Articlesปัญหาขยะพลาสติก และการรับมือของรัฐบาลไทย

ปัญหาขยะพลาสติก และการรับมือของรัฐบาลไทย

ที่ผ่านมา โลก และอีกหลายประเทศ ซึ่งรวมไปถึงประเทศไทย ยังไม่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากขยะพลาสติก กระทั่งมีการค้นพบและตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติก โดยเฉพาะในทะเล

ในประเทศไทย พบพลาสติกจำนวนมากในท้องวาฬเกยตื้น ซึ่งไม่เพียงวาฬเท่านั้น แต่ยังมีสัตว์ทะเลชนิดอื่นเช่นเต่า ที่เสียชีวิตเนื่องจากกลืนพลาสติกลงท้องไป

การตายของ “มาเรียม” น้องพะยูนขวัญใจคนไทย ซึ่งภายหลังพบว่าน้องตายเพราะมีเศษพลาสติกหลายชิ้นขวางทางลำไส้ของน้อง ทำให้คนไทยหลายคน ตระหนักถึงปัญหา และเริ่มรณรงค์ช่วยกันเก็บขยะตามชายฝั่งทะเล

แต่จะอย่างไรก็ตาม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า กลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในท้องทะเล แต่ถูกละเลยมาตลอดนั้นคือ “ขยะชุมชน

ซึ่งหากมีการจัดการให้ชุมชนคัดแยกและกำจัดขยะได้อย่างเป็นระบบและทั่วถึงจะไม่เพียงแก้ปัญหาขยะทั่วไปได้ แต่จะช่วยแก้ปัญหาขยะทะเลได้ด้วย

และรายงานของ TDRI นี้มีความสอดคล้องกับ “Plastic Waste Material Flow Analysis for Thailand” ของธนาคารโลกด้วย

นอกจากนี้ TDRI ยังระบุว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนในชุมชนที่ห่างไกล ทำให้ชุมชนเหล่านั้น ขาดศักยภาพและความพร้อมในการจัดการขยะ

และปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่อำนวย เช่น ขาดถังขยะ ไม่มีรถเก็บขยะ ก็เป็นสาเหตุให้เกิดการทิ้งขยะอย่างไม่ถูกต้อง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่เป็นจังหวัดที่มีที่ตั้งอยู่บนเทือกเขา และเข้าถึงได้ยากนั้น จากฐานข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีวิธีการกำจัดขยะด้วยการเทกองมากถึง  98  หลุม ซึ่งทั้งหมดนั้น เป็นวิธีการกำจัดขยะที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการเลยสักหลุมเดียว

สำหรับในระดับประเทศ รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาขยะเป็นอย่างดี และมีความพยายามที่จะผลักดันปัญหาขยะให้เป็น “วาระแห่งชาติ” ตั้งแต่การประชุมคณะรัฐมนตรีรอบแรก หลังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 ซึ่งในปัจจุบัน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออก “Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573” เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาขยะ โดยยึดกรอบแนวคิด 5 ประการดังนี้

  1. การจัดการพลาสติกตลอดวงจรชีวิต
    2. หลักการ 3R (Reduce, Reuse, Recycle)
    3. หลักการมีส่วนร่วมจากภาครัฐและเอกชน
    4. แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
    5. ผู้ผลิตมีส่วนร่วมใจการกำจัดขยะพลาสติก

    และตามแผนของ Roadmap นั้นในปีนี้ รัฐบาลจะต้องยกเลิกพลาสติก 4 จำพวกดังนี้
    1. กล่องโฟมบรรจุอาหาร
    2. แก้วพลาสติกแบบบางใช้ครั้งเดียว
    3. ถุงพลาสติกหูหิ้วที่มีความหนามากกว่า 36 ไมครอน
    4. หลอดพลาสติก

และใน พ.ศ. 2570 นำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ได้ 100% ภายใต้แนวคิด เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งนี่รวมไปถึงการนำขยะไปเผาเป็นพลังงานไฟฟ้า หรือการนำพลาสติกมาผลิตเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel : RDF) ด้วย

โดยผลที่รัฐบาลคาดว่าจะได้รับคือ

– ลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดประมาณ 0.78 ล้านตันต่อปี และประหยัดงบประมาณใน การจัดการขยะมูลฝอยประมาณ 3,900 ล้านบาทต่อปี

– ประหยัดพื้นที่รองรับและกำจัดขยะมูลฝอย พลาสติก โดยการลด คัดแยก และนำขยะ พลาสติกกลับ มาใช้ใหม่ จะช่วยประหยัดพื้นที่ฝังกลบประมาณ 2,500 ไร่ สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือน กระจก เท่ากับ 1.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซต์ 

– ประหยัดพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติในกระบวนการผลิต เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้วัตถุดิบใหม่ ได้ 43.6 ล้านล้านบีทียู หรือคิดเป็นน้ำมันดิบประมาณ 7.54 ล้านบาร์เรล คิดเป็นมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท



