‘WHO’ แนะนำไทย ออกมาตรการจำกัดการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกช่องทาง ชี้ส่งผลลบต่อทั้งเศรษฐกิจ-สาธารณสุข-สังคม
เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2567 นพ. จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO) กล่าวถึงมาตรการแนะนำโดย WHO การลดการบริโภคและผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่ามี 3 มาตรการที่ได้ผลสูงได้แก่
1.ควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
2.ควบคุมกิจกรรมการตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
3.นโยบายด้านภาษีและราคา
ซึ่งต้องมีการดำเนินทุกมาตรการไปพร้อมกันทุกมิติ จึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด อีกทั้งยังกล่าวว่า มีรายงานการวิจัยระยะยาว 21 ชิ้นจากทั่วโลกที่ยืนยันว่าสื่อโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลกระทบต่อการเริ่มต้นดื่มของเด็กและเยาวชน และการดื่มหนักมากขึ้นในกรณีเป็นนักดื่มอยู่แล้ว
ซึ่งแนวทางการปฏิบัติที่ได้ผลดีที่สุดในการควบคุมกิจการการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือการมีกฎหมายเพื่อการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ใช่การปล่อยให้ภาคธุรกิจควบคุมกันเอง โดยควรมีการควบคุมทั้ง
1 เนื้อหาและปริมาณกิจกรรมการตลาด ควบคุมการตลาดทางตรงและทางอ้อมในสื่อทุกช่องทาง
2 ควบคุมกิจกรรมการให้ทุนอุปถัมภ์ที่ส่งเสริมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และจำกัดหรือห้ามกิจกรรมส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีกลุ่มเยาวชนเข้าร่วม
3 ควบคุมเทคนิคการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รูปแบบใหม่ เช่น การสื่อสารการตลาดในโซเชียลมีเดีย
เพื่อให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงสื่อ/กิจกรรมการตลาดน้อยลงในภาพรวม เพื่อเป็นกลไกป้องกันการเริ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประชากรกลุ่มนี้ และช่วยลดปัจจัยกระตุ้นการดื่ม หรือความอยากดื่มของผู้ดื่มหรือผู้ติดสุราด้วย
เพื่อป้องกันการชี้นำหรือการปรับเปลี่ยนค่านิยมของสังคมของอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบอย่างกว้างขวางทั้งในมิติด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคมโดยรวม
นพ. จอสกล่าวว่ามีโอกาสเข้าถึงสื่อทั้งทางกายภาพ และออนไลน์ได้เหมือนกับผู้ใหญ่ตลอดเวลา ดังนั้นมาตรการทางกฎหมายควบคุมสื่อโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ไม่สามารถแยกควบคุมการตลาดที่มุ่งเป้าไปสู่เด็กได้
ดังนั้นจึงควรออกมาตรการที่กำหนดสำหรับทุกช่องทางและเทคนิคกลยุทธ์การตลาด ควบคู่ไปกับมาตรการที่จำกัดการเข้าถึงทางกายภาพที่มีประสิทธิผลและระบบใบอนุญาตที่คำนึงถึงการกระจายของปัญหาจากการบริโภคร่วมด้วย