Newsทศวรรษ 2530 ที่เริ่มต้นด้วยความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ แต่กลับถูกเติมเต็มด้วยฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์และการใช้จ่ายไม่ระมัดระวัง จนนำไปสู่วิกฤตต้มยำกุ้ง 2540

ทศวรรษ 2530 ที่เริ่มต้นด้วยความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ แต่กลับถูกเติมเต็มด้วยฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์และการใช้จ่ายไม่ระมัดระวัง จนนำไปสู่วิกฤตต้มยำกุ้ง 2540

เมื่อนึกถึงยุคทองทางเศรษฐกิจในประเทศไทยที่เป็นภาพจำของคนไทยหลายคนก็มักจะนึกถึงยุคทศวรรษ 2530 ซึ่งเป็นยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่จากอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้าเป็นอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกและการไหลเวียนของเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้ามาอย่างมหาศาล

 

และดูเหมือนว่าในช่วงขณะนั้น เศรษฐกิจของไทยนอกจากว่าจะเติบโตอย่างรวดเร็วในระยะหลายปีแล้วก็ยังรวมถึงการกระจายความเจริญครั้งใหญ่สู่ต่างจังหวัด อย่างพื้นที่ภาคตะวันออกจากภาคอุตสาหกรรมรวมทั้งภูมิภาคอื่น ๆ ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว จนถูกเรียกว่า เสือเศรษฐกิจเอเชีย

 

แต่ปรากฏว่า หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 เกิดขึ้น ความมั่งคั่งและความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจที่เติบโตรวดเร็วก็ได้พังทลายลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ปรากฏการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างร้อนแรงที่เคยเกิดขึ้นในช่วงยุคทศวรรษ 2530 ก็ได้หายไปและไม่ได้กลับมาอีก จนทำให้หลายคนอาจคิดถึงความเจริญเดิม ๆ ที่เคยได้ประสบพบเจอในอดีตและมีความรู้สึกว่าหอมหวานไปแทบทุกเรื่อง จนลืมไปว่าความเจริญเหล่านี้คือการประกอบกันของฟองสบู่ทางเศรษฐกิจที่ไม่มีพื้นฐานอยู่จริงเป็นส่วนใหญ่

 

แน่นอนว่า ความเจริญเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นฟองสบู่ทั้งหมด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเจริญในช่วงขึ้นทศวรรษ 2530 และช่วงหลังกลางทศวรรษ 2530 แทบจะเรียกว่าอยู่คนละฐานเลยทีเดียว และเป็นเหตุผลสำคัญของวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 อย่างที่รู้จักกันในปัจจุบัน

 

อย่างแรกคือ ความเจริญที่เริ่มไหลเวียนเข้ามาในประเทศในช่วงหลังปลายทศวรรษ 2520 เกิดจากการตกลงพลาซ่า (Plaza Accord) ระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ (อังกฤษ) ฝ่ายหนึ่ง และฝ่ายหนึ่งคือ เยอรมันตะวันตกและญี่ปุ่น ด้วยเหตุที่อเมริกาและอังกฤษไม่สามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจได้เมื่อเทียบกับเยอรมันตะวันตกและญี่ปุ่นที่กำลังเป็นดาวรุ่งทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่ง

 

ผลที่ตามมาคือ จึงมีการตกลงให้ลดค่าเงินอังกฤษและอเมริกาให้อ่อนค่าลง รวมทั้งเพิ่มค่าเงินของเยอรมันตะวันตกและญี่ปุ่นให้แข็งค่าขึ้น เพื่อรักษาสมดุลเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้มีต้นทุนการส่งออกสินค้าที่สูงขึ้นทันทีสำหรับเยอรมันตะวันตกและญี่ปุ่นจากค่าเงินที่แข็งค่าขึ้น จึงทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า ซึ่งในกรณีของญี่ปุ่นได้มีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเชีย

 

เมื่อประกอบกับนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก การค้นพบพลังงานใหม่อย่างก๊าซธรรมชาติ และนโยบายการลดค่าเงินบาท เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ของรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และภาพลักษณ์ความเป็นมิตรระหว่างญี่ปุ่น-ไทย รวมทั้งมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าญี่ปุ่นมาก จึงเป็นจังหวะวิเศษที่เกิดการไหลเวียนของเม็ดเงินจำนวนมากเข้ามาลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมากพร้อมกับประเทศอื่นที่เข้ามาลงทุนในจังหวะทางเศรษฐกิจเดียวกัน

 

ทั้งหมดนี้ได้เป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้การขึ้นทศวรรษ 2530 เป็นการเข้าสู่ยุคสมัยทางเศรษฐกิจที่ดูสดใส มีพลัง และมีอนาคตที่มั่นคง จากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อปีที่เริ่มร้อนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ยุครัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ที่มีนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” พร้อมกับมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศจนทำให้เศรษฐกิจไทยตอนนั้นเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

 

ช่วงเวลาตรงนี้ คือ ช่วงเวลาที่หลาย ๆ คนอาจคิดถึง เพราะเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู เงินไหลเวียนเข้ามาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการเงินที่เริ่มทยอยกลายเป็นจุดรวมศูนย์ทางเศรษฐกิจของไทยแทนที่ภาคการผลิตอย่างช้า ๆ จนเมื่อเข้าสู่ช่วงกลางทศวรรษ 2530 แกนกลางของระบบเศรษฐกิจไทยได้อยู่ที่ภาคการเงินและอสังหาริมทรัพย์อย่างสมบูรณ์  

 

ตรงนี้ก็มีผลดีที่ทำให้บรรยากาศเศรษฐกิจของไทยมีสีสันและเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการไหลเวียนของเงินที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย และหลังจากการเปิดเสรีทางการเงินในช่วงนี้พร้อมกับการประกาศให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยิ่งทำให้เม็ดเงินจากภาคการเงินต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศมากขึ้นจากความเชื่อมั่นในการเติบโตสูง ๆ ของไทยในช่วงขณะนั้น

 

จึงทำให้มีหลายกรณีที่มีการยืมเงินกู้จากต่างประเทศที่มีดอกเบี้ยต่ำและนำไปปล่อยกู้ต่อในประเทศไทยที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่ามาก เพื่อสร้างผลประกอบการกำไรให้แก่ตนเอง ซึ่งภาคเศรษฐกิจที่ได้รับเม็ดเงินเหล่านี้โดยส่วนใหญ่ก็คือ ภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการเงิน ที่เริ่มเต็มไปด้วยการเก็งกำไรทางการเงินอย่างจริงจังในจังหวะทางเศรษฐกิจที่ดูเหมือนกำลังทะยานอยู่ไม่หยุด

 

ยังไม่นับปัจจัยภายใน ที่บทบาทของฝ่ายหน่วยงานภาครัฐเริ่มมีอิทธิพลน้อยลงเรื่อย ๆ สวนทางกับฝ่ายการเมืองที่มีอำนาจแทบเด็ดขาด โดยเฉพาะการเข้าไปครอบงำธนาคารแห่งประเทศไทยให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจฝ่ายการเมืองและมีการออกนโยบายที่ตามใจฝ่ายการเมืองอยู่พอสมควรในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังขับเคลื่อนอย่างไม่มีการควบคุมอย่างถูกวิธี

 

รวมทั้งเกิดกระแสบริโภคนิยมครั้งใหญ่ในประเทศจากที่เศรษฐกิจไทยเติบโตทั้งจากพื้นฐานจริงและฟองสบู่การเงินที่เกิดจากการไม่กำกับการดูแลและให้ความสำคัญกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แม้ว่าจะมีหลายคนในช่วงนั้นพยายามเตือนถึงภัยอันตรายทางเศรษฐกิจที่กำลังจะมาในอนาคตก็ตาม แต่กลับไม่ได้ใส่ใจและยังคงที่จะเดินหน้าเส้นทางนี้ต่อไป

 

สุดท้าย งานเลี้ยงก็มีวันเลิกรา เมื่อเวลาผ่านไป ระบบเศรษฐกิจไทยในช่วงปลายทศวรรษ 2530 เริ่มส่ออาการไปในทางแง่ลบมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขาดดุลขนานใหญ่ การถูกโจมตีค่าเงินจากระบบค่าเงินที่ไม่ได้ประสานไปกับระบบการเงินที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งความเชื่อมั่นทางการเงินที่เริ่มหายไปในเวทีโลก

 

