Uncategorizedทำไมประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ?

ทำไมประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ?

ประเทศไทยของเรา ทั้งๆ ที่มีแหล่งก๊าซธรรมชาติและบ่อน้ำมัน แต่ทำไมยังต้องนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งประเทศไทยเองก็ยังได้รับผลกระทบจากวิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน จากวิกฤตนี้เอง เป็นเหตุที่ส่งผลให้เกิดปัญหาราคาน้ำมันทั่วโลก

 

 

หันมามองปริมาณสำรองปิโตรเลียมของประเทศไทย จากข้อมูลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ณ สิ้นปี 2564 ประเทศไทยมีน้ำมันดิบ ปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว 94.67 ล้านบาร์เรล, ปริมาณสำรองที่คาดว่าจะพบ 102.74 ล้านบาร์เรล และปริมาณสำรองที่น่าจะพบ 46.53 ล้านบาร์เรล

 

 

ปริมาณทั้ง 3 ประเภทนี้ มีความหมายที่แตกต่างกัน ปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว (Proved Reserves หรือ P1) คือ ปริมาณปิโตรเลียม ที่คงเหลืออยู่ในแหล่งปิโตรเลียมที่ค้นพบแล้ว มีแผนการผลิตที่กําหนดไว้ชัดเจน ในขณะที่ปริมาณสํารองที่คาดว่าจะพบ (Probable Reserves หรือ P2) และ ปริมาณสํารองที่น่าจะพบ (Possible Reserves หรือ P3) คือ เพียง “คาดว่าจะมี” แต่ยังไม่แน่นอน โดย P2 มีความเป็นไปได้ที่จะมีมากกว่า P3 นั่นเอง

 

 

ดังนั้น ปริมาณที่เราสามารถหยิบมาพิจารณาเป็นปริมาณการผลิตได้นั้น มีเพียงค่าของปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วเพียงตัวเดียวเท่านั้น

 

 

ที่สำคัญ จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2564 มีปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินเฉลี่ยวันละ 29.03 ล้านลิตร และน้ำมันดีเซลเฉลี่ย 63.16 ล้านลิตรต่อวัน รวมแล้วคิดเป็น 92.19 ล้านลิตรต่อวัน หรือ 0.58 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ค่าเฉลี่ย พ.ศ. 2564)

 

 

นี่เท่ากับว่าหากคิดคร่าว ๆ ปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว 94.67 ล้านบาร์เรล ที่ประเทศไทยของเรามี จะถูกใช้หมดในเวลาเพียง 163 วันเท่านั้น

 

 

จะเห็นได้เลยว่า ปริมาณน้ำมันสำรองที่ประเทศไทยของเรามีนั้น ไม่ได้มีเยอะอย่างที่หลาย ๆ คนคิด

และนอกจากนี้ น้ำมันที่ได้จากการขุดเจาะ ที่เราเรียกว่า “น้ำมันดิบ” (Crude Oil) มีลักษณะเป็นของเหลวข้นหนืด สีเหลืองดำ น้ำมันดิบนี้มีส่วนผสมหลายอย่างอยู่ในตัวของมันมากมาย ต้องนำไปผ่านกระบวนการต่าง ๆ เสียก่อนเพื่อแยกองค์ประกอบของมัน และผลผลิตที่ได้จากการแยกองค์ประกอบมีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่กลุ่มน้ำมันเครื่องบิน, น้ำมันเบนซิน, น้ำมันดีเซล, น้ำมันก๊าด (เคโรซีน; Kerosene), พลาสติก และยางมะตอย

.

ดังนั้น หากเรานำเอาน้ำมันดิบปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วทั้งหมดที่มีมาใช้ จะสามารถนำมาใช้ได้เพียงแค่ไม่กี่เดือนเท่านั้นเอง

สำหรับสาเหตุที่ประเทศไทยมีการส่งออกน้ำมันนั้น หากคิดในเชิงโครงสร้างราคาแล้ว การส่งออกเพื่อนำกลับเข้ามาในประเทศในรูปแบบอื่นนั้น คือการเพิ่มต้นทุนค่าขนส่ง อีกทั้งการผลิตเพื่อการขายในประเทศให้ได้ทั้ง 100% นั้น ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีกว่าสำหรับบริษัทผู้ผลิตน้ำมันสัญชาติไทย เนื่องจากว่ามีตลาดที่แน่นอนอยู่แล้ว และไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายทางการตลาดเพิ่มเติม อันจะทำให้มีต้นทุนที่สูงขึ้น

 

 

นอกจากนี้ การนำเข้า/ส่งออกน้ำมัน อยู่ภายใต้การควบคุมของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จึงเป็นไปไม่ได้ที่กรมฯ จะยินยอมให้เกิดการนำเอาทรัพยากรของชาติไปใช้ประโยชน์นอกประเทศ เพียงเพื่อผลกำไรของเอกชนอย่างแน่นอน

 

 

แต่การส่งออกน้ำมันดิบของประเทศไทยนั้น มีเหตุผลมาจากความจำเป็นเชิงเทคนิค

ประการแรก น้ำมันดิบบางส่วนนั้น มีการปนเปื้อนโลหะหนัก เช่น สารปรอท สารหนูในปริมาณที่สูง จึงต้องการโรงกลั่นที่มีระดับเทคโนโลยีที่สูง และมีต้นทุนการผลิตสูง จึงไม่คุ้มค่าที่จะนำมากลั่นในประเทศไทย

 

 

ประการที่สอง น้ำมันดิบบางส่วน มีคุณลักษณะที่ไม่ตรงกับความต้องการของประเทศ ไม่คุ้มค่าที่จะกลั่นเพื่อการใช้งานในประเทศ

 

 

ด้วยเหตุผลทางเทคนิคทั้งสองประการนี้ ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องขายออกไป เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ให้มีราคาถูกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้นั่นเอง

 

 

ความจริงแล้ว ประเทศไทยเราถือว่ามีความโชคดี ที่มีแหล่งพลังงานของตัวเองในระดับหนึ่ง ทำให้มีความสามารถในการพึ่งตนเองในเชิงพลังงานได้ แต่ถึงกระนั้น เราไม่ได้มีมากมายเหมือนเช่นประเทศกลุ่มโอเปก ที่มีแหล่งพลังงานมากมายจนสามารถส่งออกพลังงานเพื่อการค้าได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

 

 

นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมน้ำมันในประเทศ ทำให้ประเทศไทยสามารถต่อยอดพัฒนาตนเองขึ้นเป็นผู้สำรวจและขุดเจาะน้ำมันได้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นปัจจัยช่วยเหลือด้านการควบคุมราคาน้ำมัน และความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศไทยของเรา

 

 

ผู้เขียน ศิราวุธ ภุมมะกสิกร

 

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า