News“เลือกตั้งทำไมถ้าคนชนะไม่ได้เป็นนายก?” คำถามที่ไม่ควรถาม หากเข้าใจระบอบการปกครองและการเลือกตั้ง

“เลือกตั้งทำไมถ้าคนชนะไม่ได้เป็นนายก?” คำถามที่ไม่ควรถาม หากเข้าใจระบอบการปกครองและการเลือกตั้ง

“เลือกตั้งไปทำไม?”, “เสียเวลา/เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์”, “ทำไมชนะเลือกตั้ง แต่ไม่ได้เป็นนายกฯ” คำพูดและคำถามเช่นนี้ถูกถามมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งก็ยังไม่มีวี่แววว่าประเทศไทยจะได้นายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลขึ้นได้แม้เวลาจะล่วงมามากกว่า 2 เดือนแล้ว

 

สถานการณ์เช่นนี้จึงทำให้เกิดการประดิษฐ์วาทกรรมของคนกลุ่มหนึ่ง ที่กล่าวว่าการเมืองไทยในปัจจุบันนั้น “ไม่ปกติ” [1][2] เพราะพวกเขามองว่าผู้ที่ชนะก็ควรจะได้รางวัลของชัยชนะนั้น ๆ เหมือนการแข่งขันอื่น ๆ ที่จะมีผู้ชนะ-ผู้แพ้ มีผู้ได้รับรางวัลและผู้ไม่ได้รับรางวัลที่ชัดเจน 

 

แต่เมื่อเราพูดถึงการเมืองแล้ว การมองว่ามีผู้ชนะ-ผู้แพ้เช่นเดียวกับการแข่งขันกีฬาหรือการละเล่นอื่น ๆ นั้น ก็ดูจะเป็นการย่อความและตัดตอนให้เข้าใจง่ายจนเกินไป (oversimplify) และจะทำให้ไม่เข้าใจถึงขั้นตอนและกระบวนการที่แท้จริงในการได้มาซึ่งนายกฯ และการจัดตั้งรัฐบาลในระบอบการปกครองประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ซึ่งเมื่อเข้าใจแล้ว เราก็จะทราบว่าเหตุการณ์เช่นนี้คือสิ่งที่ “ปกติมาก” ในระบอบการเมืองการปกครองของเรา

 

หรือหากมีการกล่าวถึงระยะเวลาที่ยาวนานขึ้นเรื่อย ๆ แล้วละก็ ในความเป็นจริงก็มีหลายประเทศที่ใช้ระบอบเดียวกัน แต่ก็ใช้เวลายาวนานมากกว่าประเทศไทยเราขณะนี้ กว่าจะได้รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ และไม่ใช่ว่าประเทศเหล่านั้นมีปัญหาเชิงโครงสร้าง มีความขัดแย้งหรือวิกฤตการณ์ทางการเมืองใด ๆ เพราะประเทศที่ใช้เวลานานที่สุดก็คือประเทศเบลเยียม ซึ่งอาจะเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในประเทศประชาธิปไตยที่มีความมั่นคงทางการเมืองมายาวนาน แต่กว่าจะได้รัฐบาล ก็กินเวลาไปถึง 541 วัน (ประมาณ 1 ปี 6 เดือน) และประเทศที่อยู่ในอันดับต้น ๆ ไม่ว่าจะเป็น สเปน (315 วัน), เนเธอร์แลนด์ (225 วัน), เยอรมนี (136 วัน) หรือ สวีเดน (134 วัน) ก็ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศในยุโรปที่มีประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยทั้งสิ้น [3]

 

การกล่าวว่าสถานการณ์การเมืองของไทยในขณะนี้ไม่ปกตินั้นแสดงว่าผู้ถามไม่ได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการของการปกครองระบอบรัฐสภาเลย เพราะถ้าเรามีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว การตั้งคำถามต่าง ๆ ดังที่กล่าวไปในตอนต้นจะไม่เกิดขึ้น 

 

อย่างแรกที่เราต้องทำความเข้าใจก็คือ การเลือกตั้งในการปกครองระบอบรัฐสภา (parliamentary democracy) ไม่ใช่การเลือกนายกรัฐมนตรี แต่คือการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เข้าไปในสภา เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเมืองการปกครองระบอบรัฐสภานั่นก็คือตัวรัฐสภาเอง หลักการนี้เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า parliamentary supremacy หรือ parliamentary sovereignty นั่นคืออำนาจสูงสุดของประเทศนั้นอยู่ที่รัฐสภา การเลือกตั้งจึงเป็นการส่งผู้แทนราษฎรเข้าไปทำหน้าที่ในสภา ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ทางนิติบัญญัติหรือการออกกฎหมายหรือการเลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้งรัฐบาลไปบริหารราชการแผ่นดิน 

 

