Newsระบบรัฐสวัสดิการของสิงคโปร์ ระบบสวัสดิการที่จูงใจให้ประชาชนทุกคนทำงานหนัก โดยแทบไม่พึ่งพาเงินอุดหนุนจากรัฐ

ระบบรัฐสวัสดิการของสิงคโปร์ ระบบสวัสดิการที่จูงใจให้ประชาชนทุกคนทำงานหนัก โดยแทบไม่พึ่งพาเงินอุดหนุนจากรัฐ

เมื่อนึกถึงรัฐสวัสดิการนั้น หลายคนก็มักจะนึกถึงรัฐสวัสดิการแบบนอร์ดิกอย่างประเทศฟินแลนด์ นอร์เวย์ สวีเดนและเดนมาร์ก ที่มีการเก็บภาษีในระดับสูงและมีการให้สวัสดิการแบบหนาแน่นและถ้วนหน้าสำหรับทุกคนซึ่งสวัสดิการแบบนอร์ดิกก็สามารถกล่าวได้ว่า ครอบคลุมแทบทุกอย่างในชีวิตประจำวัน โดยเป็นการใช้จ่ายจากระบบงบประมาณภาครัฐโดยตรงตามประสารายจ่ายสวัสดิการทั่วไป

 

แต่โมเดลรัฐสวัสดิการในโลกปัจจุบันไม่ได้มีเพียงรัฐสวัสดิการแบบนอร์ดิกเพียงเท่านั้น โดยระบบรัฐสวัสดิการสิงค์โปร์ก็เป็นหนึ่งในรัฐสวัสดิการที่ไม่ได้มีกระบวนการทำงานแบบรัฐสวัสดิการทั่วไปที่จะมีการเก็บภาษีสูง ๆ เพื่อไปทำรัฐสวัสดิการในนามของภาครัฐ แต่กลับใช้ “งาน” ในการผูกมัดสวัสดิการของประชาชนผ่านระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลาง เพื่อให้ระบบสวัสดิการสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องมีการอุดหนุนมากนักจากภาครัฐ

 

โดยความสนใจของแนวคิดสวัสดิการในลักษณะนี้ คือ ได้มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลางมาตั้งแต่ช่วงที่สิงค์โปร์ยังถูกอังกฤษปกครอง ซึ่งอังกฤษได้เป็นตัวตั้งตัวตีให้ริเริ่มกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลางเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการสวัสดิการและการสนับสนุนด้านสังคมแก่ประชาชนในสิงค์โปร์ โดยไม่ต้องใช้เงินภาษีจากภาครัฐ เหมือนกับระบบสวัสดิการของอังกฤษที่พึ่งพิงระบบงบประมาณจากระบบภาษี เนื่องจากไม่ต้องการให้รัฐบาลอังกฤษต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้โดยตรง

 

และเมื่อสิงค์โปร์ได้เป็นเอกราชแล้ว โครงการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลางก็ได้สานต่อโดยรัฐบาลสิงค์โปร์และได้ขยายตัวจนกลายเป็นโครงการภาคบังคับขนาดใหญ่ในประเทศและครอบคลุมในแทบทุกประเด็นไม่ว่าจะเป็น การออม การลงทุน การศึกษา การสาธารณสุข การเคหะ รวมทั้งการได้รับการสนับสนุนด้านรายได้ช่วงหลังเกษียณอีกด้วย 

 

ซึ่งเมื่อมองลึกลงมาก็จะพบว่า ระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลางจะเป็นการร่วมกันจ่ายระหว่างฝ่ายลูกจ้างและฝ่ายนายจ้างเป็นส่วนใหญ่ จากเงินเดือนส่วนหนึ่งของลูกจ้าง โดยภาครัฐจะสนับสนุนในส่วนที่มีความจำเป็นยิ่งยวด เช่น การสนับสนุนด้านสาธารณสุขแก่ผู้สูงอายุที่เกษียณแล้ว การสนับสนุนด้านการฝึกทักษะเพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการพัฒนาทักษะการทำงานให้สูงขึ้น และการสนับสนุนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

