News‘อังกฤษ’ จาก “ดินแดนพระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน” สู่ความเป็น “คนป่วยแห่งยุโรป” เพราะสวัสดิการสังคม ที่ไม่สมดุลกับรายได้ทางเศรษฐกิจ จนเป็นภาระ และความสำเร็จของการปฏิรูปเศรษฐกิจแบบถอนรากถอนโคน

‘อังกฤษ’ จาก “ดินแดนพระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน” สู่ความเป็น “คนป่วยแห่งยุโรป” เพราะสวัสดิการสังคม ที่ไม่สมดุลกับรายได้ทางเศรษฐกิจ จนเป็นภาระ และความสำเร็จของการปฏิรูปเศรษฐกิจแบบถอนรากถอนโคน

อังกฤษ หนึ่งในชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกและเคยมีฉายาว่า “ดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน” ซึ่งแทนที่ชาติจักรวรรดิที่แสดงพลังอำนาจอิทธิพลไปทั่วโลกทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม รวมทั้งเคยมีสถานะเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจโลกจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นครั้งแรกที่นี้ 

 

แต่สถานะผู้นำโลกก็เสื่อมถอยลง จากการผงาดของสหรัฐอเมริกา การค่อย ๆ สูญเสียพลังอำนาจจากสงครามใหญ่ทั้ง 2 ครั้ง และแนวคิดการปลดปล่อยอาณานิคมเป็นเอกราชที่แพร่หลายอย่างรวดเร็วหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 จนทำให้อังกฤษในยุคนั้นกลายเป็น “คนป่วยของยุโรป”

 

โดยการผงาดของสหรัฐอเมริกาได้ส่งสัญญาณมาตั้งช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ในรูปแบบของอำนาจทางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และการเข้ามาเป็นตัวแปรหลักที่สนับสนุนอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้สหรัฐอเมริกาเริ่มตีคู่กับอังกฤษในฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ในขณะที่อังกฤษเริ่มประสบปัญหากับการควบคุมอาณานิคมให้อยู่ในความสงบและการจมเงินไปกับการบำรุงรักษาอาณานิคมที่มีอยู่มหาศาล 

 

ขณะเดียวกันกระแสการเรียกร้องเอกราชในบรรดาดินแดนอาณานิคมส่วนใหญ่ก็เริ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะชัดเจนยิ่งขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ภาพลักษณ์มหาอำนาจอังกฤษแทบสิ้นสภาพในทางการทหารและเศรษฐกิจ 

 

นอกจากนี้ ด้วยนโยบายของสหรัฐอเมริกาที่ไม่สนับสนุนแนวคิดอาณานิคมอยู่แล้ว จึงแทบเป็นการบีบให้อังกฤษที่ต้องพึ่งพิงสหรัฐอเมริกาในทางเศรษฐกิจ ทยอยเริ่มดำเนินนโยบายปลดปล่อยอาณานิคมให้เป็นรัฐเอกราช 

 

และตัวเร่งสำคัญของการเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจของอังกฤษในช่วงขณะนั้น คือ การสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจในตลาดโลก เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา ผู้นำเศรษฐกิจโลกและผู้สนับสนุนทางการเงินรายใหญ่ของอังกฤษ 

 

รวมทั้งในเวลาต่อมา เยอรมันตะวันตกและญี่ปุ่นที่ฟื้นฟูเศรษฐกิจจากภัยสงครามก่อนหน้าก็ได้ขยายขีดความสามารถทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วผ่านการสนับสนุนทางเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกาเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์และทำให้ประเทศพันธมิตรสามารถพึ่งตนเองได้  จนอังกฤษเกือบจะหมดบทบาทในทางเศรษฐกิจโลก จากการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจที่เยอรมันตะวันตกและญี่ปุ่นมีประสิทธิภาพการผลิตที่สูงกว่า 

 

