
จีนออกกฎควบคุมระบบจดจำใบหน้า เหตุห่วงบริษัทต่างๆ ใช้เทคโนโลยีมากเกินไป จนลามไปถึงพื้นที่ส่วนบุคคลของประชาชน
หน่วยงานกำกับดูแลไซเบอร์สเปซของจีน หรือ CAC ประกาศในวันนี้ (8 ส.ค.) ว่าได้ออกร่างกฎเพื่อกำกับดูแลและบริหารจัดการด้านความปลอดภัยของการใช้เทคโนโลยีการจดจำใบหน้าในประเทศ หลังมีความกังวลเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีมากเกินไป
CAC ระบุในแถลงการณ์ว่า เทคโนโลยีการจดจำใบหน้าสามารถใช้เพื่อประมวลผลข้อมูลใบหน้าได้ก็ต่อเมื่อมีวัตถุประสงค์เฉพาะและมีความจำเป็นเพียงพอ มีมาตรการป้องกันที่เข้มงวด และจะต้องได้รับความยินยอมจากแต่ละบุคคล พร้อมเสริมว่าควรใช้โซลูชันการระบุตัวตนที่ไม่ใช่ไบโอเมตริก (non-biometric identification) แทนการใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าในกรณีที่วิธีการดังกล่าวมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกัน
การระบุตัวตนด้วยไบโอเมตริก (Biometric identification) โดยเฉพาะการจดจำใบหน้าเริ่มแพร่หลายในประเทศจีน ในปี 2020 โดยสื่อท้องถิ่นรายงานว่ามีการใช้การจดจำใบหน้าเพื่อเปิดใช้งานเครื่องจ่ายกระดาษชำระในห้องน้ำสาธารณะ ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลทั้งต่อสาธารณะและกฎระเบียบในขณะนั้น
หนังสือพิมพ์ South China Morning Post รายงานว่า ศาลและรัฐบาลท้องถิ่นของจีนหลายแห่งได้ตัดสินและสั่งปรับบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีการจดจำใบหน้ามากเกินไป
ทั้งนี้ ร่างกฎของ CAC ระบุว่าไม่ควรติดตั้งอุปกรณ์จับภาพและอุปกรณ์ระบุตัวตนในห้องพักของโรงแรม ห้องน้ำสาธารณะ ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ห้องสุขา และสถานที่อื่นๆ ที่อาจละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น โดยอุปกรณ์จับภาพควรติดตั้งในที่สาธารณะเพื่อความปลอดภัยสาธารณะเท่านั้น และมีป้ายเตือนอย่างชัดเจน
ร่างกฎดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความพยายามของจีนในการยกระดับความเข้มงวดในการควบคุมข้อมูลโดยการออกกฎและกฎหมายมากมาย สิ่งที่น่าสังเกตมากที่สุดคือ จีนเปิดตัวกฎหมายฉบับแรกที่เน้นเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ นั่นคือกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในปี 2564 เพื่อยับยั้งการใช้ข้อมูลผู้ใช้มากเกินไปของบริษัทต่างๆ