Articlesอนาคตและทิศทางของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของไทย

อนาคตและทิศทางของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของไทย

หุ่นยนต์เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อทำงานแทนคนในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะในการผลิต, การทำงานในบ้าน, ในสถานบริการ และในสถานพยาบาล โดยเฉพาะเมื่อโครงสร้างทางสังคมของไทยเปลี่ยนแปลงไป คุณภาพชีวิตและระดับการศึกษาของคนไทยสูงขึ้น จนคนไทยเริ่มปฏิเสธทำงานในกลุ่มงาน “แรงงานไร้ทักษะ” (Non-Skilled Labour) ซึ่งทั้งยากลำบาก, สกปรก และได้รับผลตอบแทนต่ำมากขึ้น อีกทั้งคนไทยที่ทำงานในกลุ่มแรงงานนี้ เริ่มมองหางานในต่างประเทศซึ่งมีผลตอบแทนที่สูงกว่า จนกลายเป็นช่องว่างให้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านของเรา หลั่งไหลเข้ามาทำงานในประเทศไทย

นอกจากนี้ ค่าแรงขั้นต่ำที่ดีดสูงขึ้น ทั้งจากสภาวะเงินเฟ้อของประเทศ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้การลงทุนในหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมและการบริการมีความน่าสนใจมากขึ้น ไม่ว่าจะในแง่ของจุดคืนทุนที่เร็วขึ้น, ความรวดเร็วแม่นยำที่มากกว่า และไม่มีปัญหาจุกจิกในด้านการบริหารบุคลากร (เช่นการขาดลา สิทธิวันหยุด)

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์เองก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน เนื่องจากเทคโนโลยีหุ่นยนต์นั้น ประกอบขึ้นจากเทคโนโลยีองค์ประกอบหลายเทคโนโลยี  อาทิเช่น เทคโนโลยีการควบคุม (Control Technology), เทคโนโลยีการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ (Machine to Machine; M2M) และ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) ทำให้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ จัดว่าเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง หรือ Deep Tech ที่ต้องใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชั้นสูงมากมาย

นับเป็นความโชคดีของประเทศไทย ที่คณะวิศวกรรมหลายแห่งมีความพยายามที่จะวิจัยและพัฒนาด้านหุ่นยนต์มาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว พัฒนาหุ่นยนต์เลียนแบบมนุษย์ (Humanoid) ตัวแรกได้สำเร็จใน พ.ศ. 2542 โดย สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือ ฟีโบ้ (Institute of FIeld roBOtics; FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อีกทั้งคนไทยเคยเป็นแชมป์โลกในการแข่งขันด้านหุ่นยนต์ในหลายรายการในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้แวดวงการวิจัยพัฒนาวิศวกรรมหุ่นยนต์ของไทยมีการค้นคว้าพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตลอดเวลา อาทิเช่น การพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อภารกิจเสี่ยงอันตราย การพัฒนาโดรนเพื่อการเกษตร และการดับเพลิง ซึ่งนี่ทำให้ประเทศไทยของเรา มีรากฐานองค์ความรู้ในด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์พอสมควร

นอกจากนี้ ด้วยนโยบายระดับกลยุทธ์ของชาติ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ที่กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในภาคอุตสาหกรรม จากเดิมที่เป็นอุตสาหกรรมใช้แรงงานเป็นหลัก สู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมและบริการยุคสมัยใหม่ ใช้ปัญญาในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics Industry) เองก็เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล (New S-Curve)

ในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 หุ่นยนต์ฝีมือคนไทยหลายตัวได้ออกมาให้บริการประชาชน ทั้งในโรงพยาบาลสนาม และในสถานบริการ เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิดตามมาตรการเว้นระยะห่าง Social Distancing อยู่หลายตัว ซึ่งเป็นผลลัพธ์ของความพยายามของคนไทยสายหุ่นยนต์และรัฐบาลนั่นเอง

สำหรับในภาคเอกชน มีความตื่นตัวในการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ด้วยเช่นกัน มีการจัดตั้งสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (Thai Automation and Robotics Association; TARA) ประกอบด้วยสมาชิกนิติบุคคลไทยที่ทำธุรกิจทางด้านระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ และ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ ที่มีผลงาน ด้านระบบอัตโนมัติ หรือหุ่นยนต์ เป็นที่ประจักษ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทยให้เติบโตทั้งในด้านการวิจัย ค้นคว้า นวัตกรรม และเป็นที่ปรึกษาการประยุกต์ใช้งานระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์

อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนที่ใหญ่ที่สุดของการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของไทยคือด้านเงินทุน เนื่องจากการพัฒนาหุ่นยนต์มีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนมูลค่าสูง ตลอดจนการศึกษาในอดีตที่ผ่านมาของไทยที่เน้นการท่องจำแต่ไม่ส่งเสริมการสร้างจินตนาการทางวิทยาศาสตร์ ทำให้บุคลากรทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมของไทยมีขีดจำกัดในการสรรค์สร้างนวัตรกรรมและองค์ความรู้ใหม่ ๆ

โชคดีที่กลุ่ม ปตท เล็งเห็นความสำคัญและโอกาสของประเทศในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการพัฒนาชาติตามแนวทาง ไทยแลนด์ 4.0 และ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ในด้านการศึกษา กลุ่ม ปตท. ก่อตั้ง “โรงเรียนกำเนิดวิทย์” ขึ้นเพื่อเป็นโรงเรียนระดับมัธยมปลาย หลักสูตรวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ขึ้น และส่งเสริมให้นักเรียนเลือกเรียนได้อย่างเสรีเป็นการพัฒนาศักยภาพ ตามความถนัด ความสามารถ ความรัก และความสนใจของนักเรียนเป็นรายบุคคล อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ใช้ความรู้และทักษะที่เรียนในการศึกษาวิเคราะห์วิจัยปัญหาในท้องถิ่นด้านสังคม ศิลปวัฒนธรรม อาชีพในท้องถิ่น และปัญหาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติอีกด้วย

โรงเรียนกำเนิดวิทย์สนับสนุนทุนการศึกษา คิดเป็นมูลค่าของทุนปีละ 880,000 บาท เพื่อศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ถึง 6 ณ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ ซึ่งตั้งอยู่ ณ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง โดยทุนดังกล่าวเป็นการออกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับค่าเล่าเรียน ค่าอาหาร ค่าที่พัก อีกทั้งยังสนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุด ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุด เพื่อสร้างบุคลากรแห่งอนาคตของประเทศ ให้เติบโตขึ้นมาเป็นบุคลากรในสายงานวิทยศาสตร์-คณิตศาสตร์ที่จะมาขับเคลื่อนนวัตรกรรมของประเทศในอนาคต

สำหรับชื่อโรงเรียน ได้รับพระกรุณาธิคุณของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงสนพระทัยในการจัดการศึกษาด้านคณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พระราชทานชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนกำเนิดวิทย์” อันหมายถึง “โรงเรียนที่เป็นแหล่งความรู้” เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

และในด้านอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ กลุ่ม ปตท จัดตั้งบริษัท AI and Robotics Venture (ARV) ขึ้นใน พ.ศ. 2562 เพื่อเป็นแพลตฟอร์มกลางในการวิจัยและ พัฒนานวัตรกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) และหุ่นยนต์ (Robotics) ทั้งในด้านเทคโนโลยี, การพัฒนาบุคลากร, การสร้างธุรกิจ และส่งเสริมเครือข่ายในอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งบริษัท พีทีที เรส (PTT Raise) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท มิตซุยแอนด์คัมปนี (ไทยแลนด์) จำกัด มุ่งเน้นในการให้บริการ One Stop Service ในด้าน Digital Transformation (DX) อย่างเต็มรูปแบบ ช่วยเหลือพัฒนาธุรกิจของไทย ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล, AI และหุ่นยนต์ได้อย่างเหมาะสม

นับได้ว่าศักยภาพของประเทศไทย มีจุดเริ่มต้นการเข้าสู่ยุคดิจิทัลได้ดี เรามีมหาวิทยาลัยที่วิจัยด้านหุ่นยนต์หลายแห่ง อีกทั้งยังมีบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่อย่างกลุ่ม ปตท ให้ความสนใจในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (S-Curve Industries) ตั้งแต่รากฐานการศึกษา ตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล

 

แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังห่างไกลจากเป้าหมายอยู่มาก โดยเฉพาะอุปสรรค์ด้านบุคลากร จากปัญหาด้านการศึกษาของไทยที่ไม่ส่งเสริมการสร้างสรรค์ต่อยอดเทคโนโลยี ซึ่งทำให้ภาครัฐมีความจำเป็นที่จะต้องปรับแก้ไขโครงสร้าง (Re-Engineering) องค์กรภาครัฐใหม่ และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้มีความพร้อมให้ได้เสียก่อน

นอกจากนี้ รัฐบาลเลือกพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ก่อน และแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) เพื่อการขับเคลื่อนภาคนโยบายสู่ภาคปฏิบัติการ เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มีต้นทุนที่ต่ำกว่าเทคโนโลยีหุ่นยนต์ อีกทั้งเทคโนโลยี AI ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ด้วยเช่นกัน ดังนั้น การลงทุนพัฒนา AI จะช่วยนำเม็ดเงินเติมกลับเข้ามาช่วยพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ได้ในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการปูทางไปสู่องค์ความรู้ด่านหุ่นยนต์ และฮิวมานอยด์ (Humanoid หุ่นยนต์เลียนแบบมนุษย์) ที่สมบูรณ์ได้ในอนาคต

ดังนั้น อนาคตของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของไทย อาจจะสรุปได้ว่ายังอีกไกล แต่จะไกลแค่ไหน ขึ้นอยู่กับรัฐบาลที่จะเข้ามารับช่วงต่อ จะมีความเข้าใจ และส่งเสริมได้อย่างถูกจุด ตรงประเด็นหรือไม่ แต่ด้วยศักยภาพที่ดีของคนไทย ทั้งในสถาบันวิจัย และในภาคเอกชน จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ ที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่ยุคสมัยแห่งหุ่นยนต์ได้อย่างแน่นอน

โดย ศิราวุธ ภุมมะกสิกร

 

 

อ้างอิง
[1] TNN Online, “ยอดใช้หุ่นยนต์ไทยพุ่ง อันดับที่ 12 ของโลก I EEC Focus I 17-12-65”, 
[2] International Federation of Robotics, “Market presentation World Robotics 2022 extended version”, 
[3] Techhub, “หุ่นยนต์สัญชาติไทย ไปไกลเรื่อง Robotics”, 
[4] สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น), “เปิดใจ “ทีมฟีโบ้” กับภารกิจสานฝัน หุ่นยนต์ 2 ขาในเวทีโลก”, 
[5] สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”, 
[6] สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.), “ยกระดับความสามารถด้วยนวัตกรรมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์”, 
[7] กระทรวงอุตสาหกรรม, “ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579)”, 
[8] สมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย, 
[9] โรงเรียนกำเนิดวิทย์, 
[10] AI and Robotics Venture (ARV),
[11] PTT Raise, 

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า