Articlesขบวนการจัดฉากล่อให้กระทำความผิดแบบแก๊งหมอปลา ระวัง!!! เหยื่อต่อไปอาจเป็นคุณ! ความแตกต่างระหว่าง ‘ล่อซื้อ’ กับ ‘ล่อให้กระทำความผิด’ ที่ทุกคนต้องรู้!

ขบวนการจัดฉากล่อให้กระทำความผิดแบบแก๊งหมอปลา ระวัง!!! เหยื่อต่อไปอาจเป็นคุณ! ความแตกต่างระหว่าง ‘ล่อซื้อ’ กับ ‘ล่อให้กระทำความผิด’ ที่ทุกคนต้องรู้!

กลายเป็นประเด็นให้เป็นที่โจษจันกันทั่วบ้านเมือง เป็นอีกครั้งที่สื่อและอินฟลูเอนเซอร์สุดเสื่อม หรือแม้กระทั่งทนายความหิวแสง ก็กระโดดมาร่วมวงกับเขาด้วย

 

แต่คราวนี้เหยื่อของพวกเขาไม่ใช่คนธรรมดาเพราะเป็นถึงพระสงฆ์ชื่อดัง ตัวแทนของศาสนา อันเป็น 3 สามเสาหลักของชาติไทย คู่กับ ชาติและกษัตริย์ นามว่า หลวงปู่เเสง ญาณวโร อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร

 

ผู้ร่วมก่อการคราวนี้นำโดยหมอปลาหรือนายจีรพันธ์ เพชรขาว , นางสาว รภัสรณ์ ฤทธิธนไพบูลย์ หรือ น้ำฟ้า , ทนายไพศาล , เบลล์ ขอบสนาม และกันจอมพลัง รวมถึง คุณวาสนา นักข่าว ร่วมกับเพื่อนสื่อมวลชนช่องอื่นๆ รวม 5 ช่อง  

 

ทั้งหมดได้ร่วมกันเป็นขบวนการออกมาเล่นบทเป็นเจ้าหน้าที่นอกกฎหมาย ทำการลงพื้นที่สอบสวนเป้าหมาย จัดฉาก ‘ล่อให้กระทำความผิด’ ด้วยความเข้าใจผิดว่า นี่คือ ‘การล่อซื้อ’ แบบที่ตำรวจทั่วไปทำกัน

 

โดยให้นักข่าวปลอมตัวเป็นคนป่วย หลอกพระว่าเป็นมะเร็งที่เต้านมสองข้าง แล้วเอาตัวเข้าไปให้จับนม เพื่อถ่ายทำคลิปเป็นหลักฐาน [1] หวังว่าจะใช้เป็นหลักฐานในการทำข่าวว่าพระอาบัติและจับสึกพระท่านนี้ พร้อมเล่นบทเป็น ‘ฮีโร่’ ปราบอธรรม มารศาสนา  

 

ทั้งนี้ก็ลืมไปเสียสนิทว่าหลักธรรม ‘กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมคืนสนอง’ นั้นเป็นของจริง แถมในยุค5G แบบนี้ กรรมก็ตามทันแบบติดจรวดด้วย เพราะผ่านไปแเดียว ความจริงก็ปรากฏและแก๊งนี้ก็ถูกสังคมลงโทษ บ้างถูกไล่ออก บ้างห้ามร่วมงาน บ้างกำลังถูกดำเนินคดีมรรยาททนายความ เป็นมารศาสนาเสียเอง

 

เมื่ออยากหาแสงแรงๆนัก ก็ย่อมถูกแสงแผดเผา ดั่ง อิคารัส (Icarus) ที่ถูกแสงเผาปีกจนตกทะเลตายในที่สุด

 

ผู้ร้ายอาจถูกเปิดโปงแล้ว แต่อย่าพึ่งดีใจไป เพราะวิธีล่อให้กระทำผิด แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกและนี่จะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายแน่นอน เหยื่อคนต่อไปในขบวนการนี้อาจเป็น คุณ หรือคนที่คุณรัก 

 

