แจงเหตุจุฬาฯ ไม่ถอดปริญญา ‘ดร.อานนท์’ ชี้แม้ผลสอบวิทยานิพนธ์ของณัฐพล ใจจริง จะมีหลักฐานเรื่อง การปลอมแปลง/ตกแต่งข้อมูล แต่จุฬาไม่กล้าถอด เพราะไม่มีระเบียบระบุไว้
สืบเนื่องจากกรณีที่มีคำสั่งศาลพิพากษายกฟ้อง ในคดีที่นายณัฐพล ใจจริง ผู้เขียนหนังสือ “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ” และ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ฟ้องหมิ่นประมาท ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทำให้กระแสสังคมตั้งคำถามว่า แล้วทำไมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงยังไม่มีมติถอดถอนปริญญาบัตรของนายณัฐพล ทั้งๆ ที่ผิดจริยธรรมร้ายแรงทางวิชาการจริงๆ
เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2567 ผศ.ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้ออกมาชี้แจงถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่าได้ไปสอบถามมาจากกรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่งมา จึงทำให้ทราบว่า
กรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรับทราบและรับรองผลการตรวจสอบ แต่ไม่กล้าลงมติถอดถอนปริญญาบัตรของนายณัฐพล ที่ถึงแม้ว่าจะผิดจริยธรรมร้ายแรงทางวิชาการจริงๆ
แต่ในทางกฎหมาย ในคือระเบียบของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเขียนเอาไว้แค่ว่าถอดถอนปริญญาได้ถ้าลอกมา (Plagiarism) แต่ระเบียบไม่ได้เขียนว่าถ้าตกแต่งข้อมูลหรือปั้นข้อมูลเท็จจะถอดถอนปริญญาบัตร
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคงไม่คิดว่าจะมีใครกล้าทำผิดจริยธรรมทางวิชาการร้ายแรงเช่นนี้ เลยไม่ได้เขียนระเบียบเอาไว้ และเมื่อไม่ได้เขียนระเบียบเอาไว้ให้ชัดเจน ต่อให้กระทำผิดร้ายแรงแค่ไหน กรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ไม่กล้าลงมติถอดถอนปริญญาบัตรของนายณัฐพล ด้วยเกรงว่านายณัฐพล จะไปฟ้องศาลปกครอง
“สรุปคือไม่มีกฎหมายจะให้เอาผิด เลยไม่เอาผิด ทั้งๆ ที่ทำผิดเต็มๆ ไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ” ผศ.ดร. อานนท์ระบุ
“ถ้าสิ่งที่ผมได้ยินมาเป็นความจริงทั้งหมด ผมก็รู้สึกเสียใจอย่างยิ่งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอันเป็นที่รักยิ่งของผมขาดความกล้าหาญทางจริยธรรมในการรักษาจริยธรรมทางวิชาการ ห่วงรักตัวเอง มากกว่าความถูกต้องทางวิชาการ
และห่วงรักตัวเองมากกว่าเกียรติภูมิจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพราะกลัวจะเจ็บตัว ต้องถือไม้เท้าหรือนั่งรถเข็นไปขึ้นศาลตอนแก่”
จริงๆ หากกรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะแก้ปัญหาอย่างกล้าหาญก็แค่ส่งระเบียบของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ศาลตีความว่าสามารถถอดถอนปริญญาบัตรหากวิทยานิพนธ์มีทั้ง Data falsification และ Data fabrication อันผิดร้ายแรงยิ่งกว่า Plagiarism เสียอีกในทางวิชาการ
ถ้าศาลท่านตีความมาว่าอย่างไร กรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็แค่ทำตามนั้น ไม่ใช่จะนั่งทับไว้จนตัวเองหมดวาระไปเฉยๆ” ผศ.ดร. อานนท์ระบุ