
ไม่ใช่ทุกคนต้องการเงิน 1 หมื่นบาท ธปท. ชี้ภาคการบริโภคดีอยู่แล้ว ควรกระตุ้นการลงทุน พักหนี้เกษตรกร ไม่ควรเป็นเครื่องมือหลัก และควรทำเฉพาะกลุ่ม
วันที่ 14 ก.ย. 66 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าหลังจากที่ได้หารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ธปท. มีข้อกังวลในเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากไตรมาส 2 เศรษฐกิจฟื้นตัวได้มีดีนัก โดยเติบโตได้ต่ำกว่าที่คาดเพียง 1.8% แต่การบริโภคในประเทศเติบโตได้ดีทั้งในไตรมาส 1 และ 2 ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ควรจะกระตุ้นมากกว่า คือ กระตุ้นการลงทุน
“สิ่งที่เราขาดจริงๆ อาจจะไม่ใช่เรื่องการบริโภค แต่เป็นเรื่องของการลงทุนมากกว่า…การทำนโยบายต่างๆ ควรต้องเป็นเฉพาะกลุ่ม ซึ่งจะประหยัดงบประมาณได้มากกว่า เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะ need เงิน 1 หมื่นบาท นี่คือที่เราคุยกับรัฐบาลไป รวมทั้งที่สำคัญ การทำนโยบายต่างๆ ต้องฉายภาพระยะปานกลางให้ชัด เช่น ภาพรวมรายจ่าย หนี้ การขาดดุล ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นเรื่องวินัยการคลัง การบริหารภาพรวมฐานะการคลังให้อยู่ในกรอบในทุกมิติ ” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
สำหรับนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาทนั้น ต้องรอดูความชัดเจนของรูปแบบการทำนโยบายก่อน ที่ผ่านมา ธปท. พูดมาตลอดว่าไม่สนับสนุน Digital Asset เพราะจะกลายเป็นตัวกลางชำระเงินที่ไม่มีเสถียรภาพ แต่ถ้าเป็น e-Money ที่มีอยู่แล้วในระบบปัจจุบัน ก็ต้องไปดูว่าจะเกิดอุปสงค์ (Demand) กระตุ้นเศรษฐกิจและผลกระทบการคลังอย่างไร
“ต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้นโยบายที่ออกมา ที่สำคัญคือไม่ทำลายหรือกระทบเสถียรภาพเยอะเกินไป หรือเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ขึ้น” นายเศรษฐพุฒิกล่าว
นอกจากนี้ นายเศรษฐพุฒิยังกล่าวถึงนโยบายพักหนี้เกษตรกรว่าการพักชำระหนี้ไม่ควรเป็นเครื่องมือหลัก ถือเป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยดูแลและแก้ปัญหาหนี้ให้กับเกษตรกร และไม่ควรทำในวงกว้าง แต่ต้องเลือกทำเฉพาะกลุ่ม หรือทำเป็นการชั่วคราว เพราะการพักชำระหนี้ในวงกว้างอาจจะมีผลข้างเคียงได้มากกว่า
“เกษตรกรบางกลุ่มมีศักยภาพที่จะชำระหนี้ได้ ต้องหาวิธีให้เขาปิด-จบให้ได้ ส่วนบางกลุ่มที่เป็นหนี้เรื้อรัง ปิด-จบยาก การพักหนี้ไม่ได้ช่วยอะไร การพักหนี้ ควรเป็นหนึ่งในเครื่องมือ แต่ไม่ควรเป็นเครื่องมือหลัก และไม่ควรใช้ในวงกว้าง ควรใช้เฉพาะจุด” นายเศรษฐพุฒิกล่าว