
‘ความเหงา’ และ ‘ซึมเศร้า’ เพิ่มโอกาสเสี่ยงโรคหัวใจและสมองเสื่อม แพทย์ใหญ่สหรัฐฯ เตือนต้องรีบแก้ไขด่วน ชี้ควรลดเวลาในโลกออนไลน์ให้น้อยลง
เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2566 นายแพทย์ Vivek Murthy แพทย์ใหญ่ของสหรัฐฯ ออกคำเตือนต่อสาธารณชนถึงอันตรายจากความเหงา พร้อมเรียกร้องให้ประชาชนและเจ้าหน้ารัฐปฏิบัติต่อกรณีนี้อย่างเร่งด่วนเช่นเดียวกับภาวะร้ายแรงอื่นๆ อย่าง โรคอ้วนหรือการใช้ยาในทางที่ผิด
นายแพทย์ Vivek Murthy กล่าวว่า ครึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่ในสหรัฐฯ ประสบกับความรู้สึกอ้างว้าง ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพจิตและร่างกาย รวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และที่น่าประหลาดใจกว่านั้นคือ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และภาวะสมองเสื่อม
นายแพทย์ใหญ่ ยังเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันในการ แก้ไขโครงสร้างทางสังคมของสหรัฐฯ รวมถึงการสอนเด็กๆ ถึงวิธีสร้างความสัมพันธ์ที่ดี พูดคุยกับญาติ เพื่อน และเพื่อนร่วมงานให้มากขึ้น รวมถึงใช้เวลาบนโลกออนไลน์ให้น้อยลง
ข้อมูลจากการวิจัยเปิดเผยว่า ระหว่างปี 2546-2563 ชาวอเมริกันใช้เวลากับเพื่อนลดลง 20 ชั่วโมงต่อเดือน ขณะที่เวลาที่ใช้กับตัวเองกลับเพิ่มขึ้นถึง 24 ชั่วโมงต่อเดือน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า แนวโน้มดังกล่าวน่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากชาวอเมริกันต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน
นายแพทย์ Vivek Murthy ยังระบุด้วยว่า ‘การแยกตัวออกจากสังคม’ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพเช่นเดียวกับการสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวัน ซึ่งอันตรายกว่าโรคอ้วนและการไม่ออกกำลังกาย
ความเหงายังนำไปสู่ภาวะเครียดเรื้อรัง ซึ่งจะทำให้เกิดการอักเสบที่ทำลายเนื้อเยื่อและหลอดเลือดและอาจเป็นสาเหตุของโรคภัยไข้เจ็บเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังเป็นตัวขัดขวางการพัฒนานิสัยในชีวิตประวำวันเพื่อการมีชีวิตที่มีสุขภาพดี เช่น การออกกำลังกายด้วย
“ผมต้องการให้สังคมเข้าใจถึงภัยสุขภาพที่เกิดจากผลกระทบของความเหงาและการปลีกตัวออกจากสังคม” นายแพทย์ Vivek Murthy กล่าว