เราขอถือโอกาสนี้ใช้เหตุการณ์นี้แสดงให้ดูว่า  การล่อซื้อ แบบถูกต้อง กับ การล่อให้กระทำความผิด เช่นเหตุการณ์นี้ มันต่างกันและมีผลทางกฎหมายอย่างไร  เพื่อที่ทุกท่านจะได้รู้และปกป้องตัวเองจากเหล่ามิจฉาชีพหรือเจ้าหน้าที่กังฉิน ที่ชอบสร้างหลักฐานปลอมเพื่อหลอกเอาเปรียบผู้บริสุทธิ์ได้

 

ความหมายของการ ล่อซื้อ VS ล่อให้กระทำความผิด

 

การกระทำสองแบบนี้อาจดูคล้ายกันตรงที่เป็นเทคนิคอย่างหนึ่งในการหาแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อเอามาเป็นหลักฐานในการกระทำความผิดของเป้าหมาย ไม่ว่าจะกระทำโดยเจ้าหน้าที่ หรือโดยเอกชนเอง แต่ผลของมันในทางกฎหมายต่างกันมาก เพราะแบบแรกนั้นถือว่าชอบด้วยกฎหมายรับฟังได้ ส่วนแบบหลังนั้น นอกจากรับฟังไม่ได้ ผู้ล่ออาจมีความผิดด้วย

 

แต่ก่อนที่จะเข้าใจได้ว่าแตกต่างกันยังไง ต้องขออธิบายถึง หลักการรับฟังหรืออ้างพยานหลักฐานในคดีอาญาเสียก่อน เพราะในคดีความไม่ใช่ว่าพยานหลักฐานที่เราอ้างทุกชิ้น จะนำมาอ้างต่อศาลได้นะ มันมีกฎเกณฑ์อยู่เรียกว่า บทตัดพยานหลักฐาน (Exclusionary Rule) ซึ่งปรากฏใน [2]

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 วางหลักให้ 

 

“พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่า จะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น…”

 

จะเห็นได้ว่าพยานหลักฐานที่ได้มานั้นต้องไม่ได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น มิฉะนั้น จะไม่สามารถนำมาอ้างในคดีได้ แล้วแบบไหนอ้างได้ อันนี้ก็ต้องดูเอาว่าตอนรวบรวมพยานหลักฐานนั้นใช้วิธีอะไร โดยที่ผ่านมากฎหมายไทยยอมรับแค่การล่อซื้อเท่านั้น

 

การล่อซื้อนั้นกล่าวคือต้องเป็นการล่อซื้อบุคคลที่มีเจตนากระทำผิดอยู่ก่อนแล้วถึงแม้จะใช้คำว่าล่อซื้อ แต่ความจริง ไม่จำต้องเป็นการไปซื้อของก็ได้ ความหมายที่แท้จริงคือ การที่แอบอำพรางตัวเข้าไปติดต่อกับผู้ที่น่าจะกระทำผิดแล้วเปิดโอกาสให้พวกเขากระทำผิดเพื่อให้สามารถนำการทำผิดนั้นไปใช้เป็นพยานหลักฐานมัดตัวหรือจับกุม [3]

 

ผลคือพยานหลักฐานจากการกระทำผิดนั้นสามารถนำมาอ้างเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าตัวจำเลยมีความผิดได้ ตามมาตรา 226

 

ส่วนการล่อให้กระทำผิด คือการล่อซื้อบุคคลที่ไม่มีเจตนากระทำผิดอยู่ก่อน แต่การล่อซื้อนั้นไปก่อ ล่อ หรือชักจูงให้คนบริสุทธิ์กระทำความผิดอาญา จะถือว่าเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบ ตามมาตรา 226 ไม่อาจนำมาอ้างได้ [4]

 

แถมนอกจากจะอ้างไม่ได้แล้วเนี่ย หากผู้ก่อให้กระทำผิดนั้นเป็นผู้เสียหาย ก็ถือว่าไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมายด้วย ทำให้ไปฟ้องเขาไม่ได้เลย ดังนั้นหากใครเจอพวกนี้ทำแบบนี้กับท่านเพื่อขู่เอาค่าเสียหายแลกกับการไม่ฟ้อง บอกเลยว่าไม่ต้องให้เพราะพวกเขาฟ้องไม่ได้อยู่แล้ว

 

