Newsผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อโลกและคนไทยจากวิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนและความสำคัญของการมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อโลกและคนไทยจากวิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนและความสำคัญของการมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน พ.ศ.2565 เป็นต้นมา ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของโลก ไม่ว่าจะเรื่อง การกลับมาของภาวะเผชิญหน้าทางการทหารของขั้วประเทศมหาอำนาจอีกครั้ง หลังจากได้เริ่มจางหายไปหลังการสิ้นสุดสงครามเย็น การปิดฉากยุคสมัยโลกาภิวัตน์อย่างแท้จริง และการเปิดฉากยุคสมัยการคุ้มครองห่วงโซ่อุปทานผ่านสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจในฝักฝ่ายของตนเองแทน

 

รวมถึงการเสื่อมถอยของความเฟื่องฟูในระบบเศรษฐกิจโลกที่ได้เริ่มก่อตัวมาตั้งแต่ช่วงสงครามการค้าตลอดจนวิกฤตโรคระบาดครั้งใหญ่อย่าง โควิด-19 ได้ถูกซ้ำเติมอีกครั้งด้วยความตึงเครียดทางการทหารระหว่างรัสเซียและยูเครน จนเกิดภาวะฝืดเคืองจากกรณีของราคาสินค้าพื้นฐานทั่วโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากอุปทานที่หายไปเป็นจำนวนมากจากความขัดแย้งทางการทหารดังกล่าว

 

ประกอบกับนโยบายทางเศรษฐกิจช่วงโควิด-19 ในหลายประเทศที่ได้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมทั้งการอัดฉีดเม็ดเงินดอลลาร์มหาศาลเข้าระบบเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาผ่านนโยบายเศรษฐกิจต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและใช้จ่ายภายในประเทศ ซึ่งต่อมานโยบายดังกล่าวจะเป็นรากฐานสำคัญของระดับเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและส่งผลกระทบไปทั่วโลกในเวลาต่อมา

เมื่ออุปทานหายไปส่วนหนึ่ง จากความขัดแย้งทางการทหารของรัสเซีย-ยูเครน ได้ทำให้ราคาสินค้าพื้นฐานอย่างน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ อาหารพื้นฐาน ปุ๋ย แร่ธาตุ ฯลฯ สูงขึ้นรวดเร็ว ซึ่งเป็นการผลักภาระให้สินค้าสำเร็จรูปต่าง ๆ ที่ผลิตจากวัตถุดิบทั่วไป มีต้นทุนราคาสูงขึ้นตามไปด้วย 

 

ตรงนี้จึงเป็นการซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจโลกให้รุนแรงยิ่งขึ้น ควบคู่กับนโยบายการลดเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาโดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบก้าวกระโดด เพื่อลดแรงจูงใจในการปล่อยเงินกู้และเพิ่มแรงจูงใจในการกักเก็บเงินภายในประเทศ ซึ่งก็เป็นการดึงเม็ดเงินจากเงินลงทุนในประเทศเศรษฐกิจใหม่ให้ไหลกลับมาที่สหรัฐอเมริกาที่มีผลตอบแทนดีกว่า

 

ผลตามมา คือ เศรษฐกิจโลกในบรรดาประเทศมหาอำนาจและประเทศพัฒนาแล้วว่าหนักแล้ว ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ ถือได้ว่า เจ็บหนักของจริง เพราะเจอผลกระทบหลายเด้งเข้ามาในประเทศ และที่ว่าหนัก เพราะก่อนหน้าก็เพิ่งรับมือผลกระทบหนัก ๆ อย่างสงครามการค้าและการระบาดของโควิด-19 ซึ่งในกรณีของโควิด-19 ถือได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการถดถอยและซบเซาของระบบเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาเลยทีเดียว

 

โดยผลกระทบหลายเด้งนี้ก็มีทั้ง สกุลเงินท้องถิ่นโดยรวมส่วนใหญ่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ที่ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าที่ใช้สกุลเงินดอลลาร์สูงขึ้นตามสัดส่วนของการอ่อนค่า ต้นทุนสินค้าพื้นฐานสูงขึ้นจากความไม่แน่นอนในระบบเศรษฐกิจและจำนวนอุปทาน (ปริมาณสินค้า) ที่ลดลง

 

หนักยิ่งกว่าคือ แรงต้านทานต่อความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจโลกในบรรดาประเทศกำลังพัฒนาโดยส่วนใหญ่นั้น ถือได้ว่ามีความเปราะบางมากกว่าเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วโดยส่วนใหญ่ ทั้งการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศจากการขาดดุลทางการค้า การมีหนี้สาธารณะที่กู้จากต่างประเทศสะสมอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจประเทศ สัดส่วนของการพัฒนาที่ไม่ได้มีมากนักและต้องการการพัฒนาอีกจำนวนมากซึ่งต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลในการลงทุนและพัฒนาประเทศ  

 

ทั้งหมดนี้ จึงทำให้เมื่อเกิดภาวะชะงักงันในระบบเศรษฐกิจโลก ประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้โดยส่วนใหญ่จึงได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่า ร้ายกว่านั้นคือ ในบางประเทศได้เกิดภาวะขาดแคลนสินค้าพื้นฐานอย่างสินค้าพลังงานจากภาระต้นทุนที่ต้องแบกรับสูงขึ้นและการถูกแย่งซื้อจากประเทศที่มีกำลังซื้อสูงกว่าซึ่งต้องการสำรองพลังงานเหล่านี้เพื่อใช้ในสถานการณ์อันไม่คาดคิดในอนาคต