เพื่อให้มองเหตุการณ์นี้ได้อย่างชัดเจน สินค้าสำคัญที่อังกฤษเคยมีบทบาทสำคัญ คือ รถยนต์ ซึ่งในเวลาต่อมา จะเจอคู่แข่งสำคัญคือ สหรัฐอเมริกาที่เป็นผู้นำตลาดรถยนต์โลก และคู่แข่งที่เริ่มผงาดจากการฟื้นฟูเศรษฐกิจ คือ เยอรมันตะวันตก ญี่ปุ่น และอิตาลี ที่ส่งออกรถยนต์ของตนเองเข้าสู่ตลาดโลกเป็นจำนวนมาก และต่อมาทั้ง 3 ประเทศจะมีสัดส่วนการขายรถยนต์ที่สูงกว่าอังกฤษอย่างมีนัยสำคัญ  

 

ซึ่งเหตุผลสำคัญของการสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ มีทั้งการสูญเสียแหล่งทรัพยากรราคาถูกในรูปแบบของอาณานิคมซึ่งการได้อาณานิคมที่อุดมสมบูรณ์จะได้ทั้งแรงงาน ทรัพยากร และบริเวณที่ตั้งอันเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของอังกฤษก่อนหน้า การลงทุนไปกับอาณานิคมที่ใช้ทรัพยากรมหาศาลก่อนหน้าและได้ผลไม่คุ้มค่าในอาณานิคมหลายแห่ง 

 

อีกทั้งการเข้ามามีอิทธิพลของแนวคิดเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมในช่วงกลางสงครามเย็น ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ การเพิ่มสวัสดิการภาครัฐให้ครอบคลุมและแน่นหนา รวมทั้งการเพิ่มบทบาททางเศรษฐกิจของภาครัฐในประเทศเพื่ออุ้มอุตสาหกรรมและรักษาการจ้างงานจำนวนมากในประเทศ 

 

ยังไม่รวมถึงความพยายามมากมายของรัฐบาลฝ่ายซ้ายอังกฤษช่วงนั้นที่ต้องการให้อุตสาหกรรมสำคัญของอังกฤษอยู่ในมือของภาครัฐซึ่งถูกกังขาจากสังคมอังกฤษบางส่วนในขณะนั้น ว่าเป็นแนวคิดของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์-สังคมนิยม โดยตรง

 

ผลที่ตามมา คือ เมื่อเกิดวิกฤตน้ำมันและวิกฤตชะงักงันครั้งใหญ่ช่วงกลางทศวรรษ 70 ก็ได้กลายเป็นฝันร้ายของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบแนวสังคมนิยมที่เต็มไปด้วยปากเหวของระบบเศรษฐกิจประเทศและการนับถอยหลังสู่การล่มสลายทางเศรษฐกิจ หากไม่ได้ปรับนโยบายทางเศรษฐกิจและสถานการณ์ยังคงเหมือนเดิม 

 

และประเทศทุนนิยมเสรีหลายประเทศที่ใช้แนวคิดรัฐแทรกแซงเศรษฐกิจก็ได้ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจในลักษณะเดียวกัน คือ ปัญหาเงินเฟ้อในระดับสูงและภาระทางการเงินมหาศาลที่ต้องแบกรับ รวมทั้งขีดความสามารถทางเศรษฐกิจที่ถดถอยลง จนทำให้เยอรมันตะวันตกและญี่ปุ่น ที่มีขีดความสามารถทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าและมีความคล่องตัวทางเศรษฐกิจมากกว่า ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในทางเศรษฐกิจโลก

 

ต่อมาจะนำไปสู่การคิดใหม่ทำใหม่ทางเศรษฐกิจ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจจากผู้ป่วยทางเศรษฐกิจของยุโรป สู่การหวนคืนตำแหน่งชาติอุตสาหกรรมและแหล่งการเงินสำคัญของโลกในเวลาต่อมา ภายใต้การนำของรัฐบาลใหม่ ช่วงทศวรรษ 80 ซึ่งมีนโยบายปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจแบบถอนรากถอนโคน และให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาว 

 

จึงนำไปสู่ การนำแนวคิดเสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจเข้ามาใช้อย่างเข้มข้นในอังกฤษเพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บทางเศรษฐกิจที่อังกฤษต้องแบกรับมาอย่างยาวนาน โดยนโยบายที่อังกฤษได้เริ่มทำเพื่อปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจก็มีมากมาย

 

อาทิ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ที่เคยเป็นของรัฐให้เป็นของเอกชนเพื่อลดภาระภาครัฐและเพิ่มความคล่องตัวในระบบเศรษฐกิจ การตัดรายจ่ายของภาครัฐที่ไม่จำเป็นทุกอย่างเพื่อลดการขาดดุลภาครัฐและลดภาวะเงินเฟ้อ การรักษาเสถียรภาพทางการเงินภายในประเทศ 

 

รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐอเมริกาที่ก็เป็นรัฐบาลเสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจอยู่เช่นกันโดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ หลังจากที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศได้ถดถอยลงในช่วงที่รัฐบาลฝ่ายซ้ายของอังกฤษมีบทบาททางการเมืองในช่วงขณะนั้น

 

แน่นอนว่า การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจเช่นนั้น ย่อมส่งผลด้านลบในช่วงแรกอย่างรุนแรง ทั้งปัญหาการว่างงานที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัญหาความไม่สงบในประเทศที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งจนต้องมีการปราบปรามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกระแสต่อต้านการดำเนินนโยบายเสรีนิยมใหม่เข้มข้นทั้งจากภาคประชาชน พรรคแรงงาน รวมทั้งคณะบุคคลบางส่วนในพรรคอนุรักษ์นิยมที่เป็นรัฐบาลอยู่ 

ต่างก็ต่อต้านการดำเนินนโยบายที่มองว่า “สุดโต่ง” และมีความเสี่ยงสูง แต่สุดท้ายแล้วนโยบายดังกล่าวก็ยังคงดำเนินอยู่ต่อไปเพื่อปฏิรูปโครงสร้างและปรับสภาพเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

 

เมื่อเวลาผ่านไป การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่ก็เริ่มส่งผลไปในทางแง่ดี เศรษฐกิจอังกฤษได้กลับมาคึกคักอีกครั้งและมีบทบาทหลักในเรื่องเศรษฐกิจแถบยุโรป ที่สำคัญ กลไกรายได้หลักของระบบเศรษฐกิจจะเปลี่ยนจากการพึ่งพิงอุตสาหกรรมภายในประเทศกลายเป็นการบริการโดยเฉพาะในกิจการธนาคารที่กลายเป็นหัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจอังกฤษตั้งแต่นั้นมา 

 

สุดท้ายนี้ แม้ว่า อังกฤษตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤตซับไพรม์ช่วง ค.ศ.2007 – 2008 เป็นต้นมา จะไม่ได้เติบโตมากมายเหมือนช่วงก่อนหน้านี้ แต่การที่ครั้งหนึ่งอังกฤษเคยตบอับทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่และสามารถกลับมามีบทบาททางเศรษฐกิจและสร้างยุคทองทางเศรษฐกิจของประเทศที่ดำรงอยู่ได้หลายปีผ่านการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่ 

 

ก็ถือได้ว่า เป็นสัญลักษณ์สำคัญของแนวคิดเสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจที่ได้ฟื้นไข้ในหลายประเทศรวมทั้งอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในช่วงขณะนั้น และจะนำไปสู่การแพร่หลายของแนวคิดเสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลกหลังจากการสิ้นสุดสงครามเย็นในช่วงเวลาต่อมา 

 

โดย ชย

อ้างอิง :

[1]  Is it back to the 1970s for the UK economy? Yes, but not in the way you think

https://www.theguardian.com/business/2022/jul/02/is-it-back-to-1970s-for-uk-economy-investment-wages-unions

[2] The last time unemployment was this low was 1974: So how did 70s Britain crumble from economic success to power cuts, inflation and rubbish in the streets?

https://www.thisismoney.co.uk/money/news/article-7150007/What-life-like-1970s-Britain-time-unemployment-low.html

[3] Britain Is Much Worse Off Than It Understands

https://foreignpolicy.com/2023/02/03/britain-worse-off-1970s/

[4] How record-breaking inflation was tamed in the 1980s

https://www.theweek.co.uk/inflation/956844/how-record-breaking-inflation-was-tamed-in-the-1980s 

[5] The economic wisdom of Nigel Lawson

https://iea.org.uk/the-economic-wisdom-of-nigel-lawson/

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า