ส่วนตัวอย่างว่าการกระทำแบบไหนที่ถือว่าเป็นล่อซื้อ หรือ ล่อให้กระทำความผิด ศาลได้มีคำพิพากษาไว้มากมาย เช่น

 

กรณี เป็นการล่อซื้อ

 

คำพิพากษาฎีกาที่ 412/2545 จำเลยมีพฤติการณ์กระทำละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์อยู่ก่อนแล้ว โจทก์ส่งสายลับไปล่อซื้อและจับกุมจำเลยมาดำเนินคดี มิใช่เป็นการก่อให้จำเลยกระทำความผิด แต่เป็นการดำเนินการเพื่อจับกุมปราบปรามผู้กระทำความผิด เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ฎีกาที่ 8187/2543 ตำรวจใช้สายลับนำเงินไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยซึ่งมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอยู่แล้ว เป็นวิธีการแสวงหาพยานหลักฐานในการกระทำผิดของจำเลยที่ได้กระทำอยู่แล้ว มิได้ล่อหรือชักจูงให้กระทำความผิดอาญาที่จำเลยไม่ได้กระทำมาก่อน

 

กรณีที่ไม่เป็นการล่อซื้อ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ฎีกาที่ 4301/2543 การทำซ้ำ บันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ลงในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ล่อซื้อและแจกจ่ายตามฟ้องนั้น เกิดขึ้นเนื่องจากการล่อซื้อของ ส. ซึ่งได้รับจ้างให้ล่อซื้อจากโจทก์ เท่ากับโจทก์เป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำผิดดังกล่าวขึ้น

 

ฎีกาที่ 2491/2551 ตำรวจขอซื้อยาลดความอ้วนซึ่งมีส่วนผสมของเฟตเตอมีนจากจำเลย จำเลยบอกว่าไม่มีและที่ร้านก็ไม่ได้ยาดังกล่าว แต่ตำรวจอ้างว่าคนรักตนต้องการใช้ จำเลยจึงไปเอาที่ซื้อไว้ใช้เองมาขาย โดยที่ภายหลังพบว่าจำเลยก็ไม่ได้ขายสิ่งผิดกฎหมายอื่นแต่อย่างใด การขายยาดังกล่าวจึงเป็นการถูกล่อให้กระทำความผิด พยานหลักฐานที่เกิดขึ้นจึงเกิดขึ้นโดยมิชอบ ใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ตามมาตรา 226

 

สรุป จะเห็นได้ว่าหากไม่ใช่การล่อซื้อที่ได้อธิบายไว้ ก็จะถือว่าเป็นการล่อให้กระทำผิด จัดฉากเท่านั้น ซึ่งนอกจากจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้แล้ว หากผู้เสียหายเป็นเอกชนก็จะฟ้องให้ดำเนินคดีไม่ได้ด้วย แถมบางครั้งก็อาจทำผิดกฎหมายซะเอง เช่นเหตุการณ์ของขบวนการหมอปลา

 

หลังจากอ่านแล้วและทราบความแตกต่างของการล่อซื้อและการจัดฉากล่อให้กระทำผิดแล้ว ก็หวังว่าหากมีมิจฉาชีพมาทำเป็นขบวนการกับคุณบ้าง ก็ภาวนาขอให้ทุกคนมีสติ ก็จะรู้เท่าทันและจัดการได้ อย่าปล่อยให้คนพาลมันได้ใจข่มเหงรังแกประชาชนผู้บริสุทธิ์แบบนี้

 

โดย ณฐ /na-tha/

อ้างอิง :

[1] https://www.thaipost.net/x-cite-news/142027/

[2] วารสารสหวิทยาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม – สิงหาคม 2563)

[3] ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (ม.ป.ป.). โครงการศึกษาวิจัย “กฎหมายเกี่ยวกับการล่อให้กระทำความผิดอาญา : ศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายนานาชาติ. กรุงเทพมหานคร: ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[4] เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์. (2551). คำอธิบายกฎหมายอาญาภาค 1 : บทบัญญัติทั่วไป.(พิมพ์ครั้งที่ 10). กรุงเทพฯ:พลสยาม พริ้นติ้ง (ประเทศไทย).

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า