Articlesรู้จักกับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล และปฏิบัติการฝนหลวงในเขต กทม. ไปจนถึงการเมืองที่สภาล่มแล้วล่มอีก เพราะนักการเมืองไม่อยากทำงานกันแล้ว

รู้จักกับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล และปฏิบัติการฝนหลวงในเขต กทม. ไปจนถึงการเมืองที่สภาล่มแล้วล่มอีก เพราะนักการเมืองไม่อยากทำงานกันแล้ว

อยากเริ่มด้วยประเด็นที่เป็นเรื่องดีงามต่อมวลมนุษยชาติ เป็นสิ่งดีๆ ต่อทุกคนทั่วโลก และสร้างชื่อเสียงอย่างมากให้ไทยมาตลอดคือ การพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา

 

ปีนี้ผู้ที่ได้รับรางวัลมี 4 คน สาขาการแพทย์ 1 คน คือ ศ.นพ.ราล์ฟ เอ ดีฟรอนโซ จากสหรัฐ เป็นผู้มีผลงานการศึกษาวิธีการรักษาโรคเบาหวานแบบเฉพาะบุคคล จนทำให้มีจำนวนผู้ป่วยและการเกิดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังทั่วโลกลงจำนวนลงอย่างมาก

 

สาขาการสาธารณสุข 2 คน คือ นพ.ดักลาส อาร์ โลวี ดร.จอห์น ที ชิลเลอร์ จากสหรัฐ และ ศ.นพ.เอียน เอช เฟรเซอร์ จากออสเตรเลีย ที่ค้นพบอนุภาคไวรัสที่สามารถยับยั้งเซลมะเร็งแบบ HPV นำมาซึ่งการพัฒนาผลิตวัคซีนป้องกันมะเร็งชนิดนี้ที่เป็นต้นเหตุของมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องปาก เป็นต้น ทำให้จำนวนผู้ป่วยทั่วโลกลดลงอย่างมากเช่นกัน

 

——————–
รู้จักกับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล
——————–

 

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ถือได้ว่าเกิดจากวิสัยทัศน์ของในหลวง ร.9 โดยแท้ ที่ทรงต่อยอดความปรารถนาของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ต้องการพัฒนาวิชาการแพทย์และการสาธารณสุขให้ประเทศไทย เพื่อให้คนไทยทั้งมวลมีสุขภาวะที่ดี

 

ยิ่งถ้าได้ศึกษาชีวประวัติของพระบรมราชชนกแล้ว จะยิ่งรู้สึกซาบซึ้งถึงน้ำพระทัยของพระองค์ท่านที่ไม่เคยคิดทอดทิ้งคนไทยแม้จะใช้เวลากว่าครึ่งชีวิตศึกษาเล่าเรียนอยู่ในยุโรปและสหรัฐ คอยนำสิ่งที่เป็นความเจริญและเป็นประโยชน์มาปรับใช้ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยอยู่ตลอดเวลา

 

ในหลวง ร.9 ทรงจัดตั้งรางวัลนี้เมื่อปี 2535 ในโอกาสครบรอบ 100 ปี แห่งการพระราชสมภพของพระบิดา ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลในแต่ละปีถือว่าเป็นบุคคลที่มีความสามารถทำคุณประโยชน์แก่คนทั้งโลก มีผู้เข้ารับรางวัลนี้จำนวนไม่น้อยที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในภายหลัง แสดงให้เห็นถึงมาตรฐานสูงของรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล

 

การจัดตั้งรางวัลนี้ถือเป็นคุณูปการใหญ่หลวงต่อประเทศไทยโดยแท้เพราะทำให้เกิดการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และการสาธารณสุขต่อไทย ส่งผลให้การเรียนการสอนวิชาแพทย์และสาธารณสุขของไทยก้าวหน้าแตกฉานยิ่งขึ้น

 

นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างเครือข่ายกับองค์กรการแพทย์ทั่วโลก  การทำ MOU ต่อยอดงานทดลองทางการแพทย์หลายสาขา สร้างมาตรฐานด้านการแพทย์การสาธารณสุขของไทยให้มีรากฐานที่แข็งแกร่ง พร้อมรองรับภัยพิบัติทัดเทียมกับต่างประเทศหรือบางสาขาก้าวล้ำกว่าหลายประเทศ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

 

เห็นได้ชัดเจนจากการตั้งรับกับการระบาดของโควิด 19 ที่ผ่านมา ที่ประเทศไทยได้รับการยกย่องจากองค์การอนามัยโลกให้เป็นแชมป์เปี้ยนด้านการจัดการสาธารณสุข

 

และถูกระบุว่าเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางสุขภาพเป็นอันดับ 5 ของโลกและอันดับ 1 ของเอเชีย ทั้งหมดนี้เกิดเพราะพระวิสัยทัศน์ของพระมหากษัตริย์ไทยที่มีพระเมตตาต่อราษฎรของพระองค์

 

——————–
ฝนหลวงไล่ฝุ่น
——————–

 

อีกประเด็นที่ถือเป็นเรื่องที่คนไทยต้องไม่ลืมคือ ฝนหลวง ที่มาช่วยขับไล่ฝุ่นละออง PM 2.5 ที่กรุงเทพ และเชียงใหม่กับจังหวัดใกล้เคียงเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา

 

คุณประยุทธ์ได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ตั้งศูนย์ปฏิบัติการที่เชียงใหม่และที่ระยอง เพื่อรอคอยโอกาสที่สภาพภูมิอากาศเป็นใจเอื้ออำนวยให้ใช้ศาสตร์ของพระราชาเลี้ยงก้อนเมฆให้อ้วน ส่วนกรุงเทพก็ต้องไปเลี้ยงที่แถวชลบุรีเพื่อให้ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดพาให้ก้อนเมฆมาตกเป็นฝนที่กรุงเทพ

 

ซึ่งก็ได้ผลในแถบพื้นที่รอบนอกกรุงเทพ บรรเทาความเดือดร้อนจากฝุ่นควันได้ระดับหนึ่ง ส่วนที่ภาคเหนือก็เลี้ยงเมฆให้อ้วนที่เชียงใหม่และอาศัยลมพาไปให้ฝนไปตกที่เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน

 

แม้ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาจะไม่ได้มีมากเท่ากับฝนที่ตกตามธรรมชาติ แต่ก็ช่วยบรรเทาให้ปัญหาของประชาชนบางพื้นที่ผ่อนคลายลงได้ไม่น้อยทีเดียว

 

ไม่ว่าใครจะตั้งข้อสังเกตโต้แย้งว่าฝนที่ตกลงมาไม่ใช่ฝนหลวงแต่เป็นฝนตามธรรมชาติก็ตาม แต่เป็นที่ประจักษ์ว่าคุณประยุทธ์ไม่เคยอยู่นิ่งเฉยดูดาย กลับใช้ทรัพยากรที่มีบวกกับศาสตร์ของพระราชามาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน แบบนี้ต้องให้เครดิตกัน

 

แต่ที่ต้องระลึกถึงคือพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงพระราชทานความรู้เรื่องฝนหลวงไว้ให้ และถูกนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาทุกข์ยากที่เกิดกับราษฎรของพระองค์อย่างถ้วนทั่ว

 

ใครจะไปคิดว่าพระราชดำรัสของในหลวง ร.9 ที่บอกว่า น้ำคือชีวิต ไม่ได้หมายถึงชีวิตของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ได้หมายถึงเกษตรกรชาวชนบทเท่านั้น แต่ยังช่วยต่อชีวิตของคนกรุงที่ต้องอาศัยน้ำจากฟ้ามาชะล้างอากาศให้หายใจอีกด้วย

 

การคิดค้นเรื่องฝนหลวงสะท้อนถึงน้ำพระทัยที่ต้องการช่วยเหลือราษฎรอย่างแท้จริง โดยไม่ยอมจำนนต่อธรรมชาติ แต่กลับนำธรรมชาติมาสร้างประโยชน์ให้ราษฎรของพระองค์ให้มากที่สุด

 

ทั้งสองเรื่องที่กล่าวมา ถ้าไม่ใช่พระวิสัยทัศน์และความรักที่มีต่อราษฎรทุกคน ไม่มีแยกกลุ่ม แยกเผ่าพันธุ์ แยกพวก แยกชนชั้นของพระมหากษัตริย์ไทยที่สืบทอดกันต่อๆมา ก็ไม่รู้ว่าคนไทยหรือประเทศไทยในวันนี้จะเป็นอย่างไร นี่คือ soft power ที่แข็งแกร่งที่สุดของประเทศไทยที่ไม่เคยออกมาโฆษณาเรียกร้องประโยชน์ใดๆ

 

——————–
เมื่อเทียบกับกลุ่มการเมืองที่คุกคามสถาบันฯ
——————–

 

ลองหันกลับไปเทียบเคียงกับคนบางกลุ่ม องค์กรบางองค์กร นักวิชาการ นักการเมืองบางคน พรรคการเมืองบางพรรค ที่พอมีโอกาสดีกว่าคนอื่น ไปศึกษาร่ำเรียนมาจากต่างประเทศ กลับมาก็อยากจะมีชีวิตเหมือนต่างประเทศ ออกมาต่อรองเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ อ้างว่าเพื่อสร้างความเป็นอารยะทัดเทียมกับประเทศที่เจริญแล้ว

