Articlesเวเนซุเอลา ที่ผงาดขึ้นและตกต่ำลงจากการทวงคืนน้ำมันเป็นของรัฐ

เวเนซุเอลา ที่ผงาดขึ้นและตกต่ำลงจากการทวงคืนน้ำมันเป็นของรัฐ

เวเนซุเอลา ดินแดนที่ครั้งหนึ่งคือ ดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์เพราะอยู่ในบริเวณเขตร้อนและสามารถเพาะปลูกได้ง่าย มีทรัพยากรธรรมชาติมหาศาลโดยเฉพาะทรัพยากรน้ำมัน และอยู่ในบริเวณทวีปอเมริกาใต้ที่ไม่ได้มีความขัดแย้งระหว่างประเทศมากนักเมื่อเทียบกับทวีปอื่น ๆ ในโลกที่มีความตึงเครียดมากกว่า

 

การที่มีปัจจัยเหล่านี้ครบถ้วนก็มักจะหมายถึง ความมั่งคั่งที่ประเทศควรจะได้รับและพัฒนาสู่ความรุ่งเรืองเหมือนกรณีของนอร์เวย์ ออสเตรเลีย และ แคนาดา ที่เป็นประเทศที่มีคุณภาพชีวิตและระดับรายได้ดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก จากการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรอันมีค่าเหล่านี้

 

ทว่าเวเนซุเอลา กลับอยู่ในวงจรของความทุกข์ที่ต้องเผชิญอย่างยาวนานในรูปแบบของวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจที่สะสมเรื้อรังมายาวนานและได้กลายเป็นความเวทนาที่สังคมโลกได้รับรู้ผ่านสื่อทั่วโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นในประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์เช่นนี้

 

ทั้งที่เวเนซุเอลาคือ ประเทศที่มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติน้ำมันสำรองที่มีการค้นพบเจอแล้วในระดับปริมาณที่สูงที่สุดในโลก ยิ่งกว่าซาอุดีอาระเบียและรัสเซียที่เป็นผู้ผลิตแหล่งพลังงานน้ำมันรายใหญ่เสียอีก และ 2 ประเทศที่กล่าวมาถ้าไม่ใช่มหาอำนาจทางการทหารก็ต้องเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งสูง

 

ซึ่งเวเนซุเอลาเองก็ใช่ว่าจะเป็นประเทศยากจนมาโดยตลอด ที่จริงแล้วหลังการค้นพบแหล่งพลังงานน้ำมันโดยบริษัทน้ำมันต่างชาติในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา

 

เวเนซุเอลาก็ คือ ประเทศที่มีคุณภาพชีวิตดีและมีอนาคตที่สดใสจากการส่งออกทรัพยากรปิโตรเลียมและสินค้าทางการเกษตรที่ต่างก็เป็นสินค้าชั้นเลิศทั้งสิ้น เศรษฐกิจเวเนซุเอลากลายเป็นความรุ่งเรืองที่ครั้งหนึ่งดึงดูดแรงงานจากประเทศต่าง ๆ เข้ามาทำงานในประเทศ รวมทั้งผู้คนจากสหรัฐอเมริกาพร้อมกับการพัฒนาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วประเทศ

 

และยิ่งรุ่งเรืองขึ้นไปอีกท่ามกลางวิกฤตเงินเฟ้อครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงยุค 1970 ที่เกิดจากราคาน้ำมันสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่เวเนซุเอลาที่มีอยู่ รวมทั้งการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันของชาติตะวันออกกลางต่อประเทศชาติตะวันตก จึงทำให้ชาติตะวันตกมองเวเนซุเอลาเหมือนเป็นแหล่งน้ำมันที่เชื่อถือได้เป็นเหตุให้เงินมหาศาลไหลเข้าประเทศครั้งใหญ่

 

จุดนี้ทำให้ประเทศนี้กลายเป็นประเทศที่ร่ำรวย ประชาชนชนชั้นกลางมีคุณภาพชีวิตที่ดี นิยมการเดินทางไปต่างประเทศและใช้ชีวิตอย่างสุขสบายเหมือนในประเทศโลกที่ 1 ก็ไม่ผิดนัก

 

