
ผลดี-เสียกฎหมายควบคุม AI ผู้เชี่ยวชาญของจีนชี้ ‘กฎหมายควบคุม AI’ ของอียูมีผลสองด้าน ในแง่ดีคือช่วยปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทั่วไป แต่แง่ลบคือเพิ่มต้นทุนให้กับบริษัทเทคโนโลยี
ผู้เชี่ยวชาญของจีนกล่าวว่า กฏหมายควบคุม AI ของอียูซึ่งคาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2025 จะช่วยป้องกันไม่ให้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ แต่ในขณะเดียวกันก็จะเพิ่มต้นทุนให้กับบริษัทเทคโนโลยีที่ต้องการเข้าสู่ตลาดยุโรป
กฎหมาย “EU AI Act” มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการใช้งาน AI ตามระดับความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสังคม โดยมีกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นสำหรับการใช้งานที่มีความเสี่ยงสูง
เทคโนโลยี AI ที่มีความเสี่ยงต่อสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น ระบบการจัดหมวดหมู่บุคคลตามคุณลักษณะทางกายภาพหรือพฤติกรรม (biometric), การคัดลอกภาพใบหน้าจากอินเทอร์เน็ตหรือภาพจากกล้องวงจรปิดเพื่อสร้างฐานข้อมูลทางเทคโนโลยีจดจำใบหน้าจะถูกห้าม
การใช้ระบบ AI ที่มีความเสี่ยงสูงในภาคส่วนที่สำคัญ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา การดูแลสุขภาพ และการบังคับใช้กฎหมาย ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดที่เข้มงวด ส่วนบริการที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ตัวกรองสแปม จะมีกฎระเบียบที่เข้มงวดน้อยกว่า ทั้งนี้ คาดว่าบริการ AI ส่วนใหญ่จะจัดอยู่ในหมวดหมู่นี้
กฎหมายยังระบุถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือ generative AI และแชทบอท โดยกำหนดให้ผู้สร้างต้องมีความโปร่งใสเกี่ยวกับชุดข้อมูลที่ใช้ในการฝึกโมเดลและต้องปฏิบัติตามกฎหมายลิขสิทธิ์ของสหภาพยุโรป นอกจากนี้ รูปภาพ เสียง หรือเนื้อหาวิดีโอที่ประดิษฐ์หรือดัดแปลง (ดีพเฟค) จะต้องมีป้ายกำกับอย่างชัดเจน
Liu Wei ผู้อำนวยการห้องวิจัยด้านการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรและวิศวกรรมการรับรู้ร่วมกับBUPT กล่าวกับ Global Times ว่ากฎหมายดังกล่าวถือเป็นแนวหน้าในการจัดการกับความเสี่ยงและภัยคุกคามที่ AI อาจนำมาสู่มนุษยชาติ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบด้านลบของเทคโนโลยี AI ได้เกิดขึ้นแล้ว เช่น การใช้ภาพถ่ายหรือวิดีโอปลอมเพื่อบิดเบือนการรับรู้ของผู้คนและความคิดเห็นของประชาชน
ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว จะทำให้บริษัทที่ต้องการเข้าสู่ตลาดยุโรปต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีของตนนั้นเป็นไปตามมาตรฐานและข้อกำหนด สิ่งนี้อาจทำให้บริษัทต่างๆ ต้องลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นทั้งในแง่ของทรัพยากรและเวลา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันในยุโรป