
ปฏิรูป ไม่เท่ากับ ล้มล้าง ‘ก้าวไกล’ ทำคลิปแจงเหตุผลร่างกฎหมายแก้ไข ม. 112 ชี้ป้องกันผูกขาดความจงรักภักดีไว้ปกป้องตัวเอง
เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2567 พรรคก้าวไกล ได้ลงคลิปวีดีโอบนสื่อโซเชียลมีเดีย โดยมีการเขียนแคปชั่นเพื่อยืนยันว่า การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครอง แต่เป็นไปเพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์ธำรงอยู่คู่สังคมประชาธิปไตย โดยมีข้อความว่า
“ปฏิรูป ต้องไม่เท่ากับล้มล้าง แก้ไข 112 ไม่เท่ากับล้มสถาบัน แต่คือหน้าที่ตามระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
พรรคก้าวไกลขอยืนยันว่า การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นไปเพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์ธำรงอยู่คู่สังคมประชาธิปไตย โดยสร้างสมดุลระหว่างการคุ้มครองประมุข กับการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน
เพราะการวางสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ในที่สูง ไม่ได้ใช้กฎหมายที่รุนแรงและโทษสูง แต่คือการธำรงสถานะของพระมหากษัตริย์ไว้บนฐานของเหตุผล สติปัญญา และความยินยอมพร้อมใจของประชาชน แก้ไขไม่ใช่ล้มล้าง”
ในขณะที่เนื้อหาในคลิปวีดีโอ เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงการรัฐประหารในอดีตของประเทศไทย ว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 49 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 แต่กลับไม่มีผู้นำการรัฐประหารคนใดเลยที่ติดคุก ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และลงจากอำนาจอย่างสุขสบาย และมีเกียรติ
ในขณะที่พรรคการเมืองหนึ่ง (หมายถึงพรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกล) กลับถูกกล่าวหาว่าล้มล้างการปกครองเพียงเพราะเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกทั้งยังกล่าวถึงเหตุการณ์ที่พรรคก้าวไกลได้ยื่นร่างกฎหมาย เพื่อแก้ไขมาตรา 112 ในวันที่ 10 ก.พ. 2564 แต่ถูกนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาในเวลานั้นส่งคืนให้ไปแก้ไข โดยระบุว่ามีเนื้อหาบางส่วนที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 6
อีกทั้งยังกล่าวถึงเหตุการณ์การลงคะแนนเสียงเพื่อการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกรัฐสภาปฏิเสธ โดยเหตุผลที่ทั้ง ส.ส. และ สว. กล่าวปฏิเสธนายพิธานั้น มุ่งเน้นไปที่การไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และการแก้ไขมาตรา 112
เนื้อหายังกล่าวต่อว่า ส.ส. ในฐานะผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ มีหน้าที่ในการออกและแก้ไขกฎหมาย ซึ่งรวมไปถึงมาตรา 112 ด้วย และในประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 นั้น พรรคก้าวไกลมีจุดประสงค์เพื่อ
1 รักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
2 เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ
3 เพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญ
พรรคก้าวไกลระบุว่าการกระทำดังกล่าวไม่ถือเป็นความผิด อีกทั้งยังกล่าวอ้างถึงกฎหมายหมิ่นประบรมเดชานุภาพในอดีต นับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มหาราช รัชกาลที่ 5 ว่าการติชมพระมหากษัตริย์โดยสุจริต และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะไม่ถือเป็นความผิด และกล่าวถึงกฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ใน พ.ศ. 2478 ว่ามีเนื้อความในลักษณะเดียวกัน
จากนั้นระบุว่า การแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล ก็มีลักษณะที่ไม่แตกต่างไปจากกฎหมายที่กล่าวอ้างข้างต้นในอดีต ก่อนที่จะกล่าวถึงประเด็นการลดโทษความผิดตามมาตรา 112 จาก 3 – 15 ปี เป็น จำคุกไม่เกิน 1 ปี
พรรคก้าวไกลระบุว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 โทษจากการหมิ่นพระมหากษัตริย์นั้น ยังน้อยกว่าที่พรรคก้าวไกลเสนอ โดยใน ร.ศ. 118 (พ.ศ. 2443) มีโทษเพียงไม่เกิน 3 ปี แต่ภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 รัฐบาลพลเรือเอก สงัด ชะลออยู่ มีการปรับเพิ่มโทษขึ้นเป็น 3-15 ปี
อีกทั้งยังกล่าวถึงข้อสรุปข้อหนึ่งของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นภายหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง พ.ศ. 2553 ซึ่งกล่าวว่ามีการใช้มาตรา 112 เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งเป็นการไม่ปกป้องสถาบัน และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการลดความขัดแย้งและสร้างความปรองดองในชาติ จึงเสนอให้มีการแก้ไขให้ลดโทษเหลือจำคุกไม่เกิน 3 ปี และให้สำนักพระราชวังมีอำนาจแจ้งความเท่านั้น
พรรคก้าวไกลระบุว่า ที่ผ่านมา มีการใช้มาตรา 112 ในการอ้างอิงเพื่อการปกป้องผลประโยชน์ส่วนตน โดยทั้งกลุ่มการเมืองและกลุ่มธุรกิจ จึงไม่ควรนำมาตรา 112 มาเป็นเครื่องมือในการทำลายล้างกัน เพื่อลดความขัดแย้งในสังคมไทยลง ยุติการนำสถาบันพระมหากษัตริย์ มาเป็นประเด็นทางการเมือง
พรรคก้าวไกลยืนยันว่า การแก้ไขมาตรา 112 ไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง เพราะไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ อีกทั้งระบุว่าการตรากฎหมายมีกลไกตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญทั้งก่อนและหลังการออกกฎหมาย
จึงขอยืนยันว่าการแก้ไขมาตรา 112 เป็นไปเพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่กับสังคมประชาธิปไตย สร้างสมดุลระหว่างการคุ้มครองประมุข กับการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ป้องกันการแอบอ้างแสวงหาผลประโยชน์ ผูกขาดความจงรักภักดีไว้ปกป้องตัวเอง และใช้เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง
พรรคก้าวไกลระบุว่า การแก้ไขมาตรา 112 เป็นการธำรงสถานะของพระมหากษัตริย์ไว้บนฐานของเหตุผล สติปัญญา และความยินยอมพร้อมใจของประชาชน