แต่กระบวนการทางรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายหรือการเลือกนากยกฯ นั้นก็หนีไม่พ้นการเจรจาต่อรองหาข้อตกลงร่วมเพื่อให้ลงคะแนนเสียงในสภาผ่าน ซึ่งการเจรจาก็ต้องเป็นไปตามเป้าหมายที่กลุ่มการเมืองต่าง ๆ ที่ประชาชนเลือกเข้ามาในรัฐสภามีความพึงพอใจเพียงพอที่จะให้แรงสนับสนุนร่างกฎหมายหรือกระบวนการใด ๆ นั้นให้ผ่านไปได้

 

พูดง่าย ๆ ก็คือว่า มันเป็นธรรมชาติของการปกครองแบบรัฐสภาอยู่แล้วที่จะมีการเจรจาต่อรองเพื่อหาแรงสนับสนุน และหากได้แรงสนับสนุนไม่ครบ ร่างกฎหมายหรือกระบวนการใด ๆ ในรัฐสภาก็ไม่สามารถผ่านไปได้

 

ส่วนการพูดถึงคำว่า “ผู้ชนะ” นั้นก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจระบอบการปกครอง และโดยเฉพาะการเลือกตั้ง อย่างที่กล่าวไป ประเทศไทยปกครองโดยระบอบรัฐสภา การเลือกตั้งจึงไม่ใช่การเลือกนายกรัฐมนตรี และหากย้อนกลับไปในการเลือกตั้ง เมื่อเราอยู่ที่คูหา ในบัตรเลือกตั้งทั้งสองใบนั้นก็ไม่ได้มีเบอร์ของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอยู่เลย แต่มีเพียงเบอร์ผู้แทนเขต และผู้แทนแบบบัญชีรายชื่อของพรรคเท่านั้น 

 

ขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ถือเป็นกระบวนการทางรัฐสภา หลังจากการเลือกตั้งส.ส. เข้าไปในสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม จำนวนของส.ส.ในสภานั้นไม่ใช่ตัวกำหนดผู้แพ้หรือผู้ชนะ เพราะท้ายที่สุด เป้าหมายของแต่ละพรรคการเมืองคือการจัดตั้งรัฐบาลโดยมีพรรคของตนเองเป็นผู้นำในการจัดตั้ง ซึ่งในกรณีเดียวที่จะเห็นผู้ชนะที่ชัดเจนในระบอบรัฐสภา นั่นก็ต่อเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาว่ามีเสียงข้างมากอย่างชัดเจน (clear majority)

 

ในบทความอธิบายกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีของ Institute for Government องค์กรคลังสมอง (thinktank) เพื่อการพัฒนาประสิทธิภาพการเมืองการปกครองของประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นประเทศแม่แบบของการปกครองระบอบรัฐสภา มีการอธิบายไว้ว่า

 

“นายกรัฐมนตรีนั้นถูกแต่งตั้งบทฐานของความสามารถของเขาในการได้รับความเชื่อมั่นจากสภาสามัญชน หากการเลือกตั้งมีผลออกมาว่าพรรคการเมืองพรรคหนึ่งมีเสียงข้างมากที่ชัดเจน[ในสภา] หัวหน้าพรรคการเมืองนั้น ๆ ก็จะเป็นนายกรัฐมนตรี…หากไม่มีพรรคการเมืองไหนได้รับเสียงข้างมากที่ชัดเจน หลังจากนั้นก็อาจจะมีกระบวนการเจรจาต่อรองก่อนที่จะเห็นชัดเจนขึ้นมาว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี”

 

(Prime ministers are appointed based on their ability to command confidence in the House of Commons. If an election produces a clear majority for one party, then the leader of that party becomes prime minister…If no party wins a clear majority, then there may be a process of negotiation before it becomes clear who is likely to be prime minister.) [4]

 

เราจะเห็นได้ว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลใด ๆ ในระบอบรัฐสภาก็คือความสามารถในการได้รับความเชื่อมั่น (confidence) ของสมาชิกสภา และในความเป็นจริง เราอาจจะกล่าวได้ว่าประเทศไทย เป็นไม่กี่ประเทศที่ “ความเชื่อมั่น” ดังกล่าวถูกกำหนดให้เป็นกระบวนการที่ชัดเจนในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ประเทศสหราชอาณาจักรและอีกหลาย ๆ ประเทศที่มีระบอบการปกครองคล้ายกับไทยนั้น การที่พระมหากษัตริย์จะแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีก็เพียงได้รับทราบว่ารัฐสภาได้มอบความเชื่อมั่นให้กับบุคคลคนนั้นแล้วเท่านั้น ไม่ได้มีกระบวนการในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในสภาใด ๆ เลย

 

(ตามความเข้าใจของผู้เขียน ประเทศไทยกับอีกสองประเทศคือ สวีเดนและญี่ปุ่น ที่มีขั้นตอนการออกเสียงโหวตในสภาอย่างเป็นทางการก่อน ถึงจะมีการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ [5][6])

 

