
‘เศรษฐา’ ต้อนรับผู้นำกัมพูชา พร้อมลงนามความร่วมมือระหว่างไทย-กัมพูชา 5 ฉบับ ขยายความร่วมด้านภัยพิบัติ งานวิจัย และการค้า
เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้การต้อนรับกับ สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชาและภริยา ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล
ในการนี้ นายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีกัมพูชา จะหารือเต็มคณะ ณ ตึกภักดีบดินทร์ และร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามเอกสารความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของไทยกับกัมพูชา ทั้งหมด 5 ฉบับ ประกอบด้วย
1.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการรับมือเหตุฉุกเฉินระหว่างไทยกับกัมพูชา โดย นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ H.E. General Kun Kim รัฐมนตรีอาวุโส และรองประธานคณะกรรมการบริหารจัดการภัยพิบัติแห่งชาติกัมพูชา
2.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กับกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมกัมพูชา โดย นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ H.E. Hem Vanndy รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมกัมพูชา
3.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการผ่านแดนสินค้าระหว่างกรมศุลกากรแห่งราชอาณาจักรไทยและกรมศุลกากรและสรรพสามิตแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา โดยนายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร และ H.E. Dr. Kun Nhem รัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี และกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา
4.บันทึกความเข้าใจระหว่าง ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยและหอการค้ากัมพูชา เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและกัมพูชา โดย ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM Bank และNeak Okhnha Kith Meng ประธานหอการค้ากัมพูชา
5.บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้ากัมพูชา โดยนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าไทย และ Neak Okhnha Kith Meng ประธานหอการค้ากัมพูชา
สำหรับการเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งนี้ นับเป็นการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เป็นโอกาสในการขยายความร่วมมือในด้านต่างๆ เพื่อประโยชน์ร่วมกันของไทยและกัมพูชา
โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดน การเพิ่มปริมาณการค้าและการลงทุน การส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่ง และการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน รวมถึงการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนสองประเทศ