
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 6 ต.ค. 66
วันที่ 6 ต.ค. 66 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปยังหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2565
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีพระราชทานพระราโชวาท ความตอนหนึ่งว่า
คำว่าอิสระทางความคิด ต้องมีอิสระทางความคิด เป็นที่นิยมใช้กันหลายวงการ จนเข้าใจกันไปว่า ไม่ต้องฟังความคิดผู้อื่น ถือความคิดของตนเป็นใหญ่ จริงอยู่ คำว่าอิสระ แปลว่า เป็นใหญ่ เป็นไทแก่ตัว ไม่ขึ้นแก่ใครๆ แต่ความเป็นใหญ่ทางความคิด ไม่สามารถเกิดขึ้นลอยๆ ได้ ความคิดอ่าน ต้องมีพื้นฐานของความรู้ความคิดรอบด้าน
จะเป็นใหญ่ทางความคิดได้ ต้องอาศัยการสะสมความรู้ กลั่นกรอง ไตร่ตรองให้ถูกต้องแจ่มชัด จึงจะสามารถเป็นใหญ่ทางความคิด นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ แก่ตนเอง และส่วนรวมได้ เช่นนี้ จึงนับว่า เป็นใหญ่เหนือความคิด บังคับบัญชาความคิดได้
การดื้อดึงถือความคิดของตนเองเป็นใหญ่ ที่ไม่มีรากฐาน ไม่ฟังความคิดผู้อื่น ไม่หาความรู้เพื่อตรวจสอบว่า คิดถูกต้อง สมควรเป็นประโยชน์หรือไม่ เรียกได้ว่า เป็นทาสของความคิด ถูกความคิดอันไม่ได้ไตร่ตรอง ให้ถูกต้องครอบงำ เมื่อนำไปใช้ จึงเกิดความเสียหายเดือดร้อน อาจจะรุนแรงถึงเป็นภัยฆ่าฟันกัน
บัณฑิตทั้งหลาย เป็นผู้เล่าเรียนมาก จึงเป็นความหวังของบ้านเมืองว่า จะได้รู้จักใช้ความคิด รู้จักไตร่ตรอง ฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รู้จักเสาะแสวงหาความรู้ มาพิจารณา ให้ทราบตระหนักว่า ความคิดอ่านของตน ถูกต้อง เป็นประโยชน์รอบด้าน เป็นคุณต่อบ้านเมือง