ระวังจะเป็น Soft Brain การใช้ Soft Power และ Hard Power ในองค์กร ต้องให้เหมาะสมกับสถานการณ์
นาย สุริยพงศ์ ทับทิมแท้ อดีตกรรมการเศรษฐกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยแพร่บทความ “Soft Power ในองค์กร” ลงวันที่ 13 พ.ย. 66 โดยมีข้อความว่า
ในช่วงนี้หนึ่งในหัวข้อที่พูดคุยกันในสังคมคือเรื่อง Soft Power ที่ขออนุญาตไม่แปลหรือนิยามเป็นภาษาไทยเนื่องจากมีผู้รู้มากมายกำลังถกเถียงกันอย่างออกรสทั้งที่รู้จริง จำมาพูดหรือแม้กระทั่งพูดเข้าข้างตนเองแต่ Soft Power ในประเทศ ที่มีการพูดถึงประกอบด้วย 5F คือ Food อาหาร Film ภาพยนตร์ Fight มวยไทย Fashion เสื้อผ้าอาภรณ์ และ Festival เทศกาล
ซึ่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการใช้ Soft Power ดังกล่าวไปกระตุ้นให้เกิดความอยากของคนต่างประเทศมาเที่ยวและ ใช้จ่ายในประเทศไทยเพื่อสร้างรายได้จาก 5F ข้างต้น คล้ายคลึงกับละครแดจังกึม ของเกาหลีที่ทำให้นักท่องเทียวไปตามรอยสิ่งที่ละครได้แสดงไว้
หากพูดถึง Soft Power แบบเข้าใจง่ายก็น่าจะเป็นการใช้สิ่งนั้นสร้างอิทธิพล ต่อจิตใจผู้คนให้ตัดสินใจสู่เป้าหมายด้วยการไม่บังคับ เช่น การใช้ 5F ดังกล่าวมา ช่วยกระตุ้นความอยากมาประเทศไทยซึ่งเป้าหมายคือการท่องเที่ยวนั่นเอง
ในการบริหารองค์กรมีการพูดถึง Soft Power และ Hard Power มานาน แล้วนั่นก็คือ พระคุณ Soft Power และ พระเดช Hard Power ซึ่งปกติในองค์กร เรามักใช้อำนาจที่ได้มาโดยตำแหน่งในการจัดการองค์กรหรือการใช้พระเดช ผ่าน การออกกฎระเบียบและลงโทษ ในขณะที่ผู้บริหารบางท่านอาจเลือกใช้พระคุณใน การบริหารแทน เช่น การจูงใจและให้รางวัล
ทำให้ผู้บริหารต้องปรับใช้ Soft Power และ Hard Power ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ไม่เช่นนั้นเราอาจโดนนินทาลับหลังว่า ผู้บริหารคนนี้ Soft Brain ก็เป็นได้