ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2567
เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2567 หม่อมอุ๋ย-หม่อมราชวงศ์ปรีดียาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี, ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ดร. คุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน แถลงข่าวเรื่องการทำหนังสือเปิดผนึกเกี่ยวกับความเสียหายของนโยบายพลังงานที่เป็นมาและกำลังจะเป็นไปในรัฐบาลชุดนี้ ถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยมีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้
1 รัฐบาลชุดปัจจุบันบริหารงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยการสร้างภาระหนี้ให้แก่กองทุนน้ำมันเพิ่มเกือบเท่าตัวภายใน 5 เดือน เพื่อการชดเชยราคาพลังงาน ตรึงราคา และมีความเสี่ยงที่หนี้กองทุนจะสูงขึ้นไปอีกจนแตะเพดานที่กฎหมายกำหนดคือ 110,000 ล้านบาทในเวลาอีกไม่นาน
2 นโยบายการปรับลดค่าไฟฟ้าเหลือหน่วยละ 3.99 บาท เป็นการซ้ำเติมภาระหนี้สินของ กฟผ. ที่ต้องแบกรับภาระค่าก๊าซธรรมชาติเหลว (LPG) ส่งผลให้หนี้สินของ กฟผ. เพิ่มเป็น 137,000 ล้านบาท ซึ่งสุดท้ายแล้ว ก็จะต้องนำเงินภาษีของประชาชนไปล้างหนี้ให้ กฟผ. เพื่อให้ กฟผ. สามารถดำเนินการได้ต่อไป
3 รัฐบาลที่แล้วได้จูงใจให้โรงกลั่นในประเทศทั้ง 6 โรง ลงทุนปรับกระบวนการผลิตให้ได้น้ำมันคุณภาพ Euro 5 ที่เป็น ซึ่งใช้เงินลงทุนไปจำนวนมากหลายหมื่นล้านบาท แต่ความพยายามในการปรับลดราคาน้ำมันของรัฐบาลปัจจุบันที่ไม่สะท้อนต้นทุนดังกล่าว อาจจะทำให้ผู้ค้าปลีกหันมากำหนดราคาขายกันเอง และจะไม่เชื่อถือมาตรการภาครัฐ ทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุน
4 นโยบายลดราคาน้ำมันของรัฐบาลปัจจุบัน ย้อนแย่งกับนโยบายการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่จะลดปัญหาควันพิษในอากาศเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
5 การปรับสูตรการคำนวนราคาก๊าซธรรมชาติใน Pool Gas ใหม่ที่และการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ) เป็นผู้ดำเนินการนั้น เป็นการกระทำที่นอกเหนือไปจากอำนาจหน้าที่เกินขอบเขตของกฎหมาย ทำลายขีดความสามารถในการแข่งขันของเครือข่ายอุตสาหกรรมปีโตรเคมี กระทบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานในระยะยาว
ทั้งนี้ ในถ้อยแถลง ม.ร.ว. ปรีดียาธรได้กล่าวว่า
“พวกผมได้ส่งหนังสือฉบับถึงนายเศรษฐา วันนี้ ประมาณ 11 โมงกว่า เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับ เพราะนโยบายเหล่านี้มาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่พวกผมพยายามขอหารือ ส่งข้อเสนอ แต่ไม่ได้รับการตอบรับ จึงต้องขอพึ่งนายกรัฐมนตรี เพราะหากปล่อยไว้จะส่งผล เสียหายใหญ่หลวงต่อประเทศจนพัง เกิดวิกฤติได้ ทั้งประชาชนและภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศ”