หวั่นราคาเบียร์ทั่วโลกพุ่ง ซีอีโอ Asahi เตือน ‘โลกร้อน’ ทำให้เกิดวิกฤต ขาดวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเบียร์
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอาจทำให้เกิดวิกฤตขาดแคลนเบียร์ทั่วโลก เนื่องจากอุณหภูมิที่อุ่นขึ้นกำลังส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวบาร์เลย์และฮอปส์ (Hops) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเบียร์ อัตสึชิ คัตสึกิ ซีอีโอของบริษัทผลิตเบียร์อาซาฮีของญี่ปุ่น เตือน
ในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Financial Times ที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ (22 ก.ย.) คัตสึกิ อ้างถึงการวิเคราะห์ของบริษัท ซึ่งชี้ว่าอุณหภูมิที่อุ่นขึ้นจะส่งผลให้ผลผลิตข้าวบาร์เลย์ในประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ลดลงอย่างมาก และสร้างความเสียหายต่อคุณภาพของฮ็อปส์ในอีก 30 ปีข้างหน้า
คัตสึกิ ระบุว่า การเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวบาร์เลย์ในฤดูใบไม้ผลิของฝรั่งเศสอาจลดลง 18% ภายในปี 2050 ในขณะที่การเก็บเกี่ยวของโปแลนด์อาจลดลง 15% หากโลกอุ่นขึ้น 4 องศาเซลเซียส ตามการคาดการณ์ถึงกรณีเลวร้ายที่สุดโดยสหประชาชาติ
คุณภาพผลผลิตฮอปส์ซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญในการปรุงแต่งและการเก็บรักษาเบียร์ของสาธารณรัฐเช็ก ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตฮอปส์รายใหญ่ที่สุดของโลกจะลดลง 25% ซึ่งคัตสึกิ อ้างว่าสิ่งนี้จะนำไปสู่การขาดแคลนเบียร์ทั่วโลก
ในกรณีที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส การเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวบาร์เลย์ในฝรั่งเศสและโปแลนด์คาดว่าจะลดลง 10% และ 9% ตามลำดับ ขณะที่คุณภาพฮอปส์ของสาธารณรัฐเช็กคาดว่าจะลดลง 13%
“แม้ว่าสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นอาจกระตุ้นการบริโภคเบียร์และกลายเป็นโอกาสทองสำหรับเรา แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบร้ายแรง… มีความเสี่ยงว่าเราอาจไม่สามารถผลิตเบียร์ได้เพียงพอกับความต้องการ” คัตสึกิ กล่าว
คัตสึกิ ยังกล่าวด้วยว่า ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อราคาข้าวบาร์เลย์มากกว่าความขัดแย้งในยูเครนเสียอีก
ความผันผวนของสภาพอากาศได้ส่งผลกระทบต่อการเก็บเกี่ยวข้าวบาร์เลย์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคามอลต์ของยุโรปและข้าวบาร์เลย์มอลต์พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีที่แล้ว ทั้งนี้ แม้ว่าราคาข้าวบาร์เลย์จะเริ่มทรงตัวแล้ว แต่ต้นทุนข้าวบาร์เลย์ในปีนี้ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยในปีก่อนๆ ราว 106 ดอลลาร์ (3,854 บาท) ต่อตัน
(1 ดอลลาร์ = 36.36 บาท)