Articlesประเทศไทยมีเจตจำนงในการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการจริงหรือ?

ประเทศไทยมีเจตจำนงในการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการจริงหรือ?

จากกรณีที่มีการฟ้องร้องทั้งทางแพ่ง และมีการเรียกร้องให้มีการไต่สวนในกรณีที่วิทยานิพนธ์ของนายณัฐพล ใจจริง ถูกพบว่ามีการใช้ “อ้างอิงที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีอยู่จริง” นั้น ทำให้เกิดการวิพากวิจารณ์กันอย่างกว้างขวางระหว่าง “การให้เสรีภาพในทางวิชาการอย่างไม่มีขอบเขต” กับ “ความรับผิดชอบต่อบุคคลอื่นที่ได้รับผลกระทบจากการถูกอ้างถึง”

เสรีภาพในทางวิชาการนั้น อาจารย์เบญจรัตน์ แซ่ฉัว อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ให้ความหมายที่ดีว่า นักวิชาการควรมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นเท่ากับประชาชนทั่วไป แต่ในฐานะผู้แสวงหาความรู้ใหม่ ๆ นั้น รัฐไม่ควรจะใช้อำนาจที่มีเข้ามาทำการกดขี่กดดันมิให้นักวิชาการแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ [1]

อย่างไรก็ตาม ศ. ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยให้ความเห็นถึง “ขอบเขตของเสรีภาพทางวิชาการ” ว่า “เสรีภาพทางวิชาการมันถูกจำกัดโดยตัวของมันเองเมื่อมันไปปะทะกับเสรีภาพประการอื่นซึ่งมีความสำคัญกว่า เช่น เราจะใช้เสรีภาพในทางวิชาการนำมนุษย์มาทดลองไม่ได้เพราะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้นนักวิชาการจึงจะอ้างเสรีภาพตลอดไม่ได้ เพราะเสรีภาพในทางวิชาการไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่มีเสรีภาพประการอื่นอยู่ด้วย” [2]

นี่จะเห็นได้ว่า แนวคิดของทั้งสองท่านนั้น สอดคล้องกับ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, มาตรา 29 ข้อ 2 ที่ว่า “ในการใช้สิทธิและเสรีภาพของตน ทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อความมุ่งหมายในการรับรองและเคารพในสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นเท่านั้น และเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดอันเที่ยงธรรมของศีลธรรม ความสงบเรียบร้อยของประชาชน และสวัสดิการทั่วไปในสังคมประชาธิปไตย” อย่างชัดเจน [3]

ดังนั้น เสรีภาพทางวิชาการนั้น ควรจะเป็นไปโดยเสรี ตราบเท่าที่ไม่กระทบต่อศีลธรรม ความสงบเรียบร้อย และสวัสดิการทั่วไปของสังคม

สำหรับในมุมของกฎหมายไทย รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ระบุในมาตรา 34 วรรค 2 ชัดเจนและสอดคล้องกับปฏิญญาสากล ฯ ว่า “เสรีภาพทางวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น” [4]

และเมื่อพิจารณาตามประมวลกฎหมายอาญา, ภาค 2 ความผิด, ลักษณะ 11 ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง, หมวด 3 ความผิดฐานหมิ่นประมาท แล้ว จะพบว่า ถึงแม้จะมีการระบุลักษณะความผิดฐานหมิ่นประมาทเอาไว้ในมาตรา 326 – 328 ก็จริง แต่ในมาตรา 329 กลับปกป้องผู้ถูกฟ้องชัดเจนว่า

“ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต [..] (๓) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ [..] ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท”

นอกจากนี้ มาตรา 330 วรรค 2 ระบุว่า “ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ”

ซึ่งนี่เห็นได้ชัดว่า กฎหมายไทย ให้ความคุ้มครองต่อผู้เผยแพร่ วิจารณ์โดยสุจริตอยู่แล้ว ดั่งที่อาจารย์เบญจรัตน์พูดถึง เพียงแต่ตัวนักวิชาการเองนั้น มีความจำเป็นที่จะต้อง แสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ถึง “ความสุจริตของงานวิชาการ” ของตน เมื่อถูกสังคมตั้งคำถาม