 

ประเทศกำลังพัฒนาว่าหนักแล้ว ประชาชนในประเทศเหล่านั้นหนักยิ่งกว่า ด้วยระดับราคาอาหารและพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น ยิ่งถ้าเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าสินค้าพื้นฐานเข้ามาเป็นจำนวนมาก ก็จะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้โดยตรง และหากข้อตกลงการขนส่งธัญพืชของยูเครน-รัสเซีย ไม่ได้ถูกต่ออายุ ก็มีแนวโน้มที่ประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพิงการนำเข้าสินค้าพื้นฐานโดยเฉพาะอาหาร จะประสบกับความยากลำบากทุกข์เข็ญที่มากขึ้นไปอีก จากสถานะปัจจุบันที่ถือว่าลำบากแสนสาหัสอยู่แล้ว

 

สำหรับประเทศไทยนั้น แม้ว่าจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาระดับบนและเป็นประเทศเศรษฐกิจใหม่ แต่ก็อาจถือได้ว่า เป็นข้อยกเว้นสำหรับสถานการณ์ที่ประเทศกำลังพัฒนาได้แบกรับอยู่ในปัจจุบัน เพราะปริมาณทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยมีในระดับสูงติดอันดับโลกและมีนโยบายการเงินที่รัดกุม เน้นเสถียรภาพ เพื่อสามารถรับมือสถานการณ์ในลักษณะแบบนี้ได้ดี

 

นอกจากนี้ ประเทศไทยมีภาพลักษณ์สำคัญในฐานะพื้นที่เพาะปลูกอาหารขนาดใหญ่จนเป็นวาทะอย่าง “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ทำให้ผลกระทบด้านต้นทุนอาหารและพลังงานไม่ได้รับมากนัก จากค่าเงินที่ยังรักษาเสถียรภาพได้ดีและสัดส่วนการนำเข้าอาหารพื้นฐานที่ไม่ได้มีมากนักเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน และด้วยภาพลักษณ์ความเป็นกลางทางการทูตของประเทศไทยจึงเป็นจุดหมายสำคัญในเรื่องการท่องเที่ยวและการลงทุนจากชาติต่าง ๆ โดยไม่ถูกกีดกัน ซึ่งถือว่าเป็นเม็ดเงินตราต่างประเทศสำคัญเลยทีเดียว

 

แต่ถึงแม้ว่า สถานการณ์ของประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากนัก แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีผลกระทบเลย เพราะแน่นอนว่า ไทยในฐานะประเทศที่นำเข้าทรัพยากรพลังงานอย่างน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศ ก็ย่อมต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น และส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยรวมสูงขึ้น ซึ่งไฟฟ้าคือต้นทุนพื้นฐานของแทบทุกสินค้าสำเร็จรูปควบคู่กับวัตถุดิบพื้นฐานที่ก็ปรับราคาสูงขึ้นเช่นกัน

จึงทำให้ต้นทุนค่าครองชีพโดยรวมได้ปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้ที่มีอยู่ และอย่าลืมว่า สถานการณ์เหล่านี้ที่กล่าวมาทั้งหมดได้เกิดขึ้นต่อจากวิกฤตการณ์ระบาดโรคโควิด-19 ที่ทำให้หลายประเทศทั่วโลกรวมไทย ต้องกู้เงินมหาศาลเพื่อใช้ในการประคับประคองระบบเศรษฐกิจให้อยู่รอด ซึ่งทำให้ระดับหนี้สาธารณะของหลายประเทศปรับสูงขึ้นและมีพื้นที่ว่างในการกู้เงินน้อยลงเมื่อต้องประสบกับความชะงักงันทางเศรษฐกิจในเวลาต่อมา

 

ดังนั้นแล้ว เมื่อมองถึงสถานการณ์ความตึงเครียดทางการทหาร ยูเครน-รัสเซีย ในฐานะความขัดแย้งทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างขั้วสหรัฐอเมริกาและขั้วรัสเซีย นั้น ก็จะพบว่านอกเหนือจากผลกระทบด้านการเมืองในบริบทโลกแล้ว ก็ยังส่งผลถึงโครงสร้างระบบเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และมีผลให้ราคาสินค้าพื้นฐานปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ที่ลำบากอยู่แล้วจากสถานการณ์ก่อนหน้าก็จะยิ่งลำบากทั้งในระดับประเทศและภาคประชาชน และเมื่อมองถึงประเทศไทยก็คงจะบอกได้แค่ว่า

 

“ประเทศไทยมีความโชคดีที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจในระดับน้อยเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันด้วยการเตรียมพร้อมและนโยบายการเน้นเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ”

 

โดย ชย

อ้างอิง:

[1] War in Ukraine at 1 year: Pain, resilience in global economy

https://apnews.com/article/russia-ukraine-war-economic-impact-ef6e4c4443743ccbf7740892fb0b4f3b

[2] How has the Russian invasion of Ukraine affected global financial markets?

https://www.economicsobservatory.com/how-has-the-russian-invasion-of-ukraine-affected-global-financial-markets

[3] The Impact of Russia-Ukraine War on Global Food Security

https://www.icwa.in/show_content.php?lang=1&level=3&ls_id=7334&lid=4930

[4] สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ยูเครนประจำวันที่ 21 กรกฎาคม 2566

www.tpso.moc.go.th/th/node/12591

[5] สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ยูเครนประจำวันที่ 26 กรกฎาคม 2566

http://www.tpso.moc.go.th/th/node/12598

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า