กล่าวมาเท่านี้ก็ยิ่งทำให้เห็นแล้วว่าประเทศต่าง ๆ นั้นมีการปกครองและขั้นตอนกระบวนการในการได้มาซึ่งรัฐบาลและผู้นำแต่งต่างกัน การกล่าวหรือการมองว่าการเมืองมี “ผู้ชนะ” หรือ “ผู้แพ้” ที่ชัดเจนนั้นคือการ oversimplify การเมืองการปกครองของไทย ตัวอย่างที่ชัดเจนอีกอย่างหนึ่งในกรณีนี้ก็คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ก็มีระบบ Electoral College ทำให้สามารถเกิดกรณีซึ่งแคนดิเดตประธานาธิบดีที่ได้เสียงเกินครึ่งหนึ่ง แต่กลับไม่ได้เข้ารับตำแหน่ง ในขณะที่คู่แข่งกลับสามารถได้รับคะแนนเสียงใน Electoral College จนขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีได้ 

 

ซึ่งในกรณีนี้ถือเป็นสิ่งที่รุนแรงกว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้มาก พูดง่าย ๆ ว่าผู้ที่แพ้เสียงข้างมากจากประชาชน (popular vote) กลับได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ในขณะที่ผู้ชนะ popular vote กลับไม่ได้เป็น ซึ่งกรณีนี้ก็เกิดขึ้นกับการเลือกตั้งหลายครั้ง อย่างกรณีของ จอร์จ ดับเบิลยู บุช (Goerge W. Bush) ในปีค.ศ. 2000 และโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ในปีค.ศ. 2016 [7]

 

คำว่า “ชนะ” ในทางการเมืองนั้น จึงไม่เหมือนการแข่งขันทั่วไป เพราะพัฒนาการทางการเมืองและระบอบการปกครอง รวมถึงระเบียบขั้นตอนและกระบวนการต่าง ๆ ที่มีรายละเอียดเฉพาะตัวของแต่ละประเทศและแต่ละระบบ จึงไม่ควรมองว่าการชนะการเลือกตั้งนั้นคือถือเป็นที่สิ้นสุดและเสร็จสมบูรณ์แล้ว เพราะกระบวนการต่าง ๆ ยังต้องดำเนินไป ซึ่งในปัจจุบัน ทุก ๆ กระบวนการนั้นเป็นไปตามกฎหมายทั้งสิ้น 

 

หรือแม้จะมีการโต้แย้งว่าการที่ส.ว.เข้ามามีบทบาทในการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยนั้นก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ปกติแล้ว อย่างไรก็ตาม ก็ควรต้องยอมรับกันอย่างถ้วนหน้าว่าบทบาทของส.ว.ในครั้งนี้ และในการเลือกตั้งครั้งปี 2562 ที่ผ่านมา ก็ถือว่าเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย เนื่องจากเป็นสิ่งที่ผ่านการทำประชามติของประชาชนมาแล้ว

 

กลับกัน หากยังต้องมองในมุมของการมีผู้แพ้-ผู้ชนะ เราอาจจะต้องกล่าวว่า “การแข่งขันยังไม่จบ” เพราะเส้นชัยของการเลือกตั้งนั้นก็คือการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ใช่เพียงการนำส.ส.เข้าสภาเท่านั้น 

 

ในขณะเดียวกัน ในการปกครองระบอบรัฐสภานั้นมีคำพูดอย่างหนึ่งทำนองว่า “ระบบรัฐสภาคือการจำลองเอาสังคมของประเทศมาอยู่ในที่ ๆ เดียว” การที่ประเทศไทยในปัจจุบันต้องเผชิญกับความยากลำบากในการได้นายกรัฐมนตรี นอกจากจะมาจากการที่ไม่มีพรรคหรือกลุ่มก้อนทางการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะได้ความเชื่อมั่นจากสังคมมากที่สุดเพียงกลุ่มเดียว จนทำให้ไม่มี “ผู้ชนะ” ที่ได้คะแนนเสียงส่วนมากแบบชัดเจน (clear หรือ absolute majority) แล้ว อาจกล่าวได้อีกว่ามาจากการที่ผู้คนในสังคมนั้นไม่สามารถที่จะพูดคุย เจรจา ตกลงกันได้ จนสะท้อนไปถึงยังนักการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชนแต่ละกลุ่ม ซึ่งก็ไม่สามารถพูดคุยกันในสภาได้ 

 

การหาทางออกจากทางตันของสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย อาจจะไม่ใช่การหาผู้ชนะแต่เพียงผู้เดียว แต่หาผู้ที่สามารถพูดคุยและเจรจาเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันของนักการเมืองในสภา เป็นผู้นำและเป็นตัวแทนในการหาทางออกร่วมกันของสังคมและประเทศชาติ เพื่อให้ไม่มีผู้ชนะแต่เพียงผู้เดียว แต่ทุก ๆ คนในสังคมชนะไปร่วมกันได้

 

บทความโดย นู ฉันทัช พานิชชานนท์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า