 

อยากรู้ว่าที่ผ่านมามีอะไรที่พอจะนำเสนอได้ว่าสร้างคุณูปการต่อสังคมโดยรวมบ้าง สิ่งที่คิดออกมาแต่ละอย่าง คำพูดแต่ละคำ อย่างรัฐสวัสดิการบ้าง เพิ่มภาษีคนมีมาให้คนยากบ้าง ปฏิวัติสังคมบ้าง พวกประชาธิปไตยฝ่ายเผด็จการบ้าง

 

พูดให้ท้ายเด็กเยาวชนออกมาทำผิดกฎหมายต่อสู้กับรัฐ ล้วนแล้วแต่สร้างความขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย กลายเป็นความรุนแรงในสังคมทั้งสิ้นตัวอย่างมีให้เห็นชัดเจน

 

ต้องมาตั้งคำถามใหม่กันว่า ใครกันแน่ที่สร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติ ใครกันแน่ที่เป็นต้นเหตุหรืออุปสรรคขัดขวางความเจริญของประเทศ ใครกันที่ควรได้รับการดูแลปกป้อง ใครกันที่ควรจะได้ไปต่อ และใครควรจะยุติบทบาทได้แล้ว

 

——————–
สภาล่มแล้วล่มอีกเพราะนักการเมืองไม่อยากทำงาน
——————–

 

ปิดท้ายอาทิตย์นี้ขอเป็นเรื่องการเมืองว่าด้วยสภาล่ม พวกเราที่ติดตามข่าวสารบ้านเมือง คงเข้าใจดีว่าที่สภาผู้แทนราษฎรล่มซ้ำซาก ออกกฎหมายดีๆ ไม่ได้สักฉบับในช่วงเดือนสองเดือนมานี่ เป็นเพราะ ส.ส.เล่นเกมการเมืองกัน ไม่อยากได้กฎหมายอะไรก็ใช้วิธีทำให้องค์ประชุมไม่ครบ แทนที่จะเข้าไปนั่งประชุมแสดงความคิดเห็นแล้วลงมติไปตามนโยบายพรรคหรือความเหมาะสมของกฎหมาย

 

นอกจากนั้น ส.ส. มองอนาคตการเมืองแล้วเชื่อว่าต้องมีการยุบสภา การเลือกตั้งสมัยหน้ามีความสำคัญกว่าการออกกฎหมายดีๆ ให้ได้ในสมัยนี้ จึงใช้เวลาเดินเกมย้ายพรรคบ้าง วิ่งเต้นลง ส.ส. เขตหรือบัญชีรายชื่อบ้าง

 

บางคนหมดอนาคตทางการเมืองเพราะหาพรรคลงสมัคร ส.ส. ไม่ได้ พรรคเดิมไม่ส่งลงเลือกตั้งเพราะมีตัวเลือกใหม่ที่ดีกว่า มาทำงานก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรแล้ว เสียทั้ง เงินทองและเวลา เลยพาลไม่มาประชุมเสียเลย

 

แล้วก็มานั่งเถียงกันว่าใครมีหน้าที่รักษาองค์ประชุม ฝ่ายค้านก็บอกว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาล รัฐบาลก็บอกว่าเป็นหน้าที่ของ ส.ส.ทั้งสภา ประชาชนรับเคราะห์ ได้แต่มองตาปริบๆ ไม่ทำงานตามหน้าที่ ตามอาชีพ รับเงินเดือนหลวง เงินภาษีของประชาชน ถึงวันนี้ประชาชนทั้งประเทศทำใจให้ได้ก็แล้วกัน


——————–
ถึงคิว ส.ว.ทำสภาล่มบ้าง
——————–

​           

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา คราวนี้ไม่ใช่สภาผู้แทนล่ม แต่กลายเป็นรัฐสภาล่ม วันประชุมแก้ไข รัฐธรรมนูญ ตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี ส.ว.ลาประชุมไปเกือบร้อยคน ข่าวว่า ส.ว.ไม่ต้องการให้ ส.ส.ฝ่ายค้านมาด่าฟรีหรือตีหัวเข้าบ้าน บ้างก็ว่ากลัวเสียอำนาจเลยไม่มาประชุมเสียงั้น

 

คนส่วนใหญ่ก็ด่า ส.ว.กันตรึม รวมทั้งเราด้วย มันควรเข้าประชุม ไม่ควรทำตัวเช่น ส.ส. ไม่เห็นด้วย ก็ไปอภิปรายในสภา ลงมติไม่เห็นด้วยก็ลงไป ทำมาแล้วอย่างน้อยก็สองสามครั้ง ไม่มีพรรคใดแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ถ้า ส.ว.ไม่เอาด้วย จะไปหนีความจริงทำไม

