
ก้าวไกลถามเรื่องนักโทษเทวดา ด้าน รมว.ยุติธรรมชี้เป็นความรับผิดชอบรัฐบาลประยุทธ์ รัฐบาลนี้ไม่ได้รับรู้ด้วย ชี้ยึดหลักนิติธรรมเสมอ
วันที่ 21 ธ.ค. 2566 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่เป็นประธาน มีการพิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจาของ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ถามนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่าเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ให้คำมั่นสัญญาต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ว่าจะสร้างความเข้มแข็งให้กับหลักนิติธรรม และหลักประกันว่ากฎหมายจะเป็นธรรม บังคับใช้กับทุกคนอย่างเสมอภาค
จึงอยากถามถึงความเป็นธรรมและการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ต้องขัง รวมทั้งสิทธิในการรับการรักษาพยาบาลของผู้ต้องขัง เพราะผู้ต้องขังทุกคนต้องมีสิทธิ์เข้าถึงสถานพยาบาลอย่างเหมาะสม กรณีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็เช่นเดียวกัน และกรมราชทัณฑ์ จะมีการเกณฑ์พิจารณาการให้สิทธิ์ผู้ต้องขังออกไปรับการรักษาพยาบาลด้านนอกอย่างไรเพื่อไม่ให้สังคมเกิดความสงสัย เพราะนายทักษิณเข้าเรือนจำไม่ถึง 1 วันก็ถูกส่งตัวออกมารับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ
จนถึงวันนี้เป็นเวลาเกิน 120 วัน หากเทียบกับสิทธิของผู้ต้องขังรายอื่นที่ไม่ได้รับสิทธิเช่นเดียวกับนายทักษิณ เช่น นายเอกชัย หงส์กังวาน ที่ตรวจพบว่าเป็นฝีที่ตับ แต่กลับถูกส่งตัวเข้าเรือนจำระหว่างที่การรักษาไม่แล้วเสร็จ และแพทย์ระบุว่าเหตุของโรคมาจากความไม่ถูกสุขลักษณะภายในเรือนจำ
ทั้งนี้ กรณีของนายทักษิณ ทำให้สังคมตั้งคำถาม และขอให้ชี้แจง แสดงพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความจำเป็นที่นายทักษิณต้องพักรักษาตัวในห้องพิเศษ ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ที่เป็นชั้นวีไอพี มีความเหมาะสมและจำเป็นอย่างไร เพราะตามเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์ ห้ามแยกผู้ต้องขังอยู่ห้องพิเศษแยกออกจากผู้ป่วยทั่วไป เพื่อไม่ให้เกิดกรณีเลือกปฏิบัติผู้ต้องขังที่ร่ำรวย รวมถึงการออกระเบียบใหม่ของกรมราชทัณฑ์ให้คุมขังนอกเรือนจำได้ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้นายทักษิณหรือไม่ คดีใดบ้างจะเข้าตามระเบียบใหม่
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ชี้แจงแทนนายเศรษฐา ว่า นายทักษิณเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม วันที่ 22 ส.ค.2566 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่รัฐบาลเศรษฐาแถลงนโยบายวันที่ 11 ก.ย.2566 กระบวนการของนายทักษิณ รัฐบาลนี้จึงไม่ได้รับรู้ และการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นก่อนรัฐบาลปัจจุบัน และเมื่อเข้ารับตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม มีหน้าที่ปฏิบัติตาม
ยืนยันว่ารัฐบาลปัจจุบันยึดหลักหลักนิติธรรมและรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้ตรวจดูถึงการออกกฎหมาย เพราะถูกตราหน้าจากสังคมโลก ว่า มีนักโทษล้นคุก และมีลักษณะการทรมาณ ทำให้ไม่สามารถบริหารโทษผู้ต้องขังเฉพาะรายได้อย่างเหมาะสม เพราะกฎหมายไม่ให้อำนาจ รวมถึงให้มีสถานควบคุม หรือคุมขังประเภทอื่นนอกจากเรือนจำทำให้การบริหารเรือนจำไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ โดยกฎหมายหลักออกมาเมื่อปี 2560 แต่ไม่มีผู้ออกกฎรองหรือระเบียบ เพราะกรรมการราชทัณฑ์ไม่เคยมีการประชุม จนเข้ารับตำแหน่ง
พ.ต.อ.ทวี ชี้แจงด้วยว่าส่วนกรณีของนายทักษิณ ที่ทุกฝ่ายเรียกร้องให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ที่ทราบว่าพักรักษาตัวนอกเรือนจำ ครบ 120 วัน ซึ่งจะพูดเฉพาะข้อเท็จจริงที่ได้รับเป็นเอกสารเท่านั้น เพราะหากพูดเกินไปจะถูกมองว่าเป็นศรีธนญชัย ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับเอกสารใดๆ ทั้งนี้รับทราบจากอธิบดีราชทัณฑ์ว่า วันนี้ (21 ธ.ค.) จะส่งรายงานมา และมีหน้าที่เพียงรับทราบ แต่ไม่ใช่ผู้อนุมัติ
“ผมทราบว่ามีตัวแทนของหมอโรงพยาบาลตำรวจเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การตำรวจ และผมได้พูดคุยว่า เรือนจำคือที่คุมขังผู้ต้องขัง และสิ่งที่ต่อเนื่องตามกฎหมายถือว่าออกไปไหนไม่ได้ และมีผู้ควบคุม ไม่มีใครเยี่ยมได้ ซึ่งเป็นระเบียบเดียวกันกับเรือนจำ ผมถามหมอตรงๆ ท่านยืนยันว่า นายทักษิณป่วยจริง มีหลักฐานตามที่ปรากฎจริงและจากรายงานจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เรือนจำ พบว่าผู้ป่วยเป็นหลายโรค กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง และเป็นความเห็นของแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ที่ยืนยันว่าป่วยจริง” พ.ต.อ.ทวี กล่าว
ส่วนระเบียบราชทัณฑ์เป็นเกณฑ์ปกติ ไม่ใช่เฉพาะนายทักษิณ ซึ่งออกระเบียบแล้วไม่ใช่จะจบเรื่อง เพราะต้องเข้าประชุมกรรมการ ที่จะประชุมต้นเดือน ม.ค.2567 ที่มีผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกร่วมด้วย และขณะนี้เตรียมออกระเบียบอีกฉบับ ให้การคุมขังนอกเรือนจำครอบคลุมผู้ที่อยู่ระหว่างสอบสวนด้วย โดยให้ศาลพิจารณา