ศิริราชเปิดตัว 2 นวัตกรรมสุดล้ำ พัฒนาการวินิจฉัยเอกซเรย์ด้วย AI และรักษาโรคสั่นที่ไม่ทราบสาเหตุ ด้วย MRI และอัลตราซาวด์
วันที่ 1 ก.พ. 2566 ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นประธานแถลงข่าว ศิริราชเปิดตัว 2 นวัตกรรมสุดล้ำ พัฒนาการวินิจฉัยเอ็กซเรย์ด้วย AI และรักษาโรคสั่นที่ไม่ทราบสาเหตุด้วย MRI และอัลตราซาวด์ ร่วมกับ ศ.คลินิก พญ.อัญชลี ชูโรจน์ หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา และ รศ. นพ.ตรงธรรม ทองดี ภาควิชารังสีวิทยา รศ.นพ.ฑิตพงษ์ ส่งแสง ภาควิชารังสีวิทยา อ.พญ.ยุวดี พิทักษ์ปฐพี ภาควิชาอายุรศาสตร์ รศ.ดร.นพ.ศรัณย์ นันทอารี ภาควิชาศัลยศาตร์ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนในการร่วมพัฒนา พร้อมผู้บริหารคณะฯ ณ ห้องประชุมจุฬาภรณ์ ตึกสยามินทร์ ชั้น 2 โรงพยาบาลศิริราช
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล มีนโยบายในการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งคณะฯ ได้ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท เพอเซ็ปทรา จำกัด ในการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ AI เพื่อการอ่านผลภาพทางการแพทย์และสร้างรายงานทางการแพทย์ เพื่อใช้ในการวินิจฉัยความผิดปกติของภาพเอกซเรย์ทรวงอก Chest X-ray
เกิดความร่วมมือด้านวิจัยพัฒนา สร้างองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างบุคลากรของทั้งสองฝ่ายในด้านการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำตามหลักวิชาและมาตรฐานทางการแพทย์
ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มทดลองใช้ระบบ AI นำร่องที่ภาพเอกซเรย์ทรวงอก พบว่า ผลภาพสามารถช่วยรังสีแพทย์ในการวินิจฉัยได้แม่นยำและรวดเร็วมากขึ้น มีประสิทธิผลในการรายงานผลการวินิจฉัยน้อยกว่า 10 วินาที มีเวลาพิจารณาภาพรังสีได้มากขึ้น ไม่ต่ำกว่า 800 รายต่อวัน และการรายงานผลภาพเอกซเรย์ก็จะมีความถูกต้องแม่นยำ
นอกจากนั้น AI ยังสามารถช่วยบ่งชี้รอยโรคโดยอ้างอิงจากข้อมูลภาพถ่ายรังสีเพียงอย่างเดียวได้ 8 สภาวะ ดังนี้
- เพิ่มและตัดสภาวะให้สอดคล้องกับการทำงานของรังสีแพทย์มากขึ้น
- พัฒนาและปรับปรุงอัลกอริทึมเพื่อให้มีความแม่นยำและความไวที่สูงขึ้นในรอยโรคที่สำคัญ
- เพิ่มจำนวนภาพของการสอนโมเดลเพื่อให้โมเดลมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นและสามารถครอบคลุมสภาวะที่มากขึ้น
- พัฒนาระบบมาเพื่อทำให้การทำงานของแพทย์รวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น การสร้างรายงานผลของแพทย์
- การวิจัยและตีพิมพ์รายงานเชิงวิชาการที่สอดคล้องกับประโยชน์ของการใช้ผลิตภัณฑ์
- การเสนอขออนุมัติองค์การอาหารและยาขององค์กรในต่างประเทศเพื่อส่งออกเทคโนโลยีในประเทศเพื่อนบ้าน
- การพัฒนาระบบให้สามารถใช้งานในโรงพยาบาลต่าง ๆ ได้โดยยังคงประสิทธิภาพการทำงานของระบบ (generalizability)
- การพัฒนาระบบเพื่อให้รองรับการทำงานทั้งในและต่างประเทศ
ปัจจุบัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้นำการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ AI เพื่อการอ่านผลภาพทางการแพทย์และสร้างรายงานทางการแพทย์เพื่อใช้ในการวินิจฉัยความผิดปกติของภาพเอกซเรย์ทรวงอก Chest X-ray ขยายผลในการให้บริการผู้ป่วยในโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก รวมทั้งโรงพยาบาลอื่น ๆ ในราคาถูกกว่า
ช่วยลดงบประมาณค่าใช้จ่ายโรงพยาบาลในประเทศไทย เมื่อเทียบกับการซื้อโปรแกรม AI มาจากต่างประเทศ และในอนาคตมีแผนจะดำเนินการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างปัญญาประดิษฐ์ฯ สำหรับใช้ในโรงพยาบาล นำไปสู่การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพต่อไป
นอกจากนี้ อีกหนึ่งความก้าวหน้าของนวัตกรรมทางการแพทย์ทางรังสีวิทยา คณะฯ ยังได้นำเทคโนโลยีการรักษาโรคสั่นด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงร่วมกับการถ่ายภาพเทคโนโลยี MRI guided Focused Ultrasound (MRgFUS) มาช่วยพัฒนาศักยภาพในการรักษาโรคทางด้าน Essential Tremor โดยไม่ต้องผ่าตัด
ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาพักฟื้นของคนไข้ได้อย่างมาก โดยโรงพยาบาลศิริราชจะเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทยและแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน ที่มีเครื่องมือแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยี MRgFUS ที่สามารถรักษาผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติของสมองในการสั่งการเคลื่อนไหวร่างกายได้
#TheStructureNews
#ศิริราช
ที่มา: คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ชาวไต้หวัน ต้องการบริโภคกาแฟเพิ่ม ‘พาณิชย์’ ชี้กาแฟไทยมีคุณภาพสูง และอาหารไทยเป็นที่รู้จักดีในไต้หวัน แนะไทยเข้าตีตลาดกาแฟ โดยใช้ของว่างแบบไทย ๆ เป็นจุดดึงดูด
“อินเดียจะไม่คว่ำบาตรรัสเซีย” นักวิเคราะห์ชี้อินเดียมองผลประโยชน์ชาติเป็นหลัก อีกทั้งสหรัฐและยุโรปก็ไม่กล้าตัดสัมพันธ์อินเดีย
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม