Articlesการอ้างสิทธิ จากจำนวนภาษีที่จ่าย คือการสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม

การอ้างสิทธิ จากจำนวนภาษีที่จ่าย คือการสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม

รายได้หลักของประเทศไทยมาจาก “ภาษีเงินได้” และ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” ซึ่งภาษีเงินได้นั้น หมายถึงรวมทั้ง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลนั่นเอง

และภาษีทั้งสองนี้ ถือว่าเป็นรายได้หลักของประเทศไทย ซึ่งจากข้อมูลเปิดของรัฐบาลผ่าน “ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ” จะพบว่า ปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลมีรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม, ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 793,243.11, 625,382.19 และ 334,408.68 ล้านบาท [1] ซึ่งเมื่อเทียบกับ ผลรวมรายได้จัดเก็บของรัฐบาล ในปี 2564 แล้ว จะเห็นได้ว่า ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ ภาษีเงินได้นิติบุคคลเพียงอย่างเดียว มีรายได้มากกว่ารายได้จากกรมสรรพสามิต หรือกรมศุลกากรเสียอีก ในขณะที่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีมูลค่าน้อยกว่ากรมสรรพสามิตเพียง 2แสนล้านบาทเท่านั้น [2]

ด้วยจำนวนที่มากของภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT นี้เอง ที่ทำให้ภาษีส่วนนี้ มักถูกใช้ในการอ้างสิทธิของคนบางกลุ่ม

ดังนั้น เรามาทำความรู้จักกับภาษี VAT และภาษีเงินได้ ซึ่งเป็น 3 ภาษีดาวรุ่งของประเทศของเรากันดีกว่า

ภาษี สามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ภาษีทางตรง (Direct Tax) และ ภาษีทางอ้อม (Indirect Tax) [3] ซึ่งภาษีเงินได้ และภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีทางตรง และภาษีทางอ้อมทั้งคู่

ภาษีทางตรง คือภาษีที่เรียกเก็บจากผู้ถือครอง หรือผู้กระทำโดยตรง เช่น ภาษีเงินได้, ภาษีที่ดิน หรือภาษีป้าย ที่ต้องเสียเมื่อบุคคลนั้นมีรายได้, มีที่ดิน หรือมีป้ายเพื่อการโฆษณา

ในขณะที่ภาษีทางอ้อมนั้น เป็นภาษีที่เกิดขึ้นจากการส่งมอบสินค้าและบริการ เช่นภาษีการขาย, ภาษีมูลค่าเพิ่ม และอากรแสตมป์ (อย่าสับสนกับแสตมป์ไปรษณีย์ คนละตัวกัน)

ดังนั้น ภาษีเงินได้ทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลนั้น คือภาษีที่คิดจาก “รายได้” ของบุคคลนั้นโดยตรงนั่นเอง

ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น มีความหมายที่ตรงตัวเลยว่า “ภาษีที่เก็บตามมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของสินค้าและบริการ” [4] นั่นเอง

เพื่อให้ง่าย จะอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบดังนี้

คุณเอก (นามสมมติ) เสนอขายสินค้า A ด้วยการนำสินค้า B และ C มาประกอบเข้าด้วยกัน โดยเขาขาย A ในราคา 100 บาท ในขณะที่ซื้อ B และ C มาในราคา 30 และ 20 บาท ตามลำดับ ซึ่งเท่ากับคุณเอกจะมีกำไรจากการขาย A ชิ้นละ 50 บาท

ภาษี VAT ที่มาจากการขายสินค้านั้น จะถูกเรียกว่า “ภาษี VAT ขาย” หรือย่อว่า “VAT ขาย”

ในขณะที่ ภาษี VAT ที่มาจากการซื้อสินค้านั้น จะถูกเรียกว่า “ภาษี VAT ซื้อ” หรือย่อว่า “VAT ซื้อ”

ซึ่งคุณเอก มีหน้าที่รวบรวมตัวเลข VAT ขาย มาหักลบออกด้วย VAT ซื้อ ตัวเลขที่เหลือคือ ยอดภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่งสรรพากรนั่นเอง