อย่างไรก็ตาม กรีนพีช ประเทศไทย ได้จัดทำบทความวิจารณ์รัฐบาล และ ปัญหาของ Roadmap  ฉบับนี้ในบทความ “บทวิพากษ์ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก (พ.ศ.2561-2573)

โดยกรีนพีชมองว่า เป็นเพียงการ “สร้างสัญลักษณ์” ในทางสากล แต่ขาดรูปธรรมในการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติ

อีกทั้งติติงว่า การเผาขยะเพื่อนำไปเป็นพลังงานนั้น จะสร้างก๊าซเรือนกระจก ซึ่งใน Roadmap ของรัฐบาล มิได้ระบุถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่อาจเกิดขึ้นจากการเผาขยะเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า

นอกจากนี้ หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต การส่งเสริมการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และหลักการ การผลิตอย่างมีความรับผิดชอบนั้น ยังขาดรูปธรรมที่ชัดเจน

ที่สำคัญ กรีนพีชรายงานว่า การเอา Roadmap การแก้ปัญหาขยะไปผูกไว้กับ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) นั้น กลายเป็นการสร้างข้อจำกัดให้แก่การปฏิบัติงาน 

เนื่องจากถ้าหากแผนงานที่เสนอ ไม่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฯ ก็จะทำให้ยากต่อการร้องของบประมาณสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม ในท้ายรายงานของกรีนพีช กรีนพีชก็ไม่ได้เสนอทางออกใด ๆ ให้แก่ภาครัฐ นอกจากร้องขอให้เปิดเวทีสาธารณะ และยกเลิกการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจพลังงานจากเชื้อเพลิงขยะพลาสติก และการอนุญาตนำเข้าเศษ พลาสติกเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

สุดท้ายนี้

การกำจัดขยะพลาสติก การลดมลพิษและภาระต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับมาใสสะอาดดังเดิมนั้น เป็นความรับผิดชอบร่วมของทุกผู้คนในสังคม ไม่ว่าจะภาคประชาชน ประชาสังคม เอกชน หน่วยงานรัฐ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นขึ้นมาจนถึงคณะรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี

ที่สำคัญ ขยะในมือของเรา เราสามารถช่วยกันบริหารจัดการได้ ด้วยการตั้งสติคิดสักนิด ก่อนที่จะทิ้งขยะในมือของเรา

สำหรับการบริหารจัดการให้มีการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการขยะนั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาล และกระทรวงต่าง ๆ ในส่วนกลางล้วนให้การสนับสนุนผ่านนโยบายอยู่แล้ว

ประชาชน ชุมชน และกลุ่มมวลชน สามารถติดตาม ตรวจสอบการเสนอของบประมาณของหน่วยปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเสนอโครงการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นของพวกท่าน ตั้งแต่ระดับ อบต ขึ้นมาสู่ระดับจังหวัดได้ 

นี่เป็นสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ในการเรียกร้องและตรวจสอบการทำงานของส่วนราชการอยู่แล้ว

การแก้ปัญหาของประเทศ ของชุมชนและสังคม จำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจกันของทุกภาคส่วนในสังคม ขอให้พวกเราทุกคน ร่วมแรงร่วมใจ แก้ไขปัญหาขยะและปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมกันนะครับ

โดย ศิราวุธ ภุมมะกสิกร

อ้างอิง :

[1] “The Dilemma of Waste during COVID-19 Pandemic”, เทียร่า กมลวัฒนาวิทย์ (พ.ศ. 2564), มูลนิธิไฮน์ริช บอลล์ 

[2] “กู้วิกฤติขยะทะเลไทย ควรใช้ไม้แข็งหรือไม้อ่อน”, กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์, วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ และประมณฑ์ กาญจนพิมลกุล (พ.ศ. 2562), สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) 

[3] “ขยะทะเล วาระชาติต้องไม่ละเลยชุมชน”, เยาวลักษณ์ จันทมาศ และอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา (พ.ศ. 2564) , สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) 

[4] “Plastic Waste Material Flow Analysis for Thailand”, World Bank (2022) 

[5] “สถานที่กำจัดขยะ แม่ฮ่องสอน พ.ศ.2564”, ระบบสารสนเทศด้านการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

[6] ““ขยะ” วาระแห่งชาติ”, Best Living Taste (พ.ศ. 2560) 

[7] “Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573”, กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

[8] “Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 ของไทย”, รายการ ร้อยเรื่อง…เมืองไทย สถานีวิทยุกระจายเสียงรัฐสภา (พ.ศ. 2562) 

[9] “Thailand Roadmap on Plastic Waste Management”, Enviliance Asia 

[10] “บทวิพากษ์ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก (พ.ศ.2561-2573)”, Greenpeace Thailand 

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า