
มุมมองที่ขัดแย้ง ระหว่าง ‘ก้าวไกล’ กับ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ ต่อประเด็น ม.112 และการล้มล้างการปกครอง
เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2567 ภายหลังการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อประเด็นการการรณรงค์หาเสียง และกิจกรรมทางการเมืองของพรรคก้าวไกลที่เกี่ยวเนื่องกับข้อเสนอให้มีการยกเลิก-แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นอกระบบสภานิติบัญญัติ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นผู้ถูกร้องในคดี และนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกแถลงข่าวเกี่ยวกับผลการตัดสิน ซึ่งเนื้อหาในถ้อยแถลงของนายชัยธวัช มุ่งกล่าวว่าคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญนั้น จะสร้างผลกระทบต่อภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคการเมือง และสถาบันพระมหากษัตริย์
อีกทั้งยังระบุว่า เป็นการทำให้หลักการสำคัญของระบอบการเมือง ไม่มีความชัดเจนแน่นอน สิ่งที่เคยกระทำได้ในอดีตอาจจะกลายเป็นการล้มล้างการปกครองในปัจจุบันได้ ซึ่งนายชัยธวัชระบุว่าเป็นสิ่งที่เคยกระทำได้ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และสมัยประชาธิปไตย แต่ไม่ได้ชี้ชัดว่าหมายถึงเหตุการณ์ใด
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2567 พรรคก้าวไกลได้ทำการเผยแพร่คลิปวีดีโอ ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่ออธิบายถึงความมุ่งหมายในการเสนอกฎหมายแก้ไขมาตรา 112 ของตน โดยมีการกล่าวถึงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในสมัยรัชกาลที่ 5 และการปรับแก้ไขโทษของกฎหมาย ซึ่งใน ร.ศ. 118 (พ.ศ. 2443) มีโทษเพียงไม่เกิน 3 ปี ในขณะที่พรรคก้าวไกลเสนอเพียง 1 ปี
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า การปรับเพิ่ม-ลดโทษของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น มีการปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลาได้เช่นกัน
แต่เมื่อพิจารณาถึงคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้น้ำหนักกับการปรับลดโทษลงแต่อย่างใด แต่ให้ความสำคัญกับการนำกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพออกจากประมวลกฎหมายอาญา หมวด ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร มากกว่า
โดยระบุว่าการกระทำดังกล่าวนั้น ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงต่อประเทศอย่างมีนัยยะ เป็นการแยกสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของไทย
นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังเห็นว่าข้อเสนอ และการกระทำอื่น ๆ ของพรรคก้าวไกล เป็นการลดสถานะสถาบันพระมหากษัตริย์ ลงมาเป็นผู้ขัดแย้งกับประชาชนโดยตรง ลดทอนสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ลงสู่การเมือง เพื่อหวังในคะแนนเสียงของตน
แต่สำหรับการแก้ไขมาตรา 112 นั้น ศาลรัฐธรรมนูญมิได้บอกว่าจะกระทำมิได้ แต่ให้กระทำในกระบวนการทางนิติบัญญัติ ในสภาผู้แทนราษฎร์ (และวุฒิสภา) เท่านั้น
ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมิได้สั่งห้ามการแก้ไขมาตรา 112 แต่ห้ามการกระทำใด ๆ ก็ตามที่จะเป็นการแยกเอาสถาบันพระมหากษัตริย์ออกมาจากสถาบันชาติ และความมั่นคง ลดทอนสถานะของพระมหากษัตริย์ลงมาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนโดยตรง
และเห็นว่าการกระทำใด ๆ ที่ส่งผลเสียต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข เป็นกระกระทำเพื่อการล้มล้างการปกครอง
โดย ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อ้างอิง
[1] อาจสร้างความขัดแย้งมากขึ้น ‘ก้าวไกล’ แถลงหลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีล้มล้างการปกครอง ชี้อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเมืองไทยในระยะยาว, https://www.facebook.com/thestructure.live/posts/pfbid02cwu9L44MsopgLopR3weaBjz8GqVqyU7uGQPFNo3P9cd6UF34pCX6X24qxAHU4UeQl
[2] ไม่ยุบ แต่ให้เลิกทำ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเสนอแก้ ม. 112 ของ ‘พิธา-ก้าวไกล’ เป็นการล้มล้างการปกครอง ให้เลิกกระทำ, https://www.facebook.com/thestructure.live/posts/pfbid0iQ4g1zv4wHQEKAnWzyvSUrJ9662Q22mgYRd1wZLihKUUYtRh38qszLjtJmMHcW5Zl
[3] ปฏิรูป ไม่เท่ากับ ล้มล้าง ‘ก้าวไกล’ ทำคลิปแจงเหตุผลร่างกฎหมายแก้ไข ม. 112 ชี้ป้องกันผูกขาดความจงรักภักดีไว้ปกป้องตัวเอง, https://www.facebook.com/thestructure.live/posts/pfbid09YtpRhCoNSFGCaBHNJaTMPE25ECsZ8msDjTGZ8JYdsAKcSBGjHYUVuG5Tp5Lb3T3l