Newsสงครามขี้นก ย้อนรอย ‘สงครามเศรษฐกิจ’ เพื่อช่วงชิงความเป็นหนึ่ง เหนือพื้นทวีปอเมริกา

สงครามขี้นก ย้อนรอย ‘สงครามเศรษฐกิจ’ เพื่อช่วงชิงความเป็นหนึ่ง เหนือพื้นทวีปอเมริกา

เมื่อนึกถึงทรัพยากรยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญยิ่งยวดในปัจจุบันก็มักจะนึกถึงวัตถุดิบอย่างน้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ยูเรเนียม หรือแม้แต่แร่ธาตุหายากสารพัดอย่างที่ต้องใช้งานในระบบอุตสาหกรรมปัจจุบันและอนาคตทั้งหลาย ก็นับได้ว่า เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าเป็นอย่างมากและทุกประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศมหาอำนาจต่างก็ต้องการทรัพยากรยุทธศาสตร์ดังกล่าวเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนและรักษาความแน่นอนทางเศรษฐกิจให้ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องด้วยกันทั้งสิ้น

 

แต่ถ้าย้อนกลับไปในอดีต ก็จะพบว่า ทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญในระดับทรัพยากรยุทธศาสตร์ได้มีการปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยและบริบททางเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงไป อย่างในช่วงเริ่มแรกของอารยธรรมมนุษย์ ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม้เนื้อแข็ง แร่ทองคำและแร่เงิน ต่างก็เป็นทรัพยากรยุทธศาสตร์ในช่วงขณะนั้น ซึ่งแร่ทองคำและแร่เงินก็ยังคงความสำคัญในระดับหนึ่งมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะทองคำที่มีความสำคัญในฐานะการรับรองค่าเงินทางเศรษฐกิจที่ได้รับการยอมรับในเวทีโลก 

 

และช่วงเวลาสำคัญของประวัติศาสตร์มนุษย์ที่ถือได้ว่า เป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ ก็คงหนีไม่พ้นเหตุการณ์การปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่ได้แปรเปลี่ยนการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ในลักษณะที่พลิกโฉมโลกทั้งใบทั้งในเรื่องเทคโนโลยีที่ได้มีริเริ่มนวัตกรรมเปลี่ยนโลกมากมาย การพัฒนาด้านสาธารณสุขที่ลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และการเกิดขึ้นของรากฐานระบบเศรษฐกิจแบบ “ทุนนิยม” ที่กลายเป็นเสาหลักของสังคมหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา

 

อย่างไรก็ตาม หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมในทวีปยุโรปได้เริ่มค่อย ๆ เกิดขึ้นนั้น ได้ส่งผลกระทบสำคัญอย่างหนึ่งคือ การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ผลผลิตทางการเกษตรได้ลดลงจากทั้งการสูญเสียแรงงานทางการเกษตรเพื่อเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและการประสบปัญหาดินเสื่อมจากการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ความต้องการผลผลิตมีมากกว่าผลผลิตจริงและต้องมีการนำเข้าสินค้าทางการเกษตรอย่างต่อเนื่อง

 

ระหว่างในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมนี้ ได้มีทรัพยากรธรรมชาติหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง คือ “มูลสัตว์แห้ง (Guano)” ซึ่งได้มีการสำรวจที่หมู่เกาะแห่งหนึ่งในเปรูโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันและนำไปศึกษาวิจัยต่อ โดยความสนใจของทรัพยากรนี้คือ การมีความหนาแน่นของแร่ธาตุต่าง ๆ ที่สูง ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ในการบำรุงดินและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งหมู่เกาะในเปรูก็เป็นบริเวณที่มีปริมาณ “มูลสัตว์แห้ง” เป็นจำนวนมหาศาล เมื่อเทียบกับที่อื่น ๆ บนโลก ในช่วงนั้น จึงทำให้ “มูลสัตว์แห้ง” กลายเป็นปุ๋ยชนิดแรก ๆ ของโลกที่มีการใช้งานแพร่หลายในห้วงต่อจากนี้

 