อีกทั้งยังต้องมีความรับผิดชอบ เพื่อมิให้เสรีภาพทางวิชาการของตน ไปกระทบกับสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นและสังคม ตามหลักการของ อ. วรเจตน์ และ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนั่นเอง

และนี่เป็นหลักปฏิบัติที่ประเทศอื่นเขาก็ทำกันด้วยเช่นกัน

ในยุโรป พ.ศ. 2563 ศาลเยอรมนีตัดสินให้ ดร. อันนา ไฮจโควา (Anna Hájková) มีความผิดฐานหมิ่นประมาททำให้ผู้อื่นเสื่อมเสียชื่อเสียง จากการกล่าวอ้างรายงานทางวิชาการที่ “มีแหล่งอ้างอิงที่พิสูจน์ไม่ได้” อันทำให้ทายาทของผู้ถูกกล่าวอ้างนั้นเสียหาย และในเรื่องนี้นั้น มหาวิทยาลัยวาร์วิค ต้นสังกัดของเธอ ก็มิได้ปกป้อง ดร. อันนาแต่อย่างใด แต่กลับไต่สวนจนยืนยันว่า “คำกล่าวอ้างของ ดร. ไฮจโควา ขาดหลักฐานที่เพียงพอที่จะสนับสนุนยืนยันในข้อเท็จจริง” [7]

ดร. แอนนา ไฮจโควา เป็นนักประวัติศาสตร์ ที่เชี่ยวชาญในประวัติศาสตร์ LGBTQ+ เป็นพิเศษ และมีเชื้อสายยิว แต่เธอถูกฟ้องร้องโดยลูกสาวของอดีตนักโทษชาวยิวในค่ายกักกันรายหนึ่ง จากการที่ไฮจโควากล่าวอ้างในงานวิชาการของเธอว่า แม่ของเธอนั้นมีเพศสัมพันธ์แบบเลสเบี้ยนกับผู้คุมค่ายกักกัน แอนนาลีสซา โคลแมนน์ (Anneliese Kohlmann) ทั้ง ๆ ที่เธอให้สัมภาษณ์ว่า แอนนาลีสซา เพียงชมชอบแม่ของเธอ จึงแอบช่วยเหลือ และไม่เคยพูดว่าแม่ของเธอมีเพศสัมพันธ์กับแอนนาลีสซา [9]

ในทางวิชาการ มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าแอนนาลีสซา เป็นเลสเบี้ยนจริง และมีความสัมพันธ์ทางเพศกับนักโทษหญิงบางคนในค่ายกักกันจริง [8] แต่ ดร. ไฮจโควา กลับไม่สามารถหาหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่า แม่ของผู้เสียหายมีความสัมพันธ์ทางเพศกับแอนนาลีสซาหรือไม่ ดร. ไฮจโควาจึงถูกศาลพิพากษาให้แพ้คดี [6]

คดีนี้ เป็นได้ชัดเจนว่า ดร. ไฮจโควา ทราบชัดอยู่แล้วว่า เธอไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า นักโทษชาวยิวคนนั้นมีเพศสัมพันธ์กับแอนนาลีสซาหรือไม่ แต่กลับไม่ซื่อสัตย์ต่อความเป็นนักวิชาการ เขียนข้อความอันพิสูจน์ไม่ได้ว่าจริง จนทำให้ผู้อื่นเสื่อมเสีย

ซึ่งหากพิจารณาผ่านกฎหมายไทย จะพบว่าไฮจโควา ผิดตามมาตรา 327 – 328 และไม่สามารถพิสูจน์ความสุจริตของตนตามมาตรา 329 – 330 ได้

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ศาลเยอรมันและกฎหมายไทยมีแนวทางในการพิจารณาคดีความไปในทิศทางเดียวกันนั่นเอง

สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างไทย กับยุโรป คงจะเป็นตัวคณาจารย์และมหาวิทยาลัย เพราะทางยุโรปนั้น เลือกที่จะปกป้อง “ความถูกต้องในทางวิชาการ (ข้อเท็จจริง)” และ “ความน่าเชื่อถือ” ของมหาวิทยาลัยและวงการวิชาการ มากกว่าไทยที่เลือกที่จะปกป้อง “เสรีภาพ ที่กัดกร่อนตัวเอง” และละเลยการไต่สวนวิทยานิพนธ์ของนายณัฐพล นั่นเอง

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า