
จีนแซงหน้าสหรัฐฯ แพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์สินค้าราคาถูกของจีนแซงหน้าสหรัฐฯ ด้วยยอดขายที่เพิ่มขึ้น 121.2% คิดเป็นเงิน 8.8 หมื่นล้านบาท
แพลตฟอร์มชอปปิ้งออนไลน์สินค้าราคาถูกของจีนแซงหน้าสหรัฐฯ ขึ้นแท่นอันดับ 1 แหล่งช้อปปิ้งต่างประเทศยอดฮิตของชาวเกาหลีในปีที่แล้ว
สำนักงานสถิติเกาหลีเปิดเผยรายงานเมื่อวันศุกร์ (2 ก.พ.) ระบุว่า ในปี 2023 ชาวเกาหลีใต้ใช้จ่ายเงินซื้อสินค้าโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมด 6.75 ล้านล้านวอน (ราว 1.8 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น 26.9% จากปีก่อนหน้า และถือเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่รัฐบาลเริ่มรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องในปี 2014
เมื่อแยกเป็นรายประเทศพบว่า จีนซึ่งมีแพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์ขนาดใหญ่หลายแพลตฟอร์ม ซึ่งรวมถึง AliExpress และ Temu ที่ดึงดูดชาวเกาหลีด้วยสินค้าราคาประหยัดและโปรโมชั่นออนไลน์ที่หลากหลาย มาเป็นอันดับ 1 ด้วยยอดขาย 3.28 ล้านล้านวอน (ราว 8.8 หมื่นล้านบาท) หรือคิดเป็นสัดส่วน 48% เพิ่มขึ้นถึง 121.2% จากปีก่อน
ขณะที่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของสหรัฐฯ ซึ่งครองอันดับ 1 ในฐานะแหล่งช้อปปิ้งต่างประเทศยอดฮิตของชาวเกาหลีใต้มานานหลายปี ตกไปอยู่อันดับที่ 2 ด้วยยอดขาย 1.85 ล้านล้านวอน (ราว 4.9 หมื่นล้านบาท) หรือคิดเป็นสัดส่วน 27% ลดลงร้อยละ 7.3% จากปีก่อนหน้า
เมื่อแยกตามประเภทผลิตภัณฑ์พบว่า ผลิตภัณฑ์กีฬาและสันทนาการเพิ่มขึ้นสูงสุดเมื่อเทียบเป็นรายปีที่ 65.5% รองลงมาคือเสื้อผ้าและสินค้าที่เกี่ยวข้องกับแฟชั่นที่ 43.5% และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันหรือสินค้ายานยนต์อยู่ที่ 35.9%
ขณะที่ การช้อปปิ้งออนไลน์โดยรวมของชาวเกาหลีใต้ (ทั้งแพลตฟอร์มช้อปปิ้งในประเทศและต่างประเทศ) ในปีที่แล้ว มีมูลค่าสูงถึง 227.3 ล้านล้านวอน (ราว 6.07 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 8.3% จากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตกลับชะลอตัวลงบ้างเมื่อเทียบกับปี 2021 และปี 2022 ที่เพิ่มขึ้น 20.2% และ 10.3% ตามลำดับ
“ขนาดของตลาดการซื้อตรงจากต่างประเทศยังถือว่ายังเล็กแต่ก็มองข้ามไม่ได้ อัตราการเติบโตของตลาดการซื้อตรงจากต่างประเทศโดยเฉพาะจีน สูงกว่าอัตราการเติบโตของตลาดค้าปลีกออนไลน์โดยรวม และมีความเป็นไปได้สูงที่ AliExpress และ Temu จะกลายเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาด” Suh Hyun-jung นักวิเคราะห์จาก Hana Securities กล่าว
พร้อมกับเตือนว่า หากความนิยมในการซื้อสินค้าจีนราคาประหยัดโดยตรงผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีนยังคงดำเนินต่อไป และก้าวไปสู่สินค้าจำเป็นและสินค้าโภคภัณฑ์ ก็อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อภาคการจัดจำหน่ายภายในประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์กลางอยู่ที่แพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์ Coupang และ Naver ของเกาหลี และเมื่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซของจีนเอาชนะปัญหาความน่าเชื่อถือไปได้ ตลาดค้าปลีกของเกาหลีใต้จะยิ่งได้รับผลกระทบมากขึ้นไปอีก
(1 วอน = 0.027 บาท)