ทั้งนี้ จุดประสงค์ของระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลางที่ทำหน้าที่คล้ายกับระบบการออมภาคบังคับนั้น มีอยู่หลายประการสำคัญ ส่วนแรกคือ เพื่อให้ประชาชนมีเงินออมและสามารถหยิบไปใช้ได้ยามจำเป็นที่สุด ส่วนที่สองคือ เพื่อเป็นเสาหลักให้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะและการมีสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น และส่วนสุดท้ายคือ ทำหน้าที่เป็นกองทุนสวัสดิการโดยตรง ซึ่งไม่ต้องมีการแบกรับอะไรมากมายเพิ่มเติมจากภาครัฐ เมื่อเทียบกับระบบรัฐสวัสดิการโดยทั่วไป

 

ดังนั้นแล้ว ในระบบสวัสดิการแบบสิงค์โปร์นั้น พลเมืองสัญชาติสิงค์โปร์และผู้พำนักถาวรที่ทำงานในประเทศก็จะต้องเข้าระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลางโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะมีหักเงินเดือนส่วนหนึ่งตามเงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้ พร้อมกับการสมทบเพิ่มเติมจากฝ่ายนายจ้าง แล้วเม็ดเงินเหล่านี้ก็จะถูกแบ่งเป็น 3 บัญชีคร่าว ๆ คือ บัญชีทั่วไปสำหรับการใช้งานทั่วไปรวมทั้งการเข้าถึงสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย บัญชีพิเศษสำหรับการเกษียณในอนาคต และบัญชีรักษาพยาบาลสำหรับการรักษาในโรงพยาบาล 

 

ที่พิเศษสำหรับเรื่องการรักษาพยาบาลก็คือ จะมีการแบ่งระดับการบริการเป็นหลายระดับ ซึ่งหากเลือกระดับทั่วไปก็จะเป็นการใช้สิทธิ์รักษาพยาบาลตามปกติ แต่หากต้องการความสะดวกสบาย ความสะดวก ความหรูหรา หรือความเป็นส่วนตัวเพิ่มเติม เช่น ต้องการห้องพักเดี่ยวและมีขนาดใหญ่ ก็สามารถที่จะจ่ายส่วนต่างเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งส่วนต่างเหล่านี้ ก็ได้ถูกนำมาอุดหนุนระบบรักษาพยาบาลในระดับทั่วไปอย่างอ้อม ๆ 

 

รวมทั้งในกรณีที่ได้เข้าสู่ช่วงวัยเกษียณแล้ว ก็จะมีอยู่ 2 ทางเลือก คือ ได้รับเงินก้อนใหญ่ กับได้รับบำนาญ แต่หากต้องการเลือกบำนาญ ก็จะต้องมีเม็ดเงินในกองทุนอยู่พอสมควรตามเงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้ จึงจะมีสิทธิ์ในการได้รับเงินบำนาญ ซึ่งต่างจากระบบรัฐสวัสดิการทั่วไปโดยส่วนใหญ่ที่เมื่ออายุถึงกำหนดแล้วก็จะได้รับบำนาญรายเดือนในจำนวนหนึ่ง ๆ โดยอัตโนมัติ

 

นอกจากนี้ การจะรักษาสิทธิสวัสดิการในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการต่อยอดเม็ดเงินที่มีอยู่ให้โตขึ้น ก็จะต้องรักษาสภาพการทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยแม้ว่าจะมีการย้ายสถานประกอบการแต่ถ้ามีการทำงานอยู่ ก็จะยังคงไปต่อได้ตามปกติ แถมภาครัฐยังมีการกระตุ้นให้มีการพัฒนาขีดความสามารถการทำงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงขึ้นผ่านวิธีการต่าง ๆ สารพัด

 

