ความแตกต่าง Binnance.com VS Binance.th
สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทางเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2567 ที่มีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธาน
และมีการเปิดเผยถึงรายละเอียดของ มาตรการกำกับดูแล แก้ไขปัญหาการซื้อขาย Crypto แบบ P2P (Peer to Peer) ที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการที่คนร้ายใช้สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นช่องทางโอนเงินออกนอกประเทศ ด้วยการปิดกั้นเว็บไซต์/แอปพลิเคชัน Platform ให้บริการ Crypto ที่ผิดกฎหมาย และกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตอย่างเข้มข้น
ข่าวดังกล่าวทำให้สื่อบางสำนักเขียนพาดหัวข่าวว่าจะมีการปิดกั้นเว็บไซต์ “Binance.com” ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้เกิดความสับสนในสังคม เนื่องจากเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF) ได้ทำการเปิดตัวเว็บไซต์ “Binance.th” ซึ่งมีทั้งบทบาท และการจัดหน้าแทบจะไม่แตกต่างอะไรกับ Binance.com เลย
Binance.com คืออะไร ?
เว็บไซต์ Binance.com เป็นแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโตเคอเรนซี่ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในนามบริษัท ไบแนนซ์ โฮลดิ้ง จำกัด เริ่มต้นธุรกิจในประเทศจีนเมื่อปี 2560 แต่ต้องย้ายออกจากประเทศจีนในปลายปีเนื่องจากรัฐบาลจีนไม่อนุญาตให้มีการค้าขายสินทรัพย์ดิจิทัล
และในเดือนมกราคม 2566 มีการเปิดเผยว่าอาจจะมีการฟอกเงินผ่านไบแนนซ์ และถูกโจมตีโดยสมาชิกรัฐสภาสหรัฐว่ามีการโอนสินทรัพย์เพื่อการสนับสนุนกลุ่มฮามาส เพื่อการต่อต้านอิสราเอล ทำให้ในเดือนพฤศจิกายน 25666 บริษัทยินยอมจ่ายค่าปรับ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,841.50 ล้านบาท) ซึ่งนี่ทำให้ในหลายประเทศประกาศแบนไบแนนซ์ตามไปด้วย
Binance.th คืออะไร ?
Binance.th เป็นแพลตฟอร์มของไบแนนซ์ โฮลดิ้ง โดยนิติบุคคลไทย ที่จดทะเบียนพาณิชย์อย่างถูกต้องตามกฎหมายไทยในนามบริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2565 โดยมีบริษัทในเครือ Gulf ถือหุ้น 90.1% หรือ 171.19 ล้านบาท ร่วมกับกลุ่มไบแนนซ์ ถือหุ้น 9.9% หรือ 18.81 ล้านบาท
ได้รับใบอนุญาตให้มีการค้าขายสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และอยู่ภายใต้อำนาจการบังคับใช้กฎหมายของไทย จึงสามารถตรวจสอบเส้นทางการเงินได้ เนื่องจากมีตัวตนที่ชัดเจนในประเทศไทย อีกทั้งยังทำหน้าที่นำส่งข้อมูลรายได้จากผลกำไรในการค้าสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อการประเมินเป็นรายได้พึงประเมิน ตามประมวลรัษฎากร และตัวแพลตฟอร์มเอง ก็มีหน้าที่เสียภาษีนิติบุคคลอีกด้วย
สำหรับโมเดลการประกอบธุรกิจการค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกลุ่มไบแนนซ์ กับ กลุ่มกัลฟ์ในประเทศไทย อาจจะเป็นโมเดลในการประกอบธุรกิจใหม่ที่กลุ่มไบแนนซ์อาจจะดำเนินการต่อไปในอนาคตก็เป็นได้
เนื่องจากที่ผ่านมาไบแนนซ์ถูกเพ่งเล็งโดยหลายรัฐบาลทั่วโลก ว่าอาจจะเป็นเส้นทางผ่านทางการเงินของกลุ่มมิจฉาชีพ และกลุ่มก่อการร้าย การเข้ามาจดทะเบียนนิติบุคคล ยอมอยู่ภายใต้การกำกับดูแล และการตรวจสอบของรัฐท้องถิ่นนั้น ๆ เพื่อการแสดงเจตจำนงอันบริสุทธิ์ โปร่งใส ไม่ยอมถูกใช้เป็นเครื่องมือของมิจฉาชีพ-ผู้ก่อการร้าย จะทำให้ไบแนนซ์สามารถประกอบกิจการได้อย่างมั่นคง