
“หาที่เรียนใหม่ดีกว่ามั้ย?” ‘สมศักดิ์’ ติง ‘หยก’ กรณีถูกเพื่อนอุ้มออกจากรถบัส ถูกเพื่อนหัวเราะเยาะ เป็นเพียงปฏิกิริยาธรรมดา ไม่อาจเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519
สืบเนื่องจากกรณีที่ น.ส.ธนลภย์ ผลัญชัย หรือ หยก ทะลุวัง ถูกเพื่อน ๆ อุ้มออกจากรถบัส ก่อนที่จะออกเดินทางไปกิจกรรมของทางโรงเรียน เมื่อวานนี้ (23 ส.ค. 66) หยกได้โพสต์เฟสบุ๊ค อธิบายเรื่องราวและเหตุผลจากมุมมองของเธอ อีกทั้งยังเปรียบเทียบเหตุการณ์ดังกล่าวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยมีข้อความว่า…
หนูตัดสินใจไปค่ายเพราะหนูยังคงเห็นว่าโรงเรียนทำไม่ถูกที่คืนเงินมาเงียบๆแล้วถือว่าหนูไม่ใช่นักเรียนแล้ว หนูยืนยันว่าโรงเรียนไม่เคยมีหนังสือทางการแจ้งหนู ไม่เคยไล่หนูออกมีแต่ไปป่าวประกาศกับสังคม ไม่เคยให้มีส่วนร่วม
ครูไม่ให้หนูไปค่ายและบอกว่าหนูไม่ใช่นักเรียนแล้วเพราะคืนเงินมาแล้ว ครูให้เพื่อนๆช่วยกันอุ้มหนูลงมาจากรถ ครูถามเพื่อนว่ามีใครยังอยากให้หยกเรียนต่อมั้ย เพื่อนๆร่วมกันตอบว่าไม่ มีคนปรบมือดีใจ ตอนที่เพื่อนอุ้มหนูลงจากรถ
หนูรู้สึกตกใจหน้าเสียกับสถานการณ์แต่พยายามยิ้ม หนูตกใจที่ครูให้เพื่อนเข้ามามีส่วนร่วมกับเรื่องนี้และให้เพื่อนเข้ามาเป็นคนออกหน้า รวมถึงใช้วิธีให้เพื่อนๆทำอะไรแบบนี้
วันนี้โรงเรียนเอาตำรวจมากำจัดหนูด้วยเช่นกัน ตำรวจช่วยโรงเรียนกันหนูออกหลังจากครูให้เพื่อนเป็นคนมาอุ้มกำจัดหนูออกรถและเพื่อนหลายๆคนตบมือ หรือยิ้มดีใจเห็นด้วย
สวัสดีวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ในวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ณ โรงเรียนเตรียมพัฒน์ ขอบคุณโรงเรียน พี่ตำรวจและครูมากๆค่ะ บทเรียนนี้หนูจะไม่ลืม
อย่างไรก็ดี วันนี้นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟสบุ๊คกล่าวถึงข้อความของหยก ระบุว่าทั้ง 2 เหตุการณ์นั้นห่างไกลเกินกว่าที่จะนำมาเปรียบเทียบกัน สิ่งที่เกิดขึ้นกับหยกเป็นเพียงปฏิกิริยาธรรมดาที่เราพบเห็นกันเป็นประจำ อีกทั้งยังแนะนำให้หยก หาที่เรียนใหม่ โดยมีข้อความว่า…
เป็นเรื่องดี ที่คุณ “หยก” Thanalop Phalanchai ให้ความสนใจกับเหตุการณ์ “6 ตุลา” ถึงกับเอาเหตุการณ์นั้นมาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่คุณเจอที่โรงเรียน “สวัสดีวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ในวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ณ โรงเรียนเตรียมพัฒน์”
แต่ผมอยากจะติงว่า เหตุการณ์ทั้งสองยังห่างกันเกินกว่าจะเอามาเปรียบเทียบกันได้ การที่มีคนหัวเราะเยาะผู้ถูกทำร้ายและฆ่าตาย ด้วยการถูกแขนคอ, เผาทั้งเป็น ฯลฯ ในเช้าวันนั้น อาจจะเกินกว่าจะหาชมที่ใดได้อีก
การที่คุณ “หยก” ถูกเพื่อนหัวเราะเยาะในเมื่อวานเช้านั้น อาจเป็นเพียงปฏิกิริยาธรรมดาที่เราพบเห็นกันเป็นประจำ (เท่าที่เห็นบางคนลงจากรถมา ยกมือไหว้ขอโทษคุณหยกก่อนก็มี)
เรื่องเมื่อวานนั้น ชวนให้เรากลับมาคิดทบทวนใหม่ว่า ควรหาสถานที่เรียนแห่งใหม่หรือไม่? หรือพยายามกลับเข้าเรียน โดยยอมทำตามระเบียบแบบเดิมไปพลางก่อน (แต่ดูท่าอาจจะไม่ได้ผลแล้ว)?