
ขอให้ศาลพิจารณาใหม่ ลูกบ้านแอสตัน อโศกยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง ชี้ รฟม. สามารถแก้ไขทางเข้าออกใหม่ได้
สืบเนื่องจากกรณีคอนโดมีเนียมหรู แอชตัน อโศก (Ashton Asoke) ซึ่งตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 19 แยก 2 ถูกศาลปกครองสูงสุดสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างนั้น
ล่าสุด วันที่ 19 ต.ค. 66 ลูกบ้านแอชตัน อโศก ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้มีการพิจารณาคดีใหม่ ซึ่ง นางสาวเยาวลักษณ์ สุลีสถิระ ในฐานะทนายความนิติบุคคล และลูกบ้าน คอนโดแอชตัน อโศก กล่าวว่าในกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาปกครอง มีอยู่หลายเหตุที่จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้
โดยอ้างถึง พรบ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง มาตรา75 (2) ซึ่งมีใจความโดยสรุปว่าบุคคลภายนอกคดี ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียกับคดี แต่ไม่ได้รับโอกาสโดยไม่เป็นธรรมในการพิจารณาคดี สามารถขอให้ศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่ได้
นอกจากนี้ ทางลูกบ้านได้มีการติดต่อไปยังการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อหาข้อมูลมาประกอบเพราะมีความเชื่อว่าที่ดินตรงหน้าโครงการแอชตัน อโศก น่าจะใช้เป็นงานโครงสร้างหรืองานระบบซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถานีรถไฟฟ้าสุขุมวิท แต่คำพิพากษามิได้มีการกล่าวถึงการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ใต้ดินในบริเวณนั้น แต่ยังไม่ได้รับข้อมูลจาก รฟม.
“ดังนั้นการยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ในคดีแอชตัน อโศกในวันนี้ จึงเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะใกล้จะหมดเวลาแล้ว จึงต้องยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ไว้ก่อนเพื่อรักษาสิทธิ เพราะถ้ามีการใช้สิทธิประโยชน์ใต้ดินของ รฟม. จริง เท่ากับว่า ได้ใช้ที่ดินตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนแล้วแค่มาให้ทางโครงการแอชตัน อโศก ใช้ทางออกร่วมซึ่งประเด็นนี้ไม่เคยถูกหยิบยกมาใช้ในการพิจารณาคดีแอชตัน อโศก ที่ผ่านมา” นางสาวเยาวลักษณ์กล่าว
นางสาวเยาวลักษณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลโครงการอื่นที่ใช้ทางเข้าออกของ รฟม.เหมือนกันพบว่า ทุกโครงการของ รฟม.จะมีข้อสงวนสิทธิ์ว่า รฟม. สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขทางเข้าออกได้ และจากการตรวจสอบทุกโครงการจากข้อมูลที่หาได้นั้น มีตัวอย่าง 2-3 โครงการ ที่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขทางเข้าออกได้
ทางลูกบ้านต้องการจะนำเสนอให้ศาลเห็นว่า ถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงทางเข้าออกของ รฟม. มันไม่น่าจะเป็นเอื้อประโยชน์ให้เฉพาะอนันดาเท่านั้นแต่เป็นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รอบโครงการสถานีรถไฟฟ้ามากกว่า ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วในหลายโครงการก่อน
และการที่ รฟม.ออกใบอนุญาตในลักษณะนี้ให้ทุกคนแสดงให้เห็นว่าเขาไม่ได้มีเจตนาที่จะเปลี่ยนแปลงจะไม่ให้ทางเข้าออก ถือว่าเป็นหลักฐานใหม่! ซึ่งในคดีเดิมไม่ได้มีการนำเสนอเอาไว้ว่า มีอีกหลายโครงการที่มีการอนุญาตในลักษณะเงื่อนไขเดียวกัน