
‘คว่ำบาตร’ กระทบการใช้ดอลลาร์กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ออกมายอมรับว่ามาตรการคว่ำบาตรได้ส่งผลคุกคามต่ออำนาจของเงินดอลลาร์ในเวทีโลก
หลายประเทศกำลังเลือกเครื่องมือการชำระเงินทางเลือกและส่งเสริมการถือครองสินทรัพย์รูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินดอลลาร์ในทุนสำรองระหว่างประเทศ
มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ กำลังผลักดันให้หลายประเทศแสวงหาทางเลือกอื่นแทนเงินดอลลาร์ในการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ กล่าวต่อหน้าที่ประชุมคณะกรรมการสภาบริการทางการเงินของสหรัฐอเมริกา (House Financial Services Committee ) เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (13 มิ.ย.) พร้อมยอมรับว่าการใช้เงินดอลลาร์ในระบบเศรษฐกิจโลกกำลังลดน้อยลง
“ไม่น่าแปลกใจเลยที่ประเทศต่างๆ ซึ่งกังวลว่าจะได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของเรา กำลังมองหาทางเลือกอื่นนอกเหนือจากเงินดอลลาร์ มันเป็นสิ่งที่เราได้คาดการณ์ไว้อยู่แล้ว” เธอกล่าว
นอกจากนี้ เมื่อถูกถามว่า สหรัฐฯ ควรลดการใช้มาตรการคว่ำบาตรในนโยบายต่างประเทศของตนหรือไม่ เนื่องจากแม้แต่ประเทศที่เป็นพันธมิตรกันแต่ดั้งเดิม อย่าง ฝรั่งเศสยังทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินอื่นที่ไม่ใช่ดอลลาร์
เยลเลนตอบว่า สำหรับประเทศส่วนใหญ่แล้ว เธอเห็นว่า ไม่น่าจะได้ประโยชน์อะไรจากการเลือกใช้สกุลเงินอื่นที่ไม่ใช่ดอลลาร์ พร้อมยอมรับว่าประเทศต่างๆ มีการถือครองสินทรัพย์รูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินดอลลาร์ในทุนสำรองระหว่างประเทศกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เธอเชื่อว่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มที่จะคงสถานะเป็นสกุลเงินหลักของโลก
“เราคาดการณ์ไว้ว่าเมื่อเวลาผ่านไปจะมีการถือครองทุนสำรองระหว่างประเทศในรูปแบบสินทรัพย์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ดอลลาร์เพิ่มมากขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยง… แต่เงินดอลลาร์มีบทบาทในระบบการเงินโลกด้วยเหตุผลที่ดีที่ประเทศอื่นไม่สามารถลอกเลียนแบบได้… มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ประเทศใดๆ จะสร้างระบบการชำระเงินด้วยสกุลเงินอื่นที่ไม่ใช่ดอลลาร์” เยลเลน กล่าว
พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า จุดแข็งที่สำคัญของดอลลาร์ คือ “การเป็นตลาดการเงินแบบเปิดที่มีสภาพคล่องสูง มีหลักนิติธรรมที่เข้มงวด และไม่มีการควบคุมเงินทุน” ซึ่งเยลเลน กล่าวว่า “ไม่มีประเทศใดสามารถลอกเลียนแบบได้”
การใช้มาตรการคว่ำบาตรอย่างกว้างขวางของสหรัฐฯ ได้ผลักดันให้ประเทศต่างๆ เริ่มถอยห่างจากดอลลาร์ในการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนในช่วงปีที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น การอายัดเงินสำรองของรัสเซียและการตัดธนาคารรัสเซียจากระบบธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ‘SWIFT’ เพื่อลงโทษรัสเซียกรณีรุกรานยูเครน เป็นการบีบให้รัสเซียต้องเปลี่ยนไปใช้สกุลเงินของตนหรือของประเทศคู่ค้าในการชำระหนี้กับคู่ค้าต่างประเทศ
ขณะเดียวกัน จีนซึ่งกำลังมีปัญหากับสหรัฐฯ เกี่ยวกับประเด็นการควบคุมการส่งออก ได้เพิ่มสัดส่วนของเงินหยวนในการชำระหนี้การค้า โดยการค้าขายพลังงานเกือบทั้งหมดระหว่างรัสเซีย-จีน ในปัจจุบันดำเนินการในรูปสกุลเงินหยวน ในขณะที่บริษัทน้ำมันแห่งชาติของจีน CNOOC ได้เสร็จสิ้นข้อตกลงทางการค้า LNG ที่ชำระด้วยเงินหยวนเป็นครั้งแรกกับบริษัท TotalEnergies ของฝรั่งเศส เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา