Uncategorizedสถานทูตจีนแถลง สหรัฐฯ กำลังใช้กรณีไต้หวันยั่วยุและชะลอการพัฒนาของจีน

สถานทูตจีนแถลง สหรัฐฯ กำลังใช้กรณีไต้หวันยั่วยุและชะลอการพัฒนาของจีน

โฆษกสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยตอบคำถามสื่อมวลชนเรื่องการเดินทางเยือนไต้หวันแห่งประเทศจีนของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ

 

๑.ความเป็นมาของปัญหาไต้หวันเป็นอย่างไร

 

ไต้หวันเป็นของประเทศจีนตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน และเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีนที่แบ่งแยกมิได้ นับตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่งในศตวรรษที่ 10 รัฐบาลจีนทุกสมัยต่างก็ได้จัดตั้งหน่วยงานบริหารราชการในไต้หวันอย่างเป็นลำดับ เพื่อปฏิบัติตามอำนาจการบริหารและปกครอง

 

วันที่ 1 เดือนตุลาคม ค.ศ. 1949 รัฐบาลกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้รับการสถาปนาขึ้นมา แทนที่รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐจีน และกลายเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงรัฐบาลเดียวของประเทศจีน และเป็นตัวแทนที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงหนึ่งเดียวในประชาคมโลก จึงสามารถถือครองและใช้อำนาจอธิปไตยของประเทศจีนตามสิทธิ์อย่างทั่วไป ซึ่งรวมทั้งอธิปไตยเหนือไต้หวันด้วย

 

หลังจากสาธารณรัฐประชาชนจีนสถาปนาขึ้น กลุ่มอำนาจของพรรคก๊กมินตั๋งได้ถอยร่นไปยังมณฑลไต้หวันของจีน โดยได้รับการสนับสนุนจากอิทธิพลต่างประเทศ และกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลกลาง จึงเป็นเหตุที่ทำให้ปัญหาไต้หวันเกิดขึ้นมา

 

เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1971 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติสมัยที่ 26 ได้ผ่านมติหมายเลขที่ 2758 ขับไล่ผู้แทนของทางการไต้หวันออกไป และฟื้นฟูที่นั่งและสิทธิชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในสหประชาชาติ ต่อมาเดือนธันวาคม ค.ศ. 1978 จีนกับสหรัฐฯได้ออกแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต โดยทางสหรัฐฯ ยอมรับว่ารัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงรัฐบาลเดียวของประเทศจีน และรับรองจุดยืนของจีนซึ่งก็คือ มีแค่ประเทศจีนเดียว และไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน ปัจจุบันมีจำนวนทั้งหมด 181 ประเทศที่ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศจีนและต่างยอมรับว่า ในโลกนี้มีแค่ประเทศจีนเดียว และไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนจีน

 

๒. ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯบอกว่าไม่สนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชของไต้หวัน ทำไมผู้นำสภาฯของสหรัฐฯ ยังดันทุรังเดินทางเยือนไต้หวัน

 

ปัญหาไต้หวันเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดและละเอียดอ่อนที่สุดในความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ  ทางสหรัฐฯ ได้เน้นย้ำหลายครั้งในหลักการจีนเดียว และไม่สนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชของไต้หวัน เมื่อวันที่ 28 เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้หารือทางโทรศัพท์ตามนัดกับประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ  ซึ่งประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้เน้นย้ำว่า สหรัฐฯ ยังคงยึดถือนโยบายจีนเดียวไม่เปลี่ยนแปลง และสหรัฐฯไม่สนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชของไต้หวัน แต่การเดินทางเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี ได้แสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ พูดอย่างทำอย่าง ไม่มีความน่าเชื่อถือและทำให้เครดิตของสหรัฐฯ สูญหายไปหมด

 

ปัจจุบัน สถานการณ์ในช่องแคบไต้หวันกำลังเผชิญกับความตึงเครียดและความท้าทายรุนแรงรอบใหม่ สาเหตุที่แท้จริงคือ  ทางการไต้หวันและฝ่ายสหรัฐฯได้พยายามเปลี่ยนสถานะที่เป็นอยู่อย่างต่อเนื่อง ทางการไต้หวันต้องการพึ่งพาสหรัฐฯเพื่อแสวงหาเอกราช ส่วนสหรัฐฯ เองพยายามใช้ไต้หวันในการควบคุมจีน และหนุนหลังให้มีกิจกรรมการแบ่งแยกไต้หวันออกจากประเทศจีน

 

๓.ประธานสภาฯ นางแนนซี เพโลซี เดินทางเยือนไต้หวันจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของภูมิภาค

 

การเดินทางเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซีจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของภูมิภาค นางเพโลซี เป็นผู้นำสภาคองเกรสของสหรัฐฯ คนปัจจุบัน การเดินทางเยือนไต้หวันอย่างเปิดเผยนั้น ถือว่าเป็นการกระทำทางการเมืองที่ยั่วยุอย่างรุนแรงในการยกระดับการไปมาหาสู่กันอย่างเป็นทางการระหว่างสหรัฐฯ กับไต้หวัน และก็เป็นการสนับสนุนต่อกลุ่มอิทธิพลที่คิดจะแบ่งแยกไต้หวันออกจากประเทศจีน

 

วัตถุประสงค์อันแท้จริงที่ทางสหรัฐฯ เล่นไพ่ไต้หวันใบนี้ คือจะใช้ไต้หวันในการควบคุมและกดขี่จีน ชะลอการพัฒนาของจีน รักษาสถานะความเป็นเจ้าของตนเองและผลักดันความเป็นอำนาจบาตรใหญ่ ซึ่งเป็นการเหยียบย่ำหลักการขั้นพื้นฐานแห่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และยังผลักให้ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯไปสู่การเผชิญหน้าและเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ทำให้สถานการณ์ในช่องแคบไต้หวันทวีความตึงเครียด จนอาจนำไปสู่เหตุการณ์และผลตามมาที่อย่างร้ายแรงยิ่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค

 

๔.จุดยืนและท่าทีของจีนเป็นอย่างไร

 

นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาได้เดินทางเยือนไต้หวันของประเทศจีน โดยไม่สนใจการคัดค้านอย่างรุนแรงและการแสดงท่าทีอย่างจริงจังของฝ่ายจีน ซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืนหลักการจีนเดียวและแถลงการณ์ร่วมจีน-สหรัฐฯ ทั้ง 3 ฉบับอย่างร้ายแรง อีกทั้งยังเป็นการบ่อนทำลายรากฐานทางการเมืองของความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯอย่างร้ายแรง เป็นการรุกล้ำอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศจีน เป็นการบ่อนทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันอย่างร้ายแรง และถือเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงไปยังกลุ่มอิทธิพลที่คิดจะแบ่งแยกไต้หวันออกจากประเทศจีน  สำหรับเรื่องนี้ ฝ่ายจีนแสดงท่าทีคัดค้านอย่างเด็ดขาดและประณามฝ่ายสหรัฐฯ อย่างรุนแรง รัฐบาลและประชาชนจีนได้ใช้มาตรการที่เด็ดขาดและทรงพลัง และจะยังคงดำเนินการต่อไป เพื่อปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนอย่างแน่วแน่ ทางสหรัฐฯและกลุ่มอิทธิพลที่คิดจะแบ่งแยกไต้หวันออกจากประเทศจีนต้องรับผิดชอบผลที่ตามมาทั้งหมด

 

ฝ่ายจีนเรียกร้องให้ทางสหรัฐฯ ยุติการเล่นไพ่ไต้หวัน เพื่อใช้ไต้หวันในการควบคุมจีน ยุติการแทรกแซงกิจการของไต้หวันและกิจการภายในของประเทศจีน ยุติการสนับสนุนกลุ่มอิทธิพลที่คิดจะแบ่งแยกไต้หวันออกจากประเทศจีนในทุกๆ รูปแบบ ยุติการพูดอย่างทำอย่างในปัญหาไต้หวัน และยุติการบิดเบือนทำลายหลักการจีนเดียว โดยให้ยึดมั่นในหลักการจีนเดียวและแถลงการณ์ร่วมระหว่างจีน-สหรัฐฯ ทั้ง 3 ฉบับ และนำคำมั่นสัญญาของผู้นำสหรัฐฯ มาปฏิบัติอย่างจริงจัง ซึ่งรวมทั้งไม่คิดที่จะทำสงครามเย็นใหม่กับจีน ไม่คิดที่จะเปลี่ยนระบอบของจีน ไม่คิดที่จะคัดค้านจีนโดยอาศัยการกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตร ไม่สนับสนุนการแยกตัวออกไปเป็นเอกราชของไต้หวัน และไม่ประสงค์ที่จะเกิดปะทะกันกับจีน โดยหลีกเลี่ยงการเดินต่อไปในเส้นทางที่ผิดพลาดและอันตราย

 

จีนกับไทยเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน นับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปี ค.ศ. 1975 เป็นต้นมา ฝ่ายไทยยึดมั่นในหลักการจีนเดียวมาโดยตลอด ซึ่งได้มีการระบุไว้อย่างชัดเจนในเอกสารสำคัญๆหลายฉบับ เช่น แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับราชอาณาจักรไทย แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยแผนงานความร่วมมือในศตวรรษที่ 21 ระหว่างจีน-ไทย  แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน วิสัยทัศน์การพัฒนาสำหรับความสัมพันธ์จีน-ไทยในระยะยาว และแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลจีนและรัฐบาลไทย ฝ่ายจีนเชื่อว่า ประเทศไทยยังคงเป็นมิตรประเทศของจีน

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า