
ควรส่งเสริม BEV ‘กสิกร’ ชี้การพัฒนาฐานการผลิต BEV ช่วยลดมูลค่าผลกระทบ ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ใช้น้ำมันเหลือ 2.1 แสนล้าน ชี้ควรช่วยตั้งแต่ Tier 2 ลงมาด้วย
วันที่ 23 เม.ย. 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยแพร่บทความ “การพัฒนาฐานการผลิต BEV (Battery EV) ในไทยช่วยลดผลกระทบต่อห่วงโซ่รถใช้น้ำมันเหลือ 2.1 แสนล้านบาทใน 10 ปี” โดยระบุว่า การมาของ BEV ในช่วงปี 2566-2575 อาจกระทบต่ออุตสาหกรรมรถใช้น้ำมันทั้งภาคการผลิตและบริการกว่า 6 แสนล้านบาท หากไทยไม่ส่งเสริมขึ้นเป็นฐานผลิต BEV ควบคู่กับรถใช้น้ำมัน
อีกทั้งยังระบุว่า มาตรการภาครัฐจะมีส่วนในการลดผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) รถใช้น้ำมันให้เหลือ 2.1 แสนล้านบาท โดยกลุ่มที่ควรได้รับความช่วยเหลือก่อนคือผู้ผลิตชิ้นส่วนตั้งแต่ Tier 2 ลงมา โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับรถใช้น้ำมัน
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยมีห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ทั้งในส่วนการผลิตและการขาย ซึ่งเดิมเกี่ยวพันกับรถยนต์ใช้น้ำมันเป็นหลัก การมาของเทคโนโลยี BEV ที่ขยายไปทั่วโลกไม่หยุดนี้ ย่อมกระทบอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยที่ปัจจุบันสร้างรายได้เป็นมูลค่ากว่า 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี หรือราว 9% ของ Nominal GDP
ครอบคลุมแรงงานทั้งระบบเกือบ 1 ล้านคน อย่างไม่อาจเลี่ยง โดยเฉพาะหากไทยไม่สามารถสร้างห่วงโซ่อุปทาน BEV ขึ้นในประเทศได้มากพอ และถูก BEV นำเข้าบุกตลาด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า หากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมไม่ทำอะไรผลกระทบสะสมต่อห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ในประเทศที่มีอยู่เดิม คิดเป็นมูลค่าเบื้องต้นจะลดลงถึง 6 แสนล้านบาท ในช่วงปี 2566 ถึงปี 2575
อย่างไรก็ดี การใช้มาตรการส่วนลดของภาครัฐในปี 2566 ถึงปี 2570 ที่ตั้งงบไว้ 4.5 หมื่นล้านบาท แม้เป็นต้นทุนหนึ่งที่ต้องเสียไป แต่อีกด้านได้เพิ่มผลบวกที่จะเข้ามาเพื่อพยุงอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ ทั้งจากรายได้จากการผลิต BEV ที่เข้ามาแทนที่เพิ่มขึ้น ทำให้น่าจะมีรายได้เข้ามาจากส่วนนี้ไม่น้อยกว่า 4.4 แสนล้านบาท
อีกสิ่งสำคัญไม่แพ้กันที่ภาครัฐอาจต้องเร่งช่วยเหลือธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของรถยนต์ใช้น้ำมัน ให้สามารถปรับตัวได้ทันกับการมาของรถยนต์ BEV และเทคโนโลยีอื่นที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมและตลาดแรงงาน
โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนตั้งแต่ Tier 2 ลงมา ซึ่งเป็นผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานค่ายรถใช้น้ำมันต่างชาติ และมีความสามารถในการปรับตัวด้านเทคโนโลยีน้อยกว่ากลุ่มอื่น