แต่ด้วยเม็ดเงินมหาศาลที่เข้าประเทศมาหลายสิบปีทำให้ภาครัฐมีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าที่จะเรียกคืนบริษัทพลังงานเอกชนที่ดำเนินการภายในประเทศให้เป็นของรัฐทั้งหมด ภายใต้รัฐวิสาหกิจน้ำมันแห่งชาติเวเนซุเอลา ด้วยเหตุผลที่ต้องการรวบความมั่งคั่งจากกิจการน้ำมันที่มีอยู่มาก

 

และใช้รายได้จากน้ำมันในการพัฒนาประเทศตามที่ภาครัฐต้องการโดยเฉพาะใช้ในนโยบายประชานิยมซึ่งเกิดขึ้นโดยสม่ำเสมอเมื่อระดับราคาน้ำมันโลกกำลังสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงเวลาดังกล่าว

 

ที่จริงแล้วนโยบายการทวงคืนพลังงานของเวเนซุเอลาเกิดขึ้นมานานหลายสิบปีแล้วตั้งแต่การบัญญัติข้อกฎหมายที่ให้รายได้จากน้ำมันของภาคเอกชนจะต้องแบ่งให้ภาครัฐร้อยละ 50 ในปี ค.ศ.1943 การทวงคืนแหล่งก๊าซธรรมชาติให้เป็นของรัฐ การเข้าไปยึดทรัพย์สินแหล่งสำรวจพลังงานให้เป็นของรัฐโดยไม่ชดเชยเมื่อหมดอายุสัมปทาน รวมทั้งการออกกฎหมายให้รัฐมีอำนาจในกิจการน้ำมัน ในปี ค.ศ.1971

 

จนในปี ค.ศ.1976 ก็ได้มีการประกาศการทวงคืนพลังงานอย่างสมบูรณ์ ภายใต้รัฐวิสาหกิจเวเนซุเอลา PDVSA ทำให้อำนาจในการประกอบกิจการปิโตรเลียมทั้งหมดเป็นของรัฐ และรายได้ทั้งหมดก็เข้าสู่รัฐเช่นเดียวกันในปริมาณมหาศาลและสามารถทำอะไรได้ต่าง ๆ นานา

 

อย่างไรก็ตาม การทวงคืนพลังงานกลับเป็นการเร่งปัญหาหนึ่งของเวเนซุเอลา คือ การพึ่งพารายได้หลักจากทรัพยากรธรรมชาติ ที่รุนแรงหนักขึ้นจากระบบการบริหารของรัฐวิสาหกิจที่เปิดโอกาสให้มีการทุจริตในองค์กรมากกว่าในการบริหารแบบเอกชน รวมทั้งแรงจูงใจในการขยายขีดความสามารถของหน่วยงานก็ลดลงเพราะไม่ได้มีการแข่งขันและเป็นองค์กรผูกขาดอุตสาหกรรมปิโตรเลียม

 

หนักกว่านั้น รายได้ส่วนใหญ่จากอุตสาหกรรมน้ำมันหลังการทวงคืนพลังงานไม่ได้เข้าไปพัฒนาขีดความสามารถประเทศจริง แต่กลับใช้ในการประชานิยมและการใช้จ่ายในทางการเมือง มากกว่าการใช้จ่ายกับการลงทุนในระยะยาวและการขยายขีดความสามารถในการหารายได้เพิ่มเติมเข้าประเทศนอกเหนือจากน้ำมันที่ได้ครอบงำและเป็นอุตสาหกรรมหลักของชาติไปแล้ว

 

จุดแรกของภัยพิบัติครั้งใหญ่เกิดขึ้นในช่วงกลางยุค 1980 ที่ราคาน้ำมันตกลงอย่างรวดเร็ว ทำให้รายได้ของประเทศที่มีอยู่หายไปเป็นจำนวนมาก และทำให้เกิดวิกฤตการเมืองและเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ซึ่งภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ โดยเฉพาะการเกษตรที่เคยเป็นรายได้หลักในช่วงก่อนการค้นพบน้ำมันแทบไม่มีความสำคัญ จึงทำให้วิกฤตเศรษฐกิจเป็นวิกฤตที่ร้ายแรงและทำลายคุณภาพชีวิตลงอย่างสิ้นซาก

 

