
กฎหมายการครอบครองปรปักษ์ ช่องโหว่ที่เปิดโอกาสให้เกิดการครอบครองโดยไม่สุจริต สมควรได้รับการพิจารณาทบทวนแก้ไข
ถือเป็นกระแสข่าวในสังคมที่ได้รับความสนใจ จากกรณีข่าวการเข้าครอบครองบ้านของผู้อื่นโดยปรปักษ์ ในย่านรามอินทรา โดยเจ้าของบ้านนั้นได้รับมรดกตกทอดมาจากอากู๋ (พี่ชายหรือน้องชายของมารดา) แต่เมื่อตนเองได้เข้าไปดูบ้านที่ได้รับมรดก
กลับพบว่าถูกเพื่อนบ้านเข้าครอบครองโดยปรปักษ์ มีการต่อเชื่อมไฟ และมีการต่อเติมบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาตแต่อย่างใด โดยอ้างสิทธิในการครอบครองปรปักษ์ อยู่อาศัยใช้ประโยชน์มานานเกิน 10 ปี
“การครอบครองปรปักษ์” นั้น ความจริงแล้ว เหตุการณ์นี้ไม่ถือว่าเป็นกรณีแรก แต่ปรากฏเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง หลายคดี และเกิดขึ้นได้กับที่ดินทุกประเภท ตั้งแต่ที่ดินเอกชน, ที่ดินกรรมสิทธิ์ หรือแม้กระทั่งที่ราชพัสดุ (รวมไปถึงที่ดินทหารบางส่วนด้วย)
และการอ้างสิทธิ์ในการครอบครองที่ดินปรปักษ์นั้น ถูกอ้างถึงในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพียงมาตราเดียว คือ มาตรา 1382 ซึ่งมีเนื้อความระบุว่า
“บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปีไซร้ ผ่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”
ซึ่งตามเนื้อความซึ่งได้มีการตีความมาโดยผู้เชี่ยวชาญนั้น จะหมายความว่า ขอเพียงเข้าไปใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินนั้น ๆ โดยไม่มีการใช้กำลังในการข่มขู่ และไม่ใช่การลักลอบแอบใช้งาน โดยมีเจตนาที่จะแสดงความเป็นเจ้าของ (ในทรัพย์สินของผู้อื่น) ตามระยะเวลา ก็จะสามารถอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของได้ โดยไม่จำเป็นต้องสนใจความถูกต้อง
และผู้ครอบครองปรปักษ์ในกรณีที่เป็นกระแสข่าวนั้นเองก็อาศัยข้อความตามมาตรานี้เพียงมาตราเดียว ในการเข้าครอบครอง ทั้ง ๆ ที่เห็นอยู่ว่าบ้านหลังดังกล่าวนั้น มีการปิดรั้วรอบขอบชิด บ่งชี้ถึงอาณาเขตการครอบครองแสดงความเป็นเจ้าของของเจ้าของบ้านอยู่ อาศัยช่องว่างในข้อกฎหมาย ที่ไม่ได้ระบุถึงลักษณะของการครอบครองปรปักษ์โดยสุจริต
อีกทั้งผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินนั้น ก็ต้องเสียภาษีที่ดิน ภาษีโรงเรือนตามกฎหมาย ถึงแม้ว่าจะมีการค้างจ่าย แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็มีอำนาจในการเรียกเก็บย้อนหลัง พร้อมบังคับให้มีการชำระค่าปรับ ในขณะที่ตามกฎหมายแล้ว ผู้ครอบครองปรปักษ์ไม่ต้องเสียภาษีในส่วนนี้ในขณะที่ตนเองเข้าครอบครองโดยปรปักษ์ แบบนี้ถือว่ามีความเป็นธรรมหรือไม่ ?
ดังนั้นแล้ว สภานิติบัญญัติ สมควรที่จะหยิบยกเอาปัญหานี้ขึ้นมาพิจารณาแก้ไข ทบทวน ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาจากการเข้าครอบครองปรปักษ์โดยไม่สุจริตในอนาคต
อ้างอิง
[1] เปิดใจเจ้าของบ้าน! หลังเพื่อนบ้านแสบบุกยึดบ้านรอบ 2, https://www.pptvhd36.com/news/สังคม/216875
[2] กรรณิกา พัสระ, “การครอบครองปรปักษ์ (Prescription)”, กลุ่มงานกฎหมาย 2 สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, https://www.senate.go.th/assets/portals/93/fileups/253/files/law%20week/57/2_257.pdf
[3] คณิต นิลอุบล, “ปัญหาความสุจริตในการครอบครองปรปักษ์”, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, http://www.lawgrad.ru.ac.th/AbstractsFile/6212015003/1613973337105f96764ccb4a544f159afcbdf038a2_abstract.pdf
[4] Property Scout, “การครอบครองปรปักษ์ คืออะไร? เรื่องที่ต้องรู้ก่อนสูญเสียบ้าน-ที่ดิน”, https://propertyscout.co.th/แนะนำ/การครอบครองปรปักษ์-คืออ/