
เข้าใจกันให้ถูกต้อง โบว์-ณัฏฐา ชี้การเรียนภาษาอังกฤษให้ถูกต้อง ต้องเรียนครบทั้ง ”ศัพท์ ไวยากรณ์ ทักษะ“ แต่ไม่ใช่โทษว่าเรียนไวยากรณ์มากไป
29 พ.ย. 66 โบว์-ณัฏฐา มหัทธนา พิธีกรรายการวิเคราะห์ข่าว และนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเคยมีประสบการณ์เป็นครูสอนวิชาภาษาอังกฤษ โพสต์เฟสบุ๊กกล่าวถึงการศึกษาภาษาอังกฤษของไทย โดยมีข้อความว่า
ที่ภาษาอังกฤษคนไทยลำดับต่ำลงเรื่อยๆไม่ใช่เพราะเรียนไวยากรณ์มากไปอย่างที่พูดตามๆกัน ที่มันดิ่งลงเรื่อยๆเพราะไวยากรณ์ก็ทิ้ง ศัพท์ก็ไม่ให้ท่อง อยากสอนแนวใหม่แบบเน้นทักษะแต่จำนวนชั่วโมงก็ไม่พอ
ถ้าจะสอนแบบคนเรียนภาษาแม่ เน้นฟังเน้นพูด ก็ต้องมีเวลาอยู่กับภาษานั้นมากพอ แทบตลอดเวลา คือเรียนแบบ English as the First Language (EFL) ซึ่งพอระดับสูงขึ้นก็จะเน้นทุกอย่าง
ถ้าไม่สามารถทำแบบนั้นได้ ก็ต้องเรียนในฐานะภาษาต่างประเทศ ซึ่งจะทิ้งศัพท์ทิ้งไวยากรณ์ไม่ได้ เพราะต้องมี pattern ให้ตั้งหลักไว้ต่อยอดเมื่อมีโอกาสฝึกทักษะมากขึ้น คือเรียน English as a Foreign Language (EFL)
ทางที่ดี ยกระดับให้เรียนเป็นภาษาที่สอง จะได้ความเข้มข้นเพิ่ม และมีเวลาฝึกทักษะพอ แม้จะไม่ได้อยู่ในประเทศที่ใช้ภาษานั้นเป็นหลักก็ตาม คือเรียน English as the Second Language (ESL)
คนจัดการศึกษาต้องเข้าใจและเลือกเอาสักอย่างค่ะ แต่ถ้ามีชีวิตแบบไม่มีภาษาอังกฤษแวดล้อมเลย แล้วทิ้งศัพท์ทิ้งไวยากรณ์ หวังพึ่งการพูดการฟังแค่สัปดาห์ละไม่กี่ชั่วโมง เพราะคิดว่าแบบนี้แหละคือการสอนแนวใหม่แล้ว … ผลที่ได้ก็คือ ถูกแซงเรียบ ดิ่งต่อได้อีก
ถ้ายังทำอะไรไม่ได้ ระหว่างนี้ หยุดสร้างความเข้าใจผิดๆกันก่อน เรียนภาษาต่างประเทศต้องให้ความสำคัญครบสามอย่าง ”ศัพท์ ไวยากรณ์ ทักษะ“ อย่าไปตั้งข้อรังเกียจสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถ้าสอนถูกวิธี ไม่มีแย่ลงค่ะ
อันนี้พูดถึงการยกระดับของคนทั้งรุ่นในระบบ ให้เปิดโอกาสไปถึงการใช้งานระดับสูงได้ ไม่ใช่แค่พอสื่อสารได้.