ห่วงโซ่คุณค่า EV ของกลุ่ม ปตท.
ภายใต้ภาวะโลกร้อนที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ความสนใจของโลกทั้งใบหันมาใส่ใจในเทคโนโลยีพลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น แนวคิดใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานสะอาดจึงเป็นสนใจ และได้รับการสนับสนุน ซึ่งนี่รวมไปถึงแนวทางการส่งเสริมของสหประชาชาติ และรัฐบาลไทย
.
กลุ่มบริษัท ปตท. ในฐานะผู้ให้บริการพลังงานรายใหญ่ของประเทศที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมเองก็สนใจในธุรกิจพลังงานสะอาด ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์องค์กรเป็น “Powering Life with Future and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังงานแห่งอนาคต” มุ่งสู่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนไฟฟ้า และยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร ต่อยอดนวัตกรรมและแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน สนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนในสังคม และรักษาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมสิ่งแวดล้อมให้เติบโตอย่างยังยืน ตามกระแส การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance; ESG)
.
อย่างไรก็ตาม ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ไม่ได้มีแต่เพียงแค่ยานยนต์ แต่ยังหมายถึงตั้งแต่ การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และแบตเตอรี่, การจัดจำหน่าย และสถานีชาร์จไฟ ทั้งหมดนี้รวมกันเป็น ห่วงโซ่คุณค่าของยานยนต์ไฟฟ้า (Value Chain of Electric Vehicle) บทความนี้จะพาคุณไปดูว่า กลุ่มบริษัท ปตท. ลงทุนอะไรในห่วงโซ่ EV
.
เริ่มต้นที่การผลิตต้นน้ำ PTT Global Chemical (GC) และ IRPC กลุ่มธุรกิจ Smart Material ผู้จัดจำหน่ายเมล็ดพลาสติก เพื่อเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในหลายอุตสาหกรรม ครอบคลุมตั้งแต่อุตสาหกรรมยานยนต์ไปจนอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ สำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวันอีกด้วย
.
สำหรับการผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) และนูออโว พลัส (Nuovo Plus) เป็นผู้พัฒนานวัตกรรมแบตเตอรี่ป้อนตลาด EV ทั้งในประเทศไทย และทั้งภูมิภาค อีกทั้งผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่ ยังมีนวัตกรรมแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนฟอสเฟต (Lithium Iron Phosphate Battery) (ภายใต้ยี่ห้อ G-Cell) ซึ่งใช้เทคโนโลยีกึ่งแข็ง (Semi Solid Technology) แห่งแรกของภูมิภาคอาเซียน มีจุดเด่นที่มีความปลอดภัยสูง มีอายุการใช้งานที่ยาวนานมากกว่า ใช้งานได้หลากหลาย รีไซเคิลได้ง่ายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
.
ในธุรกิจประกอบยานยนต์ไฟฟ้า บริษัท ฮอริษอน พลัส ผู้ผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้าครบวงจร พร้อมเทคโนโลยี HIM Platform หรือ Open EV Platform ซึ่งเป็นโครงช่วงล่างของรถยนต์ฟ้าที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถปรับแต่งให้เข้ากับรถยนต์ได้หลายประเภท อีกทั้งยังทุ่นค่าใช้จ่ายในการผลิตและการพัฒนารถแต่ละรุ่นได้ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริโภคสามารถเป็นเจ้าของรถ EV ที่มีประสิทธิภาพสูงในราคาที่จับต้องได้
ด้านการจัดจำหน่าย แพลตฟอร์ม อีวี มี (EVme) แพลตฟอร์มดิจิทัลสมัยใหม่ ที่จะมอบประสบการณ์การเป็นเจ้าของ EV แบบครบวงจรได้ง่าย ๆ ผ่านการสัมผัสด้วยปลายนิ้ว เป็นบริการในรูปแบบเหมาจ่ายรายเดือน (Subscription Business Model) ซึ่งผู้ใช้บริการ เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน EVme ผ่านโทรศัพท์มือถือ ลงทะเบียนแล้วเลือกรถรุ่นที่คุณต้องการ แล้วรอรับรถที่หน้าบ้านตัวเอง ดีต่อใจสำหรับผู้ใช้รถที่ชื่นชอบความแปลกใหม่ ให้คุณสามารถเปลี่ยนรถที่อยากลองได้เรื่อย ๆ
.
สำหรับการชาร์จไฟฟ้า บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ทำหน้าที่พัฒนาสถานีชาร์จไฟในสถานีบริการน้ำมันของ ปตท. และบริษัท ออน-ไออน (On-Ion) ขยายเครือข่ายสถานีชาร์จไฟฟ้าตาม ศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน ร้านอาหาร ฯ ให้มีความพร้อมและครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ รองรับรถยนต์แบบปลั๊กอินไฮบริด (Plug-In Hybridge Electric Vehicle; HPEV) และ แบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) ทุกรุ่น ทุกยี่ห้อที่ใช้ปลั๊กแบบ Type 2 พร้อมบริการจองคิวผ่านแอปพลิเคชัน On-Ion และบริการติดตั้งที่ชาร์จที่บ้านพักอาศัยของผู้เข้ารับบริการ
.
อีกทั้งยังมีบริการสลับแบตเตอรี่ โดยบริษัท สวอพ แอนด์ โก (Swap & Go) ให้บริการสลับแบตเตอรี่สำหรับจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบไม่ต้องรอชาร์จ ตอบโจทย์การใช้งานในทุกไลฟ์สไตล์ โดยเฉพาะกลุ่มไรเดอร์ในธุรกิจเดลิเวอร์รี่ ด้วยคุณลักษณะพิเศษด้านความรวดเร็ว สามารถสลับแบตเตอรี่ได้ด้วยตัวเองภายใน 3 นาที ใช้งานง่ายด้วยแอปพลิเคชัน Swap & Go
.
ในส่วนของการดูแลรักษา ศูนย์บริการ FIT Auto ในเครือ ปตท. พร้อมให้บริการดูแลรถยนต์ EV ให้ผู้ใช้สามารถอุ่นใจได้ตลอดอายุการใช้งาน
.
และที่ขาดไม่ได้เลยคือ บริษัท อรุณ พลัส แกนหลักสำคัญในการขับเคลื่อนสภาพแวดล้อมของห่วงโซ่คุณค่า EV ของทั้ง ปตท. และประเทศไทยอย่างครบวงจร ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานการลงทุนกับบริษัทในกลุ่ม ปตท. ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงบริการหลังการซื้อของผู้บริโภค รวมถึงการร่วมลงทุนกับธุรกิจพันธมิตรชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยพัฒนาการใช้รถ EV ในประเทศไทยให้เติบโตแพร่หลายอย่างมั่นคง ขับเคลื่อนพัฒนาประเทศไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตของภูมิภาคอาเซียนต่อไปในอนาคต
.
สำหรับลมใต้ปีกของการพัฒนาประเทศไทยไปสู่สังคม EV คือนโยบายการส่งเสริมจากรัฐบาล ทั้งจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, 3 แกนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ และนโยบาย 30@30 ที่มีส่วนในการส่งเสริม จูงใจให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม และการใช้งาน EV ตลอดจนกระแสความตื่นตัวในการรักษาสิ่งแวดล้อมของคนไทยทุกคน ที่ทำให้ปัจจุบัน ประเทศไทย มียานยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกแล้ว กว่า 3 แสนคัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565)
.
แรงขับเคลื่อนของ 3 ประสาน ราษฎร์-รัฐ-เอกชน ที่ร่วมใจกัน ส่งเสริมการพัฒนา และการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย คือสิ่งที่จะนำพาประเทศไทย ให้กลายเป็นผู้นำที่สำคัญของภูมิภาค ในการสร้างสรรค์สังคมแห่ง EV ที่ยั่งยืน
.
โดย ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อ้างอิง :
– กลุ่มสถิติการขนส่ง กองแผนงาน กรมการขนส่งทางบก, “รถจดทะเบียน(สะสม)”, https://web.dlt.go.th/statistics/
รู้จัก ‘UPTOYOU’ แบรนด์เสื้อผ้าโดนใจวัยรุ่นจากวัสดุพลาสติกเหลือใช้แล้ว
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม