
เซเว่นไร้พนักงาน 7-11 พัฒนาโมเดลร้านสะดวกซื้อแนวใหม่ สั่งของ-จ่ายเงินง่ายด้วยมือถือ
เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2567 สำนักข่าวนิเคอิเอเชียเปิดเผยว่า เซเว่นอีเลฟเว่นประเทศญี่ปุ่น ประกาศแผนงานที่จะนำร้านค้าสะดวกซื้อแบบไร้พนักงานมาใช้ขยายสาขาอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ผลินี้ (มีนาคม – พฤษภาคม) ภายหลังประสบความสำเร็จจากการทดลองในโตเกียว และโอซาก้า โดยมีเป้าหมายขั้นต้น 20 สาขา
โดยร้านแบบไร้พนักงานนี้จะเป็นร้านขนาดเล็กที่มีพื้นที่ขนาด 50 ตารางเมตร ซึ่งเป็นขนาด 1 ใน 4 ของร้านขนาดปกติ และจะมีสินค้าเพียง 1,200 รายการ ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของร้านค้าปกติ โดยเน้นกลุ่มอาหารเช่น ข้าวปั้น ขนมปัง ข้าวกล่อง กาแฟสด และของใช้ในชีวิตประจำวัน
สำหรับการดำเนินการของร้านนั้น จะใช้พนักงานเพียง 1 คนในการบริหารจัดการร้าน คอยสั่งสินค้าเข้าร้าน และเติมสินค้าขึ้นชั้นวาง ในขณะที่ลูกค้าจะสั่งซื้อผ่านการสแกน QR Code ด้วยแอปพลิเคชั่นบนมือถือเพื่อเข้าร้าน และใช้แอปพลิเคชั่นเดียวกันในการสแกนบาร์โค้ดของสินค้าที่ต้องการซื้อ เพื่อชำระเงินได้เลยโดยไม่ต้องใช้เคาน์เตอร์คิดเงิน
ทั้งนี้เซเว่นอีเลฟเว่นประเทศญี่ปุ่น ตั้งเป้าที่จะใช้โมเดลร้านไร้พนักงานในพื้นที่ในทำเลที่เปิดร้านสะดวกซื้อโมเดลปกติได้ยาก เช่น คอนโดมิเนียม รวมถึงเข้าไปแทนที่โรงอาหารของโรงงานอุตสาหกรรม และสถาบันวิจัย ซึ่งหลายแห่งปิดตัวลงเพราะพนักงานน้อยลงจนไม่คุ้มที่จะเปิดโรงอาหาร
โดยมีเกณฑ์การประเมินเบื้องต้นในการตั้งร้านสะดวกซื้อแบบไร้พนักงานว่าจะต้องสามารถสร้างยอดขายได้อย่างน้อย 1 แสนเยนต่อวัน (ประมาณ 23,900 บาท) น้อยกว่าร้านแบบปกติที่มียอดขายเฉลี่ยที่ 700,000 เยนต่อวัน (ประมาณ 167,200 บาท)
นิเคอิยังรายงานด้วยว่า ปัจจุบันนี้ ร้านสะดวกซื้อแบรนด์อื่นเองก็พยายามพัฒนาโมเดลร้านไร้พนักงานด้วยเช่นกัน ทั้งเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการขยายสาขาไปในทำเลใหม่ ๆ และเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เช่น “แฟมิลี่มาร์ท” ที่มีร้านไร้พนักงานแล้วกว่า 30 สาขา ในขณะที่ “มินิสต๊อป” พยายามพัฒนาร้านไร้พนักงานที่ใช้พื้นที่เพียง 3 ตารางเมตรเท่านั้น