 

สภาล่มคราวนี้ ส.ว. จึงโดนด่าไปเต็มๆ แต่ฟัง ส.ว.แก้ตัวในอีกวันสองวันหลังจากนั้น ทำให้ฉุกคิดขึ้นได้ว่ามันอาจจะมีเบื้องหน้าเบื้องหลังบางอย่างทำให้ ส.ว.เกือบร้อยคนลาประชุม เลยลองไปขุดคุ้ยดู ไปคุยกับ ส.ว.บางคน ส.ส. บางส่วน ที่เป็นผู้ใหญ่ความคิดกลางๆ มีมุมมองที่น่าสนใจเหมือนกัน เลยถือโอกาสมาฝากไว้ให้คิด เชื่อไม่เชื่อ ไม่ว่ากัน เราเองก็ไม่เชื่อเสียทีเดียว แต่ฟังดูมีเหตุมีผล

 

สรุปได้ว่ารัฐสภาล่มมาสองครั้งติดกันสองวันคือวันที่ 7 และ 8 กุมภาพันธ์ คุณชวนเรียกประชุมเป็นพิเศษ มีสองวาระสำคัญคือพิจารณา พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อกับแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

ส.ว. ก็คัดค้านไม่เห็นด้วย เพราะ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติที่กำลังพิจารณาค้างอยู่หายไปจากวาระ จึงทักท้วงคุณชวนว่ารัฐสภาต้องพิจารณาเรื่องนี้ต่อให้เสร็จเสียก่อนจึงจะไปพิจารณาอีกสองเรื่องนั้น

 

คุณชวนก็อธิบายว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการพิเศษ ไม่ใช่การประชุมทั่วไป ประธานรัฐสภามีอำนาจ จะบรรจุวาระเป็นอย่างใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องนำ พ.ร.บ.การศึกษา มาพิจารณาต่อ และยังไม่ตกไป

 

ส.ว. ไม่เห็นด้วย มีการอภิปรายกันอยู่นาน ขอเปลี่ยนวาระก็ไม่ได้ คุณชวนบอกว่าผิดข้อบังคับ ส.ว. ก็ต้องถอยยอมให้มีการพิจารณา พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อ ซึ่งถึงเวลาลงมติรับหลักการ องค์ประชุมก็ไม่ครบลงมติไม่ได้ ซึ่ง ส.ส.เองก็ไม่แสดงตนจำนวนมาก ไม่รู้หายไปไหน

 

ส.ว.ก็เช่นเดียวกันเพราะไม่เห็นด้วยกับคุณชวนมาตั้งแต่ต้น พอวันถัดมา พิจารณาเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ องค์ประชุมครบ ตอนเปิดประชุม เพราะ ส.ส.ระดมมามากอยู่ ส่วน ส.ว. ไม่มาประชุมเป็นร้อยคน วันนั้นมีญัตติของ ส.ว.ค้างอยู่เรื่องหนึ่ง กรณีประธานมีอำนาจเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการพิเศษหรือไม่ ต้องลงมติ ปรากฎว่าองค์ประชุมไม่ครบ ลงมติไม่ได้ ประธานต้องสั่งปิดประชุมไปตามข้อบังคับ

 

เหตุวันนั้นจึงถูกเรียกว่าสภาล่มเพราะ ส.ว. ลาเกือบร้อยคน เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงค้างในวาระอยู่ต่อไป เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.การศึกษา และ พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อ

 

เหตุวันนั้นฝั่ง ส.ว. อ้างว่าไม่มาประชุม เพราะไม่เห็นด้วยกับคุณชวนที่เรียกประชุมเป็นการพิเศษและไม่บรรจุ พ.ร.บ.การศึกษาไว้ในวาระ ไม่ได้กลัวเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้ตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี เพราะไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยมีการเสนอให้แก้ไขประเด็นนี้ในรัฐสภามาแล้ว ส.ว. เข้าร่วมการประชุม ฟังการอภิปราย เมื่อถึงเวลาลงมติ ก็ลงมติไม่เห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ ฟังไว้เป็นความรู้กัน

 

การเมืองก็คือการเมือง เป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ ถ้าใช้อำนาจนั้นเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน โลกก็จะสรรเสริญ ตรงกันข้ามถ้าใช้อำนาจนั้นเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือพรรคหรือพวก โลกก็จะติฉินนินทา และไม่ควรกาบัตรเลือกพวกเขากลับมามีอำนาจอีก

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า