ซึ่งทำให้อังกฤษได้เข้ามามีบทบาทในการค้ามูลสัตว์แห้งที่มีที่มาจากนกและค้างคาวนี้อย่างจริงจัง โดยได้มีการร่วมลงทุนกับทางรัฐบาลเปรูในการทำเหมืองมูลสัตว์แห้งและนำมูลสัตว์แห้งที่ขุดมาได้แล้วส่งกลับทวีปยุโรปผ่านเส้นทางการเดินเรือระหว่างเปรู-ทวีปยุโรป โดยผ่านเกาะอังกฤษ และทั้งหมดนี้ก็ทำให้อังกฤษได้เข้ามามีความสำคัญในการค้าทรัพยากรล้ำค่าในช่วงขณะนั้น รวมทั้งทำให้เปรูกลายเป็นประเทศร่ำรวยและเข้ามามีบทบาทในทางเศรษฐกิจโลกอย่างจริงจัง

 

ในช่วงเวลาต่อมา เปรูได้ประกาศทวงคืนเหมืองมูลสัตว์แห้งให้เป็นของรัฐพร้อมกับชดเชยหนี้สินที่มีกับทางรัฐบาลอังกฤษจนหมด พร้อมกับการขึ้นมามีบทบาทในการผูกขาดการค้าทรัพยากรล้ำค่านี้โดยการใช้วิธีการต่าง ๆ ในการปั่นราคามูลสัตว์แห้งให้สูงขึ้น และนำเม็ดเงินดังกล่าวมาใช้เป็นทุนพัฒนาประเทศให้ทันสมัยตามประเทศตะวันตก ทั้งการพัฒนาเมืองหลวงให้มีสิ่งปลูกสร้างสวยงามมากขึ้น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งท่าเรือและรางรถไฟ รวมทั้งได้ริเริ่มระบบการศึกษาภาคบังคับในประเทศ

 

ทว่านอกเหนือจากการพัฒนาดังกล่าว ก็ไม่ได้มีการนำเม็ดเงินมหาศาลที่มีอยู่ในระบบมาขยายศักยภาพเศรษฐกิจภาคส่วนอื่น ๆ มากนัก นอกเหนือจากการขยายกำลังการขุดมูลสัตว์แห้งผ่านนำเข้าแรงงานต่างประเทศเข้ามาทำเหมืองดังกล่าว ประกอบกับปัญหาการทุจริตและการแบ่งพรรคแบ่งพวกที่รุนแรงในประเทศจนทำให้ขาดความสนใจในการลงทุนโครงการทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ ที่สามารถให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในระยะยาว จากเรื่องนี้

 

อีกประเด็นที่สำคัญของเรื่องนี้คือ นอกจากอังกฤษที่เป็นคู่ค้าสำคัญแล้ว สหรัฐอเมริกาก็เป็นคู่ค้าสำคัญเช่นกันเนื่องจากมีความต้องการทรัพยากรชนิดนี้ในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเช่นกัน และเมื่อถูกปั่นราคาจนมีราคาที่แพงนั้นก็ได้ทำให้สหรัฐอเมริกามีการประกาศให้ “มูลสัตว์แห้ง” เป็นทรัพยากรยุทธศาสตร์ที่มีผลต่อความมั่นคงต่อชาติ และมีการสนับสนุนให้ชาวอเมริกันเข้าไปจับจองพื้นที่หมู่เกาะต่าง ๆ ทั่วโลกที่คาดว่า มีแหล่งมูลสัตว์แห้ง และไม่มีใครที่ตั้งรกรากเดิม ควบคู่กับการประกาศให้พื้นที่หมู่เกาะดังกล่าวให้เป็นส่วนหนึ่งของดินแดนสหรัฐอเมริกา

 

โดยบริเวณที่ได้มีการสำรวจหลัก ๆ ก็จะอยู่บริเวณทะเลแคริบเบียนและมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งแม้ว่าในแต่ละบริเวณที่ได้มีการค้นพบนั้นจะไม่ได้มีจำนวนมูลสัตว์แห้งมากนัก แต่ด้วยการค้นพบหลายหมู่เกาะจึงเป็นการกระจายความเสี่ยงและสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระดับหนึ่ง พร้อมกับการเป็นบันไดแรกสู่การแผ่อิทธิพลในเวทีโลกจากการสำรวจหมู่เกาะต่าง ๆ เพื่อสนองนโยบายการกระจายความเสี่ยงของทรัพยากรยุทธศาสตร์ ซึ่งจะกลายเป็นรากฐานของการดำเนินนโยบายของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน

 

กลับกันกับโครงสร้างเศรษฐกิจเปรูที่เริ่มสั่นสะเทือนในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 จากทั้งวิกฤตเศรษฐกิจย่อม ๆ ในทวีปยุโรปที่ทำให้ราคาทรัพยากรปฐมภูมิลดลง จำนวนมูลสัตว์แห้งคงเหลือที่ลดลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งภาระรายจ่ายที่มีอยู่มหาศาล จึงทำให้เปรูประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตการเมืองรุนแรงซึ่งจะยิ่งบานปลายกว่าเดิมเมื่อติดภาระสงครามกับชิลีเพื่อแย่งพื้นที่แร่ธาตุไนเตรต (Nitrate) ที่เป็นทรัพยากรสำคัญเช่นกัน และเมื่อเปรูเป็นผู้แพ้สงครามก็ย่อมต้องแบกรับภาระการชดใช้มหาศาลพร้อมกับการเผชิญหน้ากับวิกฤตมากมายในประเทศจากจำนวนมูลสัตว์แห้งที่แทบไม่เหลือและราคาที่ตกต่ำลงจากบริบทเศรษฐกิจโลก

 

สุดท้ายนี้ แม้ว่าปุ๋ยสังเคราะห์จะเริ่มคิดค้นและพัฒนาในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 และได้ลดความสำคัญของมูลสัตว์แห้งลง แต่ก็ตอบย้ำถึงความสำคัญของทรัพยากรยุทธศาสตร์ในการชี้นำภูมิรัฐศาสตร์โลกในช่วงเวลาหนึ่งและการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศที่ครอบครองทรัพยากรดังกล่าวให้เจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อทรัพยากรเริ่มหมดลงและบริบทของทรัพยากรยุทธศาสตร์เริ่มเปลี่ยนไปก็ย่อมทำให้ความรุ่งเรืองดังกล่าวแทบจะหมดไปอย่างรวดเร็ว หากไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมที่ดีเพียงพอ

 

ขณะเดียวกัน การมีบทบาทของมูลสัตว์แห้งในทางการเกษตรและการปั่นราคาขึ้นของรัฐบาลเปรูจนทำให้มีราคาสูงในช่วงเวลาหนึ่งก็เป็นแรงผลักดันสำคัญให้สหรัฐอเมริกาที่ได้ดำรงนโยบายโดดเดี่ยวตนเองเริ่มมีความพยายามในการสำรวจหมู่เกาะต่าง ๆ ทั่วแปซิฟิกเพื่อค้นหามูลสัตว์แห้งในการขับเคลื่อนเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งจะเป็นหมุดหมายแรกของการแผ่ขยายอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาที่เคยกระจุกอยู่แค่ในทวีปอเมริกาให้กว้างขวางขึ้น และเป็นพื้นฐานของการสร้างอิทธิพลนำในมหาสมุทรแปซิฟิกและกลายเป็นมหาอำนาจโลกในช่วงหลังคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา

โดย ชย

อ้างอิง:

[1] Guano Islands, Islets, and Capes National Reserve System form Peru (RNSIIPG) 

https://whc.unesco.org/en/tentativelists/6422/

[2] The Great Peruvian Guano Bonanza: Rise, Fall, and Legacy

https://coha.org/the-great-peruvian-guano-bonanza-rise-fall-and-legacy/

[3] When the Western World Ran on Guano

https://www.atlasobscura.com/articles/when-the-western-world-ran-on-guano

[4] How Guano Islands Helped Build an American Empire

https://news.wttw.com/2019/04/16/how-guano-islands-helped-build-american-empire

[5] The Smithsonian and the 19th century guano trade

https://americanhistory.si.edu/explore/stories/smithsonian-and-19th-century-guano-trade-poop-crap

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า