
โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ อินโดนีเซีย เปิดตัวโครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ ใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รัฐบาลอินโดนีเซียเปิดตัวโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ หรือโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเพิ่มทางเลือกมากขึ้นในการเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ “จิราตา” (Cirata Floating Solar Farm) ซึ่งคาดว่าจะผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอสำหรับ 50,000 ครัวเรือน สร้างขึ้นบนอ่างเก็บน้ำขนาด 200 เฮกตาร์ (1,250 ไร่) ในจังหวัดชวาตะวันตก ห่างจากกรุงจาการ์ตาประมาณ 130 กิโลเมตร
“วันนี้ถือเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ เพราะความฝันอันยิ่งใหญ่ของเราในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่เป็นจริงแล้ว… อินโดนีเซียสามารถสร้างโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก” ปธน.โจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประธานในงานเปิดตัว กล่าว
โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทไฟฟ้าแห่งชาติของอินโดนีเซีย (PLN) และบริษัทพลังงานหมุนเวียน “มาสดาร์” (Masdar) ที่มีฐานในอาบูดาบี โดยใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี ด้วยเงินลงทุนราว 100 ล้านดอลลาร์ (3,577 ล้านบาท)
โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ “จิราตา” ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เขียวชอุ่มที่ล้อมรอบด้วยนาข้าว โดยได้รับทุนสนับสนุนจากธนาคาร Sumitomo Mitsui Banking Corporation, Societe Generale และ Standard Chartered ประกอบด้วยแผงโซลาร์เซลล์กว่า 340,000 แผง มีกำลังการผลิตสูงสุด 192 เมกะวัตต์ (MWp) และผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอสำหรับจ่ายไฟฟ้าให้กับพื้นที่เมืองจิราตา
วิโดโด ยังกล่าวด้วยว่า จะมีการขยายกำลังการผลิตเป็น 500 เมกะวัตต์ ขณะที่ PLN มั่นใจว่าจะขยายกำลังการผลิตได้มากถึง 1,000 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซีย ตั้งเป้าลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2603
นอกจากนี้ ยังพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593 เพื่อแลกกับการจัดหาเงินทุนภายใต้โครงการ Just Energy Transition Partnership (JETP) มูลค่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 7.15 แสนล้านบาท)
ภายใต้แผนดังกล่าว รัฐบาลอินโดนีเซียให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภาคพลังงานให้เหลือระดับสูงสุด 250 ล้านเมตริกตันภายในปี 2573 ลดลงจากระดับสูงสุดก่อนหน้านี้ที่ 290 ล้านเมตริกตัน
“เราหวังว่าจะมีการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นในอินโดนีเซีย เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม และพลังงานความร้อนใต้พิภพ” วิโดโด กล่าว
อย่างไรก็ตาม พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมต่างมีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด เนื่องจากอินโดนีเซียยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก
อินโดนีเซียตั้งเป้าที่จะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเป็นร้อยละ 23 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ภายในปี 2568 แต่วิโดโด ยอมรับว่าอาจไม่บรรลุเป้าหมายดังกล่าวเนื่องจากความล่าช้าที่เกิดจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลอินโดนีเซียได้ให้คำมั่นว่าจะหยุดสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ อย่างไรก็ดี การพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินบนเกาะชวาในปัจจุบันก็ยังคงดำเนินต่อไป แม้จะมีเสียงทักท้วงจากนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมก็ตาม
อินโดนีเซียยังพยายามวางตำแหน่งตัวเองเป็นผู้เล่นหลักในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในฐานะผู้ผลิตนิกเกิลรายใหญ่ที่สุดของโลก อย่างไรก็ตาม สวนอุตสาหกรรมบางแห่งกลับใช้พลังงานมหาศาลจากถ่านหินในการถลุง ซึ่งสวนทางกับเป้าหมายในการลดมลพิษของรัฐบาล
(1 ดอลลาร์ = 35.77 บาท)