กล่าวคือ ระบบค่าเงินของไทยในช่วงนั้นยังคงเป็นระบบตะกร้าเงินที่ผูกกับสกุลเงินสำคัญของโลกและมีค่าตายตัว ซึ่งระบบนี้จะทำงานได้ดีเมื่อมีการควบคุมการไหลเวียนเม็ดเงิน แต่เมื่อมีการเปิดเสรีการเงิน ซึ่งโดยปกติแล้ว ควรจะมีการปรับระบบค่าเงินให้เป็นระบบแลกเปลี่ยนลอยตัวภายใต้การควบคุมเพื่อสะท้อนตลาดที่แท้จริง แต่กลับยังคงระบบตะกร้าเงินเดิมด้วยเหตุที่ว่า จะสามารถดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศได้เป็นจำนวนมากโดยไม่ต้องประสบกับความผันผวนของค่าเงินในประเทศมากนัก

 

ความผิดพลาดตรงนี้ประกอบกับการที่เม็ดเงินต่างประเทศถูกใช้กับการเก็งกำไรอย่างสนุกสนานก็เป็นส่วนผสมสำคัญควบคู่กับการโจมตีค่าเงินของบรรดานักการเงินในการยุติยุคสมัยความมั่งคั่งทางการเงินในช่วงทศวรรษ 2530 หลังจากการยื้อได้ระยะหนึ่ง สุดท้ายแล้วก็ต้องประกาศลอยตัวค่าเงินให้สะท้อนความเป็นจริง เพราะเงินทุนสำรองแทบไม่มีเหลือในช่วงขณะนั้น 

 

บทเรียนราคาแพงที่ทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับหายนะทางเศรษฐกิจก็เพราะการไม่ควบคุมกำกับดูแลระบบเศรษฐกิจด้วยความเข้าใจผิด ๆ ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับมหึมาจะยังคงอยู่ต่อไป ทั้งที่เม็ดเงินส่วนใหญ่ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา มาจากการหยิบยืมเงินจากต่างประเทศเพื่อปล่อยกู้อีกทีหนึ่งซึ่งลงไปกับอสังหาริมทรัพย์ และการละทิ้งสิ่งที่เศรษฐกิจไทยเคยทำอยู่ คือ การเน้นพื้นฐานให้แน่นผ่านการให้ความสำคัญกับภาคเศรษฐกิจจริง จำพวกการผลิต การเกษตร การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ

 

ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ควบคู่กับการไม่เข้าไปครอบงำหน่วยงานภาครัฐมั่ว ๆ เพื่อประโยชน์ชั่ววูบ คือ ปัจจัยสำคัญในการทำให้ประเทศไทยเริ่มต้นทศวรรษ 2530 ได้อย่างสวยงาม แต่กลับจบทศวรรษด้วยความเจ็บปวดจากความมั่งคั่งที่หมดไปอย่างรวดเร็วจากวิกฤตการเงิน 2540 หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ทำให้หน่วยงานภาครัฐหลายแห่งกลับมามีบทบาทอีกครั้ง โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทยที่ได้ความเป็นอิสระกลับคืนมา

 

ไม่เพียงเท่านั้น นโยบายเศรษฐกิจของประเทศไทยได้เปลี่ยนไป จากเดิมที่เน้นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปริมาณสูง ๆ ก็ปรับเป็นการเน้นเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการให้ความสำคัญกับพื้นฐานของเศรษฐกิจที่ควรจะเป็น รวมทั้งการให้ความสำคัญกับวินัยการเงินและการใช้จ่ายโดยระมัดระวังโดยมองภาพระยะยาวเป็นหลัก ซึ่งนโยบายเหล่านี้คือสิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงยึดมั่นมาจนถึงปัจจุบันอย่างมั่นคง

 

ดังนั้น ช่วงเวลา 10 ปีของประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของไทย ถือได้ว่าเป็นจุดสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทย ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นของอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก การพัฒนาพื้นที่เมืองและชนบทอย่างจริงจัง การขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ ทว่ากลับมีเรื่องของการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ การตัดสินใจเชิงนโยบายที่ผิดพลาดหลายเรื่อง ทั้งหมดจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องน่าเศร้าในปี พ.ศ.2540 และผลพวงเหล่านี้หลายเรื่องก็ยังส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน สุดท้ายนี้ก็ได้เพียงคาดหวังว่า

 

“เรื่องนี้จะเป็นบทเรียนราคาแพงให้ไม่ต้องพบเจอกันอีก”

 

โดย ชย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า