรวมทั้งพฤติกรรมการใช้เงินเปลี่ยนไปมาจนถึงทุกวันนี้ไปในทางที่ระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น โดยมีการนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันและแนวนโยบายแห่งรัฐ

จริง ๆ แล้ว แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงได้มีการกล่าวถึงมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 มาเรื่อย ๆ แต่กระแสการตอบรับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของคนไทยอย่างล้มหลามนั้น เกิดขึ้นหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ.2540 และได้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงถูกนำเสนอและเอาใช้งานอย่างจริงจังในภาครัฐและประชาชนหลังจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจได้อุบัติขึ้น

จุดนี้ คือ จุดสำคัญที่ทำให้หลาย ๆ คนเริ่มกังขาในวัฒนธรรมการใช้ชีวิตช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจที่มีความเป็นบริโภคนิยมและให้ความสำคัญกับการใช้เงินในอนาคตมาใช้ในสิ่งต่าง ๆ มากกว่าที่จะสร้างเสถียรภาพทางการเงินของตนเองและเน้นการพึ่งพาตนเอง และปรากฏการณ์ทางสังคมนี้ก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใดและมีแนวโน้มจะกังขามากขึ้นไปอีกจากสถานการณ์โลก

ทั้งนี้ จากเรื่องราวนี้สามารถกล่าวได้ว่า มรดกจากเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ.2540 ที่เกิดขึ้นจากการลอยค่าในวันที่ 2 กรกฎาคม และได้ครบรอบ 25 ปีในวันนี้ ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนจิตใจคนไทยเป็นอย่างยิ่ง มีการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และได้เปลี่ยนแปลงหลาย ๆ สิ่งในสังคมไทยและยังคงส่งผลตกทอดผ่านความทรงจำของคนไทยที่ยังคงจดจำเหตุการณ์เหล่านี้ได้ดี

โดย ชย

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า