และการเข้ามาของแนวคิดสังคมนิยมในเวเนซุเอลาในช่วงขึ้นศตวรรษที่ 21 ในจังหวะเดียวกับที่ระดับราคาน้ำมันโลกกำลังเพิ่มขึ้นอีกระลอกหนึ่ง ก็มีการใช้นโยบายการทวงคืนพลังงานที่รุนแรงอีกระดับหนึ่ง คราวนี้คือการยึดทรัพย์สินของต่างชาติที่มีบทบาทในอุตสาหกรรมเวเนซุเอลาเดิมอย่างเด็ดขาด และมีการนำรายได้ขั้นต่ำร้อยละ 10 จากรัฐวิสาหกิจน้ำมันในการทำโครงการประชานิยมอีกรอบหนึ่ง

รอบนี้คือเป็นประชานิยมจัดหนักกว่ารอบก่อน และถูกใจคนเวเนซุเอลาจนได้รับเลือกตั้งในสมัยต่อไป สูตรเดียวกับการทวงคืนพลังงานที่เบากว่าในช่วงศตวรรษที่ 20 แต่โหดกว่าและจริงจังกว่า

 

ซึ่งเมื่อราคาน้ำมันตกลงอย่างรุนแรงในช่วงหลังวิกฤตหนี้ซับไพรม์ หายนะรอบก่อนที่ว่าหนักแล้ว รอบนี้คือหนักกว่าเพราะโดนสหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในช่วงสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และขีดความสามารถอุตสาหกรรมน้ำมันของเวเนซุเอลาที่มีการอัตราการผลิตน้ำมันถดถอยลงกว่าช่วงศตวรรษก่อน

 

และสิ่งที่รัฐบาลสังคมนิยมทำคือ การพิมพ์เงินเป็นจำนวนมากเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ พร้อมกับการตรึงค่าเงินของประเทศที่แข็งค่ากว่าปกติที่ควรเป็น ทำให้เกิดวิกฤตเงินเฟ้อในระดับมหาศาลเข้ามาซ้ำเติมประเทศที่ก็กำลังเผชิญวิกฤตสารพัดอย่างอยู่ในขณะนี้

 

สิ่งที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นความทุกข์ทรมานของคนเวเนซุเอลาที่ต้องแบกรับชะตากรรมของประเทศที่ขึ้นอยู่กับระดับราคาน้ำมันในตลาดโลก และรักษาอัตราการผลิตน้ำมันออกมาสู่ตลาดโลก

 

การที่มีกลุ่มบุคคลหนึ่งมีความพึงปรารถนาที่จะทวงคืนแหล่งพลังงานหรือบริษัทพลังงานเป็นของรัฐก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่แย่อะไรมากนัก และคงจะดีถ้าทรัพยากรของรัฐถูกใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน มากกว่าเพื่อแสวงผลกำไรขององค์กรเอกชนเพียงอย่างเดียว

 

แต่บางทีการเข้าใจกรณีศึกษาของเวเนซุเอลาที่ก็มีจุดเริ่มต้นแบบเดียวกัน แต่มีขนาดแหล่งน้ำมันที่ใหญ่กว่า มีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่น้อยกว่า และมีประชากรที่น้อยกว่า แต่กลับมีจุดจบที่โหดร้ายเพราะการทวงคืนน้ำมันได้สร้างผลเสียขนานใหญ่ต่อประเทศในด้านขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศและการทุจริตเชิงนโยบายที่เคยเกิดขึ้นในเวเนซุเอลามาก่อน

 

ก็อาจทำให้เข้าใจได้เป็นอย่างดีว่า “บางครั้งปล่อยให้ภาคเอกชนที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงได้บริหารองค์กรเองและให้รัฐถือหุ้นส่วนหนึ่งพร้อมกับอำนาจกำกับดูแลในยามจำเป็นน่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากกว่าที่จะควบคุมเองทั้งหมด” เพราะกรณีเวเนซุเอลาที่เป็นความทุกข์ทรมานบนแผ่นดินน้ำมันอันอุดมสมบูรณ์ได้บอกเราแล้วว่า..

 

“ทวงคืนน้ำมันเป็นของรัฐมันไม่เวิร์ค”

 

โดย ชย

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า