
เริ่มบังคับใช้แล้ว ผบ.ตร. ออกคำสั่งประกาศแนวการดำเนินการ บังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัย ล้มล้างวาทะกรรม “คุกมีไว้ขังคนจน”
สืบเนื่องจากการออกประกาศ พรบ. ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 ซึ่งออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 65 มีผลใช้บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย. 66 เป็นต้นไป ยกเว้น พรบ. ในบัญชีที่ 1 และ 3 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 25 ต.ค. 66 นั้น
24 ต.ค. 66 พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ลงนามใน คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 591/2566 เรื่อง แนวทางการดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
– ถ้าค่าปรับสูงเกิน 1 หมื่นบาท การพิจารณาปรับพินัยต้องทำเป็นองค์คณะ
– หากผู้ต้องหาปฏิเสธข้อกล่าวหา หรือไม่ชำระค่าปรับเป็นพินัย ให้ส่งสำนวนฟ้องศาลต่อไป ไม่น้อยกว่า 15 วันก่อนคดีขาดอายุความ
– เปิดช่องทางให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือบุคคลอื่น ติดต่อสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ ยื่นคำร้อง คำรับสารภาพ คำชี้แจงข้อกล่าวหา การปฏิเสธข้อกล่าวหา ได้
– สามารถผ่อนชำระได้
– ห้ามบันทึกการกระทำความผิดทางพินัยของบุคคลใดรวมไว้ในบันทึกประวัติอาชญากรรม
ซึ่งเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 66 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้แถลงถึง พรบ. ว่าด้วยการปรับเป็นพินัยเอาไว้ว่า
เป็นการปฏิรูปกฎหมายครั้งสำคัญโดยกำหนดให้ผู้กระทำความผิดเพียงเล็กน้อยต้องชำระค่าปรับอย่างเดียว ไม่มีการจำคุกหรือกักขังแทนการปรับ และไม่มีการลงบันทึกในประวัติอาชญากรรม โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มุ่งหวังผลักดันให้ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ลบล้างวาทกรรม ‘คุกมีไว้ขังคนจน’ และเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย
และยังกล่าวเอาไว้ด้วยว่า
ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดทางพินัยมีฐานะยากจนและกระทำความผิดด้วยความจำเป็นเพื่อยังชีพของตนและครอบครัว ให้กำหนดค่าปรับเป็นพินัยในอัตราต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 50 บาทหรือไม่น้อยกว่าอัตราขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ และสามารถขอผ่อนชำระค่าปรับเป็นพินัยโดยพิจารณาฐานะการเงิน รายได้ รายจ่าย และภาระหนี้สินของผู้กระทำความผิดทางพินัย