ดังนั้น คุณเอก จะต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้สรรพากร 3.5บาทต่อการขายสินค้า A 1 ชิ้นนั่นเอง (7% ของ มูลค่าที่เพิ่มขึ้น 50 บาท)

อย่างไรก็ตาม ภาษี VAT นั้น ผู้ประกอบกิจการ (ในที่นี้คือ คุณเอก) เป็นผู้มีหน้าที่นำส่งสรรพากร แต่มิได้แปลว่า ผู้ขายคือผู้จ่ายภาษี ดังนั้น คุณเอกอาจจะคิดราคาสินค้า A 100 บาท เป็นราคาไม่รวมภาษี (VAT Excluded) หรือ ราคารวมภาษี (VAT Included) ก็ได้ และคุณเอกนั้น อาจจะซื้อ B และ C ในราคารวมภาษี หรือไม่รวมภาษีก็ได้ ขึ้นอยู่กับการตกลงใจของผู้ขายกับผู้ซื้อ โดยสรรพากรจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการต่อรอง

สำหรับภาษีเงินได้นั้น ไม่ว่าคุณเอกจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลก็ตาม ภาษีเงินได้จะถูกคิดจาก “ผลกำไรสุทธิ” ตลอดทั้งปี ซึ่งหมายถึงผลรวมของรายได้ทั้งหมด หักลบออกด้วยค่าใช้จ่ายทั้งหมด เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าไฟฟ้า ค่าปะปา ค่าเช่าที่ ฯลฯ

ซึ่งแปลว่า ภาษีเงินได้ คิดจากผลประกอบการโดยตรง ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม คิดเพิ่มจากความสามารถในการเพิ่มมูลค่าของสินค้านั่นเอง

อย่างไรก็ตาม

การอ้างสิทธิของตนเอง ด้วยการอ้างการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น คือ “ตรรกะวิบัติ” ขั้นรุนแรง

ที่สำคัญ

การอ้างจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่จ่าย ตามจำนวนสิทธิที่ตนเองพึงได้รับนั้น เป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำ และความไม่เท่าเทียมกันในสังคม

เนื่องจาก ภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น เก็บได้มากขึ้น ตามมูลค่าสินค้าที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ผู้ที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มปีละมาก ๆ คือผู้ที่มีอำนาจซื้อสูง ซึ่งนั่นหมายถึงคนรวย ผู้ดีมีอันจะกินนั่นเอง

ผู้มีรายได้ตามค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท คิดว่าปีหนึ่ง ๆ เขาจะมีศักยภาพในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้ปีละเท่าไรกัน ?

ดังนั้น การอ้างสิทธิตามจำนวนภาษีที่ตนจ่ายนั้น คือการ “สร้างความเหลื่อมล้ำ” ให้แก่สังคม

ถ้ามีคนนึงอ้างว่า “เพราะฉันจ่าย ฉันจึงควรได้” แล้วถ้ามีอีกคนอ้างว่า “เพราะฉันจ่ายมากกว่า ฉันจึงควรได้มากกว่า”

แล้วเราจะเอาความเสมอภาคในสังคมไปไว้ตรงไหนดี ?

ภาษี ไม่ใช่เงินที่ต้องจ่ายเพื่อให้ได้มา แต่คือเงินที่เราจ่ายเพื่อการแบ่งปัน

เพื่อให้รัฐใช้ในการบริหารรัฐกิจ สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้ทุกคนในสังคมได้ใช้สอยร่วมกัน ให้รัฐนำเอาไปสร้างระบบรัฐสวัสดิการ เพื่อช่วยเหลืออุ้มชูผู้ไม่มี ให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตร่วมกับพวกเราทุกคนได้อย่างผาสุข เสมอภาค และสง่างาม

ภารดรภาพในสังคมจะเกิดได้ หากทุกคนในสังคม ร่วมใจกันเสียสละ เพื่อพัฒนาสังคมแห่งความสุขร่วมกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า