หนึ่งในนั้น คือ การอุดหนุนเงินสนับสนุนพิเศษเข้าบัญชีในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลางต่อคนที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาฝึกทักษะให้มีทักษะสูงขึ้น ซึ่งต้องบอกก่อนว่า การอุดหนุนเงินสนับสนุนพิเศษนี้เป็นนโยบายที่พุ่งเป้าไปยังกลุ่มลูกจ้างผู้มีอายุตั้งแต่ 30 – 35 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้น้อยกว่าที่กำหนดไว้ และกลุ่มนายจ้างที่ต้องการส่งแรงงานไปฝึกอบรมทักษะ ซึ่งมีเงื่อนไขการอุดหนุน คือ จะต้องเข้ารับการอบรมฝึกทักษะต่าง ๆ เพื่อให้ลูกจ้างเหล่านี้มีความรู้มากขึ้น เพิ่มโอกาสในการถูกจ้างงานมากขึ้น และให้โอกาสในการต่อยอดชีวิตให้เข้าถึงสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น ผ่านการสนับสนุนด้านรายได้พิเศษควบคู่กับการฝึกอบรมพัฒนาความรู้ข้างต้น

 

ตรงนี้ คือ หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสิงค์โปร์ที่ต้องใช้ทรัพยากรมนุษย์ในการขับเคลื่อนประเทศโดยตรงผ่านการกระตุ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลในระดับสูง ผ่านการพัฒนาระบบการศึกษาในประเทศ การสร้างแรงจูงใจมากมายให้ยกระดับทักษะของตนเองเพื่อแลกกับโอกาสและการสนับสนุนเพิ่มเติมจากภาครัฐ การใช้ระบบสวัสดิการแบบกองทุนกลางที่มีศูนย์กลางในการทำงานเพื่อเติมเงินเข้าบัญชีในกองทุนเพื่อเอาไปใช้งานต่าง ๆ ซึ่งกลับทำให้เป็นแรงกระตุ้นขนาดใหญ่ให้เกิดประสิทธิผลการทำงาน (Productivity) ที่สูงขึ้น เพื่อเข้าถึงสิทธิ์สวัสดิการที่ดียิ่งขึ้น ฯลฯ

 

สุดท้ายนี้ รัฐสวัสดิการแบบสิงค์โปร์ได้ถูกริเริ่มด้วยแนวคิดที่ไม่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาแบกรับค่าใช้จ่ายมหาศาลนี้มากนัก จึงมีการออกแบบกลไกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลางให้เข้ากับกลไกทุนนิยมซึ่งสามารถเลี้ยงตนเองได้และส่งเสริมให้แรงงานในระบบยกระดับประสิทธิผลการทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เข้าถึงระบบสวัสดิการ โดยไม่ต้องแบกรับภาระภาษีมหาศาลเหมือนกับรูปแบบรัฐสวัสดิการทั่วไป 

 

สิ่งที่มหัศจรรย์ของระบบนี้ นอกเหนือจากการให้แรงจูงใจด้านสวัสดิการเพิ่มเติมแลกกับการฝึกพัฒนาทักษะแล้ว ก็คือ กลไกระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลางที่มีสถานะเป็นเงินเก็บของประชาชน และเงินลงทุนของภาครัฐมาตั้งแต่ช่วงการก่อตั้งประเทศ ซึ่งได้เป็นกระดูกสันหลังสำคัญในการสร้างชาติสิงค์โปร์ทั้งในด้านวัตถุและด้านบุคลากรให้ยกระดับตัวเองจากประเทศโลกที่สามกลายเป็นประเทศชั้นนำของโลกภายในไม่กี่ชั่วอายุคน ด้วยการทำงานหนักของประชาชนและเข้าใจถึงการใช้สวัสดิการเพื่อขับเคลื่อนสังคมให้ไปข้างหน้าอย่างแท้จริง

 

โดย ชย

อ้างอิง:

[1] What is the Central Provident Fund (CPF)

https://www.mom.gov.sg/employment-practices/central-provident-fund/what-is-cpf

[2] The Evolving Singaporean Welfare State

https://onlinelibrary.wiley.com/doi/pdf/10.1111/spol.12339

[3] Social Policy in Singapore: A Confucian Model ?

https://documents1.worldbank.org/curated/en/193101468758956946/016824232_2002113371001150/additional/multi0page.pdf

[4] The Singapore Model of Housing and the Welfare State

https://core.ac.uk/download/pdf/13247324.pdf

[5] Security with Self Reliance: The Argument for the Singapore Model

https://knowledge.csc.gov.sg/ethos-issue-03/the-argument-